‘ยกฟ้อง’ ท่าเรือบางปะกงเลี่ยง ‘อีไอเอ’ ชาวบ้านสู้ต่อ – อุธรณ์ศาลปกครองสูงสุด (3 ต.ค. 59)
Green News TV 3 ตุลาคม 2559
‘ยกฟ้อง’ ท่าเรือบางปะกงเลี่ยง ‘อีไอเอ’ ชาวบ้านสู้ต่อ – อุธรณ์ศาลปกครองสูงสุด
ศาลปกครองระยอง เมื่อวันที่ 20 ก.ย.2559 มีคำพิพากษา “ยกฟ้อง” ในคดีที่ตัวแทนประชาชนจาก 3 ตำบล ประกอบด้วย ต.สนามจันทร์ ต.บ้านโพธิ์ และ ต.สิบเอ็ดศอก อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา จำนวน 16 ราย ยื่นฟ้องผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 6 (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสนามจันทร์ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ให้เพิกถอนใบอนุญาตท่าเรือขนถ่ายสินค้า และใบอนุญาตก่อสร้างอาคารโกดังสินค้า ของบริษัท อิสเทริ์น ที พี เค แค็ปปิตอล จำกัด (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) บริเวณริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง
ท่าเรือบ้านโพธิ์พลิ้วทำ ‘อีไอเอ’
ประเด็นสำคัญสำหรับการฟ้องในครั้งนี้ คือโครงการดังกล่าวตั้งอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ โดยมีการประกอบกิจการขนส่งสินค้าเกษตรทางน้ำและบนบกเกี่ยวเนื่องเป็นโครงการเดียวกัน แต่กลับ “แยกย่อย” การยื่นขออนุญาตสร้างท่าเทียบเรือเป็น 6 ท่า และ 35 อาคาร อันมีลักษณะเป็นการหลบเลี่ยงกฎหมายที่กำหนดให้ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)
นอกจากนี้ หน่วยงานของรัฐยังทำการอนุญาตโดยขาดกระบวนการมีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็นของชุมชนก่อน ทั้งที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่อาจส่งผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ วิถีชีวิตของชุมชน
สำหรับโครงการท่าเรือบ้านโพธิ์ เป็นโครงการโกดังเก็บสินค้าและท่าเรือขนถ่ายสินค้าทางการเกษตร ตั้งอยู่ที่ ต.สนามจันทร์ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ประกอบด้วยท่าเรือ 6 ท่า ความยาวรวม 457.2 เมตร พื้นที่รวม 5,642 ตารางเมตร และโกดังเก็บสินค้า โรงงาน และอาคารต่างๆ รวม 35 อาคาร เนื้อที่ใช้สอยรวม 366,526 ตารางเมตร หรือราว 229 ไร่
ทั้งนี้ บริษัทได้รับใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร จาก นางสมพร ไทยอ่อน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสนามจันทร์ รอบที่ 1 เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2555 และรอบที่ 2 เมื่อวันที่ 1 ส.ค.2555 ต่อมาจึงได้รับใบอนุญาต 6 ใบ ในการสร้างท่าเรือทั้งหมด 6 ท่า ลงนามโดย นายกริชเพชร ชัยช่วย ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 6 เมื่อวันที่ 9 ส.ค.2555 โดยแบ่งเป็นท่า A, C, D, F ความยาวท่าละ 81 เมตร พื้นที่ 995 ตารางเมตร และท่า B, E ความยาวท่าละ 60 เมตร พื้นที่ 831 ตารางเมตร
อย่างไรก็ตาม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฯ (ทส.) ได้กำหนดให้ท่าเรือที่มีความยาวหน้าท่า ตั้งแต่ 100 เมตร หรือมีพื้นที่ท่าเทียบเรือรวม ตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตร ขึ้นไป ต้องจัดทำ EIA ส่วนท่าเรือที่มีความยาวหน้าท่า ตั้งแต่ 300 เมตร ขึ้นไป หรือที่มีพื้นที่ท่าเทียบเรือรวม ตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตร ขึ้นไป ต้องจัดทำ EHIA ด้วยเช่นกัน
ชาวบ้านลุยฟ้องศาลยกเลิกโครงการ
นับตั้งแต่เวลานั้น ประชาชนลุ่มน้ำบางปะกงที่รวมตัวกันในนาม “กลุ่มสมัชชาแปดริ้วเมืองยั่งยืน” ได้มีความพยายามยื่นหนังสือคัดค้านและขอให้เพิกถอนโครงการ ไปยังผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 6 นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสนามจันทร์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ไปจนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา เนื่องจากเห็นว่าโครงการดังกล่าวมีความไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศซึ่งจะส่งผลกระทบกับชุมชนเป็นวงกว้าง
กระทั่งในวันที่ 29 ต.ค.2556 นายสมบัติ รัตนโยธิน กับพวกรวม 16 คน ซึ่งเป็นประชาชนที่อาศัยในบริเวณใกล้กับที่ตั้งโครงการและอาจจะได้รับผลกระทบ ได้มอบอำนาจให้กับ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ในการยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองระยอง พร้อมขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอน 1.ใบอนุญาตก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำ เพื่อสร้างท่าเทียบเรือ รวม 6 ฉบับ 2.ใบอนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร ท่าจอดเรือรวม 6 ฉบับ 3.ใบอนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร รวม 35 ฉบับ ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณาเมื่อวันที่ 21 มี.ค.2557
ศาล ‘ยกฟ้อง’ – ตุลาการข้างน้อย ‘เห็นแย้ง’
ก่อนจะนำมาซึ่งคำพิพากษา “ยกฟ้อง” ในวันที่ 20 ก.ย.2559
ศาลปกครองวินิจฉัยว่า แม้โครงการจะยื่นคำขอทำสิ่งล่วงล้ำลำน้ำฉบับเดียวกัน แต่เมื่อสภาพของท่าเทียบเรือทั้ง 6 ท่า แยกห่างจากกันไม่ได้ตั้งอยู่ต่อเนื่องกัน ซึ่งข้อความตามประกาศ ทส. มิได้กำหนดข้อความไว้ในลักษณะ “ขนาด…รวมกัน…ขึ้นไป” ดังนั้นการพิจารณาขนาดของโครงการจึงต้องพิจารณาแยกเป็นรายท่า และการประกอบกิจการในแต่ละท่าสามารถดำเนินได้อย่างเป็นอิสระ จึงไม่ต่างกับกรณีที่มีผู้ยื่นคำขอจำนวน 6 ราย
นอกจากนี้ในการขอก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร ทั้ง 6 ฉบับ ไม่มีกรณีที่จะต้องให้บริษัทจัดทำ EIA หรือ EHIA ตามกฎหมาย ส่วนการขอก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร อีก 35 ฉบับ ก็ไม่เข้าข่ายอาคารที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางปะกง ดังนั้นการพิจารณาออกใบอนุญาตจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
อย่างไรก็ตาม คดีนี้ได้มีความเห็นแย้งของ “ตุลาการเสียงข้างน้อย” ในประเด็นการออกใบอนุญาตปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำทั้ง 6 ฉบับ เนื่องจากวินิจฉัยว่าในข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นถึงแผนหรือเค้าโครงรวมทั้งองค์ประกอบที่ใช้ร่วมกันในโครงการ การเว้นระยะห่างของแต่ละท่าเรือย่อมไม่ส่งผลให้จำนวนเรือเข้าเทียบท่าน้อยลง แต่ในทางกลับกันการเว้นระยะของท่าเทียบเรือแต่ละท่า อาจเพิ่มความสะดวกและเพิ่มจำนวนเรือเข้าเทียบท่าได้มากขึ้น
ทั้งนี้ การที่บริษัทแยกเป็นรายท่าเรือย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ของบริษัท มิได้มีผลต่อจำนวนเรือที่มาใช้ตามความยาวของท่าเทียบเรือแต่อย่างใด ประกอบกับระยะห่างของท่าเทียบเรือแต่ละท่ามีไม่มากนัก ดังนั้นเมื่อสามารถให้บริการจำนวนเรือเข้าเทียบท่าได้จำนวนมาก ย่อมต้องมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงเป็นโครงการที่จะต้องจัดทำ EHIA ตามประกาศ ทส. ซึ่งการออกใบอนุญาตปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำแยกออกเป็น 6 ใบ และไม่ต้องจัด EHIA จึงเป็นการใช้ดุลพินิจไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมาย เห็นควรพิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาตทั้ง 6 ใบ
ชาวบ้านสู้ต่อยื่น ‘อุทธรณ์’ ศาลปกครองสูงสุด
ขณะที่ส่วนของผู้ฟ้องคดี ได้ยืนยันที่จะใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุด ภายใน 30 วัน เพื่อให้มีการทบทวนคำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อไป พร้อมกันนี้ยังได้ยื่นคำแถลงเพิ่มในอีก 3 ประเด็น เพื่อขอให้ศาลนำมาพิจารณาพิพากษาในคดีนี้ สืบเนื่องมาจากการดำเนินโครงการบางส่วนของบริษัทในปัจจุบัน
ได้แก่ 1.การก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเพื่อสร้างท่าเทียบของบริษัทในปัจจุบัน ที่มีความยาวรวม 359 เมตร และพื้นที่รวม 7,539 ตารางเมตร เข้าหลักเกณฑ์ในบังคับที่ต้องจัดทำ EIA หรือ EHIA หรือไม่ 2.การก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตของบริษัท ได้ปิดกั้นลำรางสาธารณะ และ 3.บริษัทเริ่มประกอบกิจการโดยใช้เขื่อนคอนกรีตร่วมกับท่าเทียบเรือขนถ่ายสินค้า ทำให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมทั้งทางน้ำและทางบก
สำหรับ 3 ประเด็นดังกล่าว ศาลได้วินิจฉัยว่า เป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 หรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ละเลยต่อหน้าที่ในการควบคุมดูแลการดำเนินโครงการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ซึ่งเป็นคนละข้อพิพาทกับคำฟ้องในคดีนี้ และเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่เคยยกขึ้นกล่าวอ้างมาก่อน ศาลจึงไม่อาจนำมาประกอบการพิจารณาพิพากษาได้ อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ตัดสิทธิที่ผู้ฟ้องคดีจะยื่นฟ้องประเด็นดังกล่าวเป็นคดีใหม่ ภายในระยะเวลาการฟ้องคดีตามที่กฎหมายกำหนด