สมัชชาแม่น้ำ เล็งยื่นศาล ปค.เรียกร้องรัฐ "ยุติโครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา" (9 ต.ค. 59)
สำนักข่าวอิศรา 9 ตุลาคม 2559
สมัชชาแม่น้ำ เล็งยื่นศาล ปค.เรียกร้องรัฐ "ยุติโครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา"
ตัวแทนสมัชชาแม่น้ำเรียกร้อง ขอรัฐเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ร่วมวางแผน ยันไม่ยุติสร้างแลนด์มาร์คเจ้าพระยา เรื่องถึงศาลปกครอง ด้านสถาปนิกจี้รัฐตอบคำถามเรื่องการจ้างสถาบันการศึกษาออกแบบซึ่งผิดกม.ก่อน คิดจะเดินหน้าโครงการต่อ
วันที่ 9 ตุลาคม เครือข่ายสมัชชาแม่น้ำ (The River Assembly-RA) จัดกิจกรรม "โอบกอดเจ้าพระยาด้วยความรัก Hug The River" ณ สวนสันติชัยปราการ
นายยศพล บุญสม สถาปนิก ตัวแทนสมัชชาแม่น้ำ กล่าวถึงความเท่าเทียมในการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ โดยรัฐลืมไปว่า การทำโครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยานี้มีเรื่องเกี่ยวกับแม่น้ำหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบทางชลศาสตร์ที่มีผลต่อเนื่องไปยังแม่น้ำอื่น วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป คือมีประเด็นมากกว่าเรื่องของความเท่าเทียมและรัฐบาลยังไม่รับฟังในสาระหลักที่ประชาชนเรียกร้อง
"ตอนนี้สมัชชาแม่น้ำกำลังเรียกร้องให้ทุกคนที่มีส่วนกับแม่น้ำนี้ มีส่วนร่วมในการคิดกับโครงการนี้ตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ใช่ว่า รัฐคิดโครงการเสร็จแล้วค่อยมาเยียวยา หรือลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนในี้พื้นที่"
นายยศพล กล่าวต่อว่า สมัชชาแม่น้ำได้ไปยื่นเรื่องไปตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ทั้งสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรมเจ้าท่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อให้ตรวจสอบโครงการดังกล่าว ซึ่งรัฐบาลควรต้องฟังหน่วยงานเหล่านี้ว่าพบช่องโหว่หรือข้อผิดพลาดอะไรของโครงการนี้ แต่หากรัฐยังดึงดันที่จะทำ เรื่องคงต้องถึงศาลปกครองเพื่อฟังเสียงทุกด้าน และพิจารณาจากข้อมูลต่างๆเพื่อยุติโครงการนี้
"อยากเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนในการพัฒนาตั้งแต่เชิงนโยบาย หากรัฐบาลยังมุ่งจะทำโครงการนี้อยู่ จะเกิดผลกระทบมหาศาลที่ไม่ใช่เกิดกับคนในกรุงเทพเท่านั้น แต่คนในลุ่มน้ำอื่นๆด้วย"
นายดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิก ตั้งคำถามถึงรัฐบาล หากยืนยันที่จะทำโครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยาควรฟังความเห็นของประชาชน เพราะเป็นการนำเงินจากภาษีประชาชนมาใช้ และ ทุกวันนี้ก็ไม่มีประชาชนคนไหนอยากได้โครงการนี้ พร้อมกับยกตัวอย่าง ปัญหาน้ำท่วมที่เห็นอยู่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข
"รัฐบาลบอกจะปักตอม่อเร็วๆนี้ ยังไม่มีใครเห็นแบบว่า หน้าตาเป็นยังไง จึงตั้งคำถามว่าจะเริ่มปักตอม่อได้อย่างไรในเมื่อยังไม่มีการทำประชาพิจารณ์ อยากให้รัฐบาลคิดถึงความถูกต้องตามหลักการไม่ใช่ดื้อดึงจะทำ ตั้งคำถามว่าทำไปเพื่อใคร"
นายดวงฤทธิ์ กล่าวถึงกรณีสถาบันการศึกษามารับงานออกแบบ แล้วไปให้คนอื่นทำต่อ ผิดพ.ร.บ.สถาปนิก ก็ยังไม่มีคนออกมาตอบว่ารับงานได้อย่างไร ทั้งที่ผิดกฎหมาย หากรัฐบาลยืนยันจะเดินหน้าเรื่องนี้ต่อ ก็ควรออกมาตอบคำถามเหล่านี้ก่อน
นายทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการบริหารนิตยสาร a day กล่าวว่า การสร้างโครงการที่จะทำเป็นทางจักรยานนี้มีเสียงคัดค้านจำนวนมาก มีคำถามตามมาว่า ทางจักรยานแห่งนี้จะมีคนใช้จริงหรือไม่ ซึ่งรัฐบาลไม่ควรมองเพียงเพื่อให้นักขี่จักรยานมีที่ขี่เพิ่มเติมอย่างเดียว แต่รัฐบาลควรมองถึงคนที่จะใช้ประโยชน์ในทุกๆ กลุ่ม ทำอย่างไรที่จะพัฒนาแล้วให้คนทุกกลุ่มได้ประโยชน์มากกว่าการปั่นจักรยานและอยากให้ภาครัฐมองให้ครบถ้วนก่อนว่า ใครจะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้บ้าง
"ถ้าคิดกลับกันเอาเงิน 1.4 หมื่นล้านบาท มาพัฒนาระบบขนส่งเรือจะดีกว่าไหม การที่เรามองว่าทางจักรยานของต่างประเทศดูยิ่งใหญ่ดูดี คนใช้เยอะ น่าเอามาทำ แต่สิ่งที่เราเอามาคือเอาแบบเขามาเราไม่ได้กลับไปหาแก่นของเขาว่า ทำไมคนเขาถึงใช้เยอะ ทางจักรยานของต่างประเทศสร้างอยู่ที่นอกเมือง แต่ของไทยกลับจะสร้างในเมืองที่มีที่น้อยอยู่แล้ว"
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงท้ายของงาน สมัชชาแม่น้ำอ่านแถลงการณ์ใจความว่า โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาของรัฐบาลมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้าง "ความเท่าเทียม" กันของทุกคนในสังคมให้สามารถเข้าถึงแม่น้ำได้ เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยมี "ทางเลียบแม่น้ำ"เป็นคำตอบเดียว แม่น้ำเจ้าพระยากำลังเผชิญปัญหา และความท้าทายมากมาย จากการพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อแม่น้ำเจ้าพระยามาโดยตลอด ซึ่งโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยการสร้างทางเลียบแม่น้ำนี้ จะเป็น "ฟางเส้นสุดท้าย" ที่จะทำลายแม่น้ำให้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่มีวันกลับ ทำลาย วิถีชีวิตของชุมชนริมน้ำ และจะเป็นการเพิ่มปัญหาสังคมให้พื้นที่ให้มีมากขึ้นและทำลายทัศนียภาพอันเป็นเอกลักษณ์ ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและระบบการสัญจร และการขนส่งทางน้ำอันเนื่องมาจากแม่น้ำแคบลง ส่งผลกระทบ ด้านชลศาสตร์ในลำน้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เมืองมีความเสี่ยงต่อภัยพิบัติทางน้ำตามมาในอนาคต
สำหรับผลกระทบด้านชลศาสตร์นี้ไม่เพียงแค่กรุงเทพมหานครที่ได้รับผลกระทบ แต่รวมถึงผู้อาศัยอยู่ในกลุ่มน้ำอื่นๆ ทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ ทางเครือข่ายภาคประชาชนในนาม "สมัชชาแม่น้ำ" อันประกอบไปด้วยภาคีเครือข่ายกว่า 70 องค์กร จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาล "ยุติโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา" เพื่อนำไปสู่การร่วมกำหนดวิสัยทัศน์ต่อการฟื้นฟู และพัฒนาแม่น้ำเจ้าพระยาร่วมกัน โดยมีประชาชนเป็น "หุ้นส่วน" ของการพัฒนาที่แท้จริงที่จะนำไปสู่พัฒนาที่ "เป็นรูปธรรมและยั่งยืน" เพื่อที่เราจะได้ส่งต่อแม่น้ำเจ้าพระยา "สายน้ำแห่งชีวิต" นี้ให้กับลูกหลานเราในอนาคตได้อย่างภาคภูมิ