ปลากระเบนตายแล้ว 45 ตัว สัตว์น้ำอื่นทยอยตายเพิ่ม (11 ต.ค. 59)

PPTV 11 ตุลาคม 2559
ปลากระเบนตายแล้ว 45 ตัว สัตว์น้ำอื่นทยอยตายเพิ่ม

 

เรียกได้ว่าเป็นโศกนาฏกรรม ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กระเบนราหูน้ำจืด ที่ยังคงพบตายอย่างต่อเนื่อง โดยยอดล่าสุดวันนี้อยู่ที่ 45 ตัวแล้ว ขณะที่นักวิชาการระบุ ที่พบซากลอยขึ้นมาอาจเป็นเพียง 1 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมดที่ตายในครั้งนี้

ที่ประชุมแก้ปัญหากระเบนราหูตาย ในแม่น้ำแม่กลองวันนี้ สรุปตัวเลขซากกระเบนราหูที่พบ ขณะนี้อยู่ที่ 45 ตัว ในพื้นที่ ดอนหอยหลอด ตำบลบางจะเกร็ง อำเภอเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม ตำบลคลองโคน อำเภออัมพวาและอำเภอบางคนที

โดยคาดว่า จำนวนซากกระเบนที่พบอาจเป็นเพียง 1 ใน 3 ของกระเบนทั้งหมดที่ตายไป สัตว์แพทย์ระบุว่า อาจมีซากกระเบนส่วนหนึ่งที่จมอยู่ใต้น้ำ เพราะกระเบนเป็นสัตว์ผิวดิน

นอกจากปลากระเบนราหู และปลากระชังที่ทยอยตายต่อเนื่อง ขณะนี้ยังพบหอยหลอดที่ดอนหอยหลอด ขึ้นมาตายจำนวนมาก เบื้องต้นศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสมุทรสงคราม ลงพื้นที่ตรวจสอบ พบค่าออกซิเจนในน้ำต่ำกว่ามาตรฐาน และมีปริมาณแพลงตอนในน้ำสูงมาก คาดว่าสาเหตุมาจากแม่น้ำแม่กลองไหลลงมาปริมาณมาก ทำให้หอยหลอดปรับตัวไม่ทัน และทยอยตายต่อเนื่อง

ค่อนข้างชัดเจนแล้วสาเหตุที่ทำให้ปลากระเบนราหู และสัตว์น้ำในลุ่มน้ำแม่กลองตาย มาจากสารพิษ แต่สารพิษดังกล่าว มีที่มาจากไหนเป็นสิ่งต้องหาคำตอบและนำไปสู่การแก้ไข ล่าสุดที่ประชุมแก้ปัญหาปลากระเบนราหูตาย ได้เปิดเผยข้อมูลคุณภาพน้ำ และความเป็นไปได้ของที่มาสารพิษ

ค่าออกซิเจนละลายในน้ำ หรือค่า DO เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่าน หลังเริ่มพบซากกระเบนราหูลอยตายในช่วงแรก ไล่มาตั้งแต่ในจังหวัดราชบุรี ที่อำเภอบ้านโป่ง ค่า DO อยู่ที่ 3.35 มิลลิกรัมต่อลิตร ที่เทศบาลตำบลเบิกไพร 3.45 มิมิลลิกรัมต่อลิตร อำเภอบางคนที 2.11มิลลิกรัมต่อลิตร อำเภออัมพวา 2.10 มิลลิกรัมต่อลิตร และที่อำเภอบางจะเกร็ง ค่า DO อยู่ที่ 2.64 มิลลิกรัมต่อลิตรจะเห็นว่า ค่าออกซิเจนละลายในน้ำ ต่ำกว่าเกณฑ์ทั้งหมด คือต่ำกว่า 4 มิลลิกรัมต่อลิตร โดยเฉพาะจุดที่พบซากปลากระเบนราหู บริเวณอำเภอบางคนทีและอัมพวา มีค่า DO ต่ำกว่าบริเวณอื่นๆ

เปรียบกับค่าออกซิเจนละลายในน้ำ วันที่ 10 ตุลาคม 2559 เจ้าหน้าที่ไปเก็บตัวอย่างน้ำซ้ำอีก ครั้งนี้ไปเก็บในแถบที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรม จะพบว่า ตั้งแต่ต้นน้ำบริเวณ เหนือโรงงานน้ำตาลราชบุรี ใต้โรงงานน้ำตาลราชบุรี  ค่า DO เกิน 4 มิลลิกรัมต่อลิตร แต่บริเวณท้ายน้ำ บริเวณปากแม่น้ำแม่กลอง ก่อนออกสู่อ่าวไทย ที่วัดเพชรสมุทร อำเภอบางคนที ค่าDO ต่ำลงกว่าวันที่ 7 ตุลาคม คืออยู่ที่ 1.8 มิลลิกรัมต่อลิตร แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า มวลน้ำที่มีคุณภาพต่ำมาไหลลงมากระจุกตัวอยู่บริเวณปากอ่าว

นายวิจารณ์ สิมาฉายา อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษหรือปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเพิ่งได้รับการแต่งตั้งสดๆ ร้อนๆ ในวันนี้ ระบุว่า ค่า DO ที่ตรวจพบในเบื้องต้นยืนยันได้ว่า น้ำในแม่น้ำแม่กลองปนเปื้อนสารบางอย่างจริง แต่จะเป็นสารใดนั้น ต้องรอผลตรวจอย่างละเอียดอีกครั้ง

ส่วนการหาที่มาของสารปนเปื้อนในแม่น้ำแม่กลอง ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ขณะนี้ต้องโฟกัสไปที่โรงงานที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลองเป็นหลัก

 

จากแผนที่จะเห็นว่า โรงงานที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลองส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัด ราชบุรี โดยข้อมูลนี้เป็นข้อมูลจากรมควบคุมมลพิษที่เปิดเผยในที่ประชุมวันนี้ จะเห็นว่า มีอยู่ ประมาณ 9 โรงงาน และแม้ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะบอกว่า การหาที่มาของสารพิษต้องโฟกัสไปที่โรงงานริมน้ำแม่กลอง แต่ก็ไม่สามารถระบุได้ชัดว่า สารปนเปื้อนถูกปล่อยมาจากโรงงานใด

ขณะที่ วันนี้ เครือข่ายพิทักษ์สิ่งแวดล้อมและต่อต้านคอร์รัปชั่น อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ล่องเรือสำรวจสภาพน้ำในแม่น้ำแม่กลองตอนกลาง พบริมตลิ่งบริเวณหมู่ที่ 3 ตำบลท่าผา มีท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ของโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง มีน้ำสีดำผุดขึ้นมาตลอดเวลา เบื้องต้นได้เก็บตัวอย่างน้ำไปส่งตรวจ พร้อมประสานไปอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรีเข้ามาสำรวจและตรวจสอบสารปนเปื้อนใน น้ำแล้ว

นอกจากปลากระเบนราหูที่ได้รับสารพิษ สัตว์น้ำชนิดอื่นในแม่น้ำแม่กลองขณะนี้ก็น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะปลากระชังที่เกษตรกรเลี้ยงไว้ วานนี้ ทีมสัตวแพทย์ได้ผ่าซากปลากระชังพิสูจน์ พบมีสารพิษสะสมในตับเป็นจำนวนมาก

เรียกได้ว่าเริ่มส่งผลกระทบในวงกว้าง จากปลากระเบนราหูน้ำจืดที่ทยอยตายต่อเนื่อง มาสู่ปลากระชังที่เกษตรกรเลี้ยงไว้ในแม่น้ำแม่กลอง ที่เริ่มทยอยตายแล้วเช่นกัน

รองศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิงนันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ ลงพื้นที่ผ่าพิสูจน์ซากปลากระชัง ที่ส่วนใหญ่เป็นปลากระพงขาว พบว่า ทุกตัวมีสารพิษสะสมอยู่ที่ตับ ซึ่งเป็นสิ่งบ่งชี้ได้อย่างดีว่า น้ำในแม่น้ำแม่กลองมีสารพิษปนเปื้อน แต่จะเป็นสารประเภทใดนั้น ต้องรอผลตรวจเนื้อเยื่อปลาในอีก 1 สัปดาห์

จุดที่สัตวแพทย์พบว่ามีการสะสมของสารพิษมากที่สุดคือบริเวณ ตับ โดยตับของปลามีหน้าที่คล้ายตับของมนุษย์ คือ เป็นส่วนหนึ่งของระบบย่อยอาหาร ผลิตน้ำย่อยส่งไปยังลำไส้เล็ก สะสมน้ำตาลและไขมัน เมื่อน้ำที่อาศัยอยู่ปนเปื้อน สารพิษจะถูกนำไปสะสมไว้ที่ตับ และส่งผลเสียต่ออวัยวะภายใน

ซึ่งปลากระพงขาว ที่ถูกเลี้ยงในแม่น้ำแม่กลองถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ถูกส่งขายปีละหลาย พันตัน การสะสมสารพิษในตัวปลา จึงน่าเป็นห่วง ซึ่งสัตว์แพทย์ระบุว่า มีโอกาสสูงที่สารพิษเหล่านั้นจะตกไปสู่มนุษย์ที่บริโภคปลาซึ่งขณะนี้ยังไม่ มีมาตรการควบคุมเรื่องการจับปลากระชังในแม่น้ำแม่กลองมาขาย