ถกปัญหากระเบนราหูตาย หวั่นรัฐไม่รีบแก้สูญพันธุ์แน่ แนะตั้งศูนย์เพาะพันธุ์แห่งแรกโลก (11 ต.ค. 59)

มติชนออนไลน์ 11 ตุลาคม 2559
ถกปัญหากระเบนราหูตาย หวั่นรัฐไม่รีบแก้สูญพันธุ์แน่ แนะตั้งศูนย์เพาะพันธุ์แห่งแรกโลก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2559 เวลา 14.00 น. ดร.วิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เดินทางมาตรวจเยี่ยมปลากระเบนราหู 2 ตัวที่พักฟื้นภายในศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชาวฝั่งสมุทรสงคราม โดยมี รศ.สพญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ และอาจารย์ประจำคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้แจงอาการปลากระเบนราหูทั้ง 2 ตัว ซึ่งเป็นเพศเมียอาการแข็งแรงปลอดภัยดี แต่หากจะปล่อยลงแม่น้ำแม่กลองตอนนี้ ปลากระเบนราหูก็คงตาย จึงต้องพักฟื้นในศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสมุทรสงครามต่อไป

ต่อมาที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม ดร.วิจารย์ พร้อมนายคันฉัตร ตันเสถียร ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม นายรังสรรค์ ตันเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาสัตว์น้ำโดยเฉพาะปลากระเบนราหูในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามตายเป็นจำนวนมาก โดยมีภาคประชาชนที่ห่วงใยปัญหาปลากระเบนราหูตาย และได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำเสีย เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก

โดยภาคประชาชนแสดงความเป็นห่วงถึงปัญหาน้ำเสีย น้ำเสียชาวฝั่งทะเลอ่าวไทยรูปตัว ก.ไก่ มีทุกปี สัตว์น้ำตายหมด และในช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคมจะมีสัตว์น้ำเกิดขึ้นใหม่ แต่ในปีนี้เกิดสิ่งผิดปกติน่าตกใจและสงสัยว่าทำไมปีนี้ปลากระเบนราหูจึงตายจำนวนมาก และทำไมส่วนที่รอดจึงหนีจากแม่น้ำออกไปสู่ทะเลจำนวนมากเพราะอะไร และปัญหาน้ำเสียมาจากไหน และเสนอควรมีกระบวนการที่สร้างการบูรณาการร่วมกันทั้งภาครัฐเอกชน และนักวิชาการ และแม้จะสืบกลับไปถึงต้นตอปัญหาไม่ได้ ก็ขอให้รวบรวมความเสียหายของผู้ประกอบการเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือเยียวยาต่อไป

นายมงคล สุขเจริญคณา ในฐานะประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า ในปี พ.ศ.2555 มีการปล่อยน้ำจืดลงมามากทำให้เกิดแพลงตอนบูม จำนวนมาก ทำให้ปลาในกระชังตายหมด แต่ปลากระเบนราหูไม่ตายแต่ว่ายขึ้นเหนือน้ำขึ้น ไปถึง จ.ราชบุรี นอกจากนี้หอยหลอดกับไม่ตาย แต่ปัญหาคราวนี้ปลากระชังตายไม่หมด แต่ปลากระเบนราหูกลับตาย และหอยหลอด เป็นจำนวนมาก ปลากระเบนราหูที่รอดก็ว่ายหนีออกไปนอกทะเล ที่ผ่านมาหอการค้าจังหวัดสมุทรสงครามติดตามปัญหาเสียมาโดยตลอด โดยเฉพาะบริเวณคลองสุนัขหอน ซึ่งติดต่อกับจังหวัดสมุทรสาคร แต่ยังไม่เกิดปัญหา จึงยืนยันว่าเกิดจากการแอบปล่อยน้ำเสียผสมมากับน้ำหลากลงมาจากต้นแม่น้ำแม่กลอง ไม่ได้เกิดจากแพลงตอนบูมมาจากทะเลแน่นอน ดังนั้นการแก้ปัญหาดังกล่าวควรเสนอรัฐมนตรีขอให้ปล่อยน้ำดีลงมาใส่น้ำเสียให้หมด เพราะหากปล่อยไว้จะทำให้ปลากระเบนราหูสูญพันธุ์แน่นอน และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับนโยบายลงมาแก้ปัญหา รวมทั้งขอให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดด้วย ขอให้การแก้ไขปัญหาน้ำเสียเป็นวาระแห่งชาติ ขอให้ออกกฎหมายพิเศษสั่งให้ปิดโรงงานทันทีหากปล่อยน้ำเสีย และทำผิดซื้อขอให้เพิ่มโทษอย่างเด็ดขาด

ด้าน รศ.สพญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ และอาจารย์ประจำคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า การแก้พิษในน้ำควรนำสาหร่าย หรือหอยบางชนิด ที่ดูดซับพิษให้เข้ามาช่วยในการทำความสะอาดน้ำให้มีความสะอาดจะเร็วที่สุด และขอให้ตั้งศูนย์เพาะพันธุ์ปลากระเบนราหูแห่งแรกของโลก ซึ่งหลายประเทศพร้อมจะเข้ามาให้ความร่วมมือแลกเปลี่ยน รวมทั้งขอให้มีคณะกรรมการร่วม 5 จังหวัด เพื่อแก้ไขในภาพรวมอย่างเร่งด่วน และมีอุปกรณ์ตรวจพร้อม เพื่อให้ได้ผลที่รวดเร็ว จะได้ไม่ต้องอ้างรอผลห้องปฏิบัติการ ซึ่งหากล่าช้าจะทำให้ปลาตายหมด ทั้งนี้เพื่อเตือนภัยเบื้องต้นก่อน และสามารถจะใช้เป็นโมเดลในทุกลุ่มน้ำได้

นายคันฉัตร ตันเสถียร ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงครามกล่าวว่าเรื่องที่ประชาชนเสนอมาตนได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการโดยเร็ว ส่วนในเรื่องการตั้งคณะกรรมการร่วม 5 จังหวัด ต้องฝาก ดร.วิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ในฐานะปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคนใหม่ดำเนินการ

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่าธรรมชาติของน้ำคือไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ ดังนั้นปลายน้ำจะได้รับผลกระทบ จึงต้องฝากกรมทรัพยากรน้ำให้เข้ามาดูแล และจัดประชุมคณะกรรมการลุ่มน้ำให้บ่อยขึ้น เพื่อให้ช่วยกันแก้ปัญหาต่อไป และฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายให้เคร่งครัด อย่างไรก็ตามขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเก็บตัวอย่างดิน และน้ำ ซึ่งต้องรอผลภายในวันศุกร์นี้ และจะเข้าไปเก็บตัวอย่างน้ำในโรงงานมาตรวจสอบ และต้องตรวจตะกอนที่อยู่ใต้ท้องน้ำด้วย อย่างไรก็ตามก็ต้องอาศัยเครือข่ายภาคประชาชนเฝ้าระวัง เพื่อให้เข้าไปควบคุมดูแลได้ทัน