ความจริงที่คนทั่วไปคาดไม่ถึง! / ประสาท มีแต้ม (9 ต.ค. 59)
MGR Online 9 ตุลาคม 2559
ความจริงที่คนทั่วไปคาดไม่ถึง! / ประสาท มีแต้ม
คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
ผมขอเริ่มต้นด้วยเรื่องโลกร้อนซึ่งกำลังเป็นภัยพิบัติที่รุนแรงมากขึ้นก่อนนะครับ แล้วค่อยวกกลับมาอธิบายในแผ่นภาพข้างบนนี้ ซึ่งเป็นหลักวิทยาศาสตร์เบื้องต้นที่สำคัญมากๆ แต่เรามักจะมองข้าม และคาดไม่ถึง ไม่เชื่อก็ลองย้อนไปดูในภาพอีกครั้ง “เผาถ่านหิน 1 ตัน แต่ได้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 2.7ตัน” มันเป็นไปได้อย่างไร และก๊าซตัวนี้ซึ่งมนุษย์ก่อขึ้นมาเองกำลังกลับมาทำลาย และคุกคามมนุษย์อย่างรุนแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์
ปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาที่นักวิทยาศาสตร์ และพันธมิตรได้จัดอันดับให้เป็นปัญหาที่กำลังท้าทายมนุษยชาติครั้งสำคัญที่สุดตั้งแต่ที่มนุษย์เคยเผชิญมาในประวัติศาสตร์อันยาวนาน โดยนักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบสาเหตุสำคัญว่าเกิดจากน้ำมือของมนุษย์นั่นเองคือ การเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลแล้วได้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และได้เริ่มจดบันทึกความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศตั้งแต่ปี 2501 จนถึงปัจจุบัน โดยได้บันทึกให้อยู่ในรูปของกราฟที่เรียกว่า “เส้นโค้งคีนลิง (Keeling Curve) ตามชื่อของนักวิทยาศาสตร์ Charles David Keeling
แม้องค์การสหประชาชาติ ได้พยายามหาความร่วมมือจากผู้นำประเทศต่างๆ เพื่อช่วยกันลดการปล่อยก๊าซดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่เป็นมรรคเป็นผลอะไรเลย นอกจากก๊าซจะไม่ได้ลดลงแล้วแต่กลับเพิ่มขึ้นทุกปี ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกก็ไม่ยอมลงนามในข้อตกลงในพิธีสารเกียวโต ที่เป็นมาตรการลดโลกร้อน
ที่เป็นเช่นนี้ ผมวิเคราะห์ว่า เพราะสาเหตุสำคัญ คือ เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้า (ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีส่วนในการปล่อยก๊าซมากที่สุด) ด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นการผลิตที่มีขนาดใหญ่ ลงทุนสูง ผูกขาด และรวมศูนย์ พร้อมด้วยวาทกรรม ประเทศต้องพัฒนา เศรษฐกิจต้องเติบโต เป็นต้น จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่พลังงานหมุนเวียนจะเข้ามาแทนที่พลังงานฟอสซิลที่แสนจะอันตรายได้
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าด้วยตนเอง แต่ได้ถูกบังคับหรือถูกกำหนดทั้งโดยเรื่องเทคโนโลยี และโดยเรื่องทางนโยบายให้เป็น “ผู้บริโภค” หรือจ่ายเงินเพียงอย่างเดียว
แต่ในการประชุมที่เรียกว่า COP21 ที่กรุงปารีส เมื่อปลายปี 2558 ที่ผ่านมา สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปจากการประชุมทุกครั้งที่ผ่านๆ มา ค่อนข้างมากใน 3 ประการสำคัญคือ
(1) ได้เกิดเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพและมีราคาลดลงอย่างรวดเร็วสามารถแทนที่เทคโนโลยีพลังงานฟอสซิลที่ใช้เครื่องจักรไอน้ำที่ล้าสมัย และอันตรายซึ่งใช้มาตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 เมื่อ 200 กว่าปีมาแล้ว
(2) ได้เกิดการเคลื่อนไหวโดยภาคประชาชนที่เรียกว่า “Keep it in the ground” คือ ให้เก็บพลังงานฟอสซิลสำรองที่ยังไม่ได้ใช้เอาไว้ใต้ดินประเทศมหาอำนาจโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกาก็ดูจะเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้มาก
(3) ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารยุคใหม่ได้ทำให้ภาคประชาสังคมได้เรียนรู้มากขึ้น ทั้งความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และความรุนแรงของสถานการณ์โลกร้อนจนนำไปสู่ภัยพิบัติทางธรรมชาติไปทั่วโลก ประชาชนจึงได้ตระหนักอย่างชัดแจ้งว่าอะไรคือคือมิตรของโลก รวมทั้งการรู้จักปกป้องคุ้มครอง “แม่พระธรณี” ของพวกเขาด้วย
ขณะที่ผมนั่งเขียนบทความนี้ก็ได้ยินข่าวจากโทรทัศน์ว่า พายุเฮอริเคนได้เข้าถล่มประเทศเฮติ ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตพุ่งสูงกว่า 842 คน ผมจึงได้ตัดภาพจากอินเทอร์เน็ตมาลงไว้ในบทความนี้ด้วย
นักวิทยาศาสตร์ได้ข้อสรุปร่วมกันมานานแล้วว่า ปัญหาโลกร้อนจะทำให้โอกาสในการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นพายุ น้ำท่วม ภัยแล้ง รวมทั้งคลื่นความร้อน และแผ่นดินไหวเพิ่มมากขึ้นด้วย
ความจริงแล้ว ผมเองได้มีประสบการณ์ตรงกับเหตุการณ์วาตภัยที่แหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี 2505 ในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตร่วม 500 คน นอกจากผมซึ่งมีอายุเพียง 12 ขวบ จะได้รับรู้ถึงความรุนแรงของลมพายุ ความแรงของกระแสน้ำที่ญาติผู้ใหญ่นำผมบุกหนีไปอยู่บ้านหลังอื่นที่ปลอดภัยกว่า รวมทั้งภาพศพของผู้เสียชีวิตที่ถูกผูกติดกับเสาสะพานริมแม่น้ำปากพนัง ยังอยู่ในความทรงจำ และติดตาผมมาจนถึงวันนี้
ผมค่อนข้างมั่นใจว่า เหตุการณ์วาตภัยเมื่อปี 2505 ไม่น่าจะสัมพันธ์กับปัญหาโลกร้อน แต่เกิดจากระบบภูมิอากาศของโลกธรรมดาๆ เพราะในปีนั้นระดับความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่ากับ 318 พีพีเอ็ม โดยอุณหภูมิเฉลี่ยของผิวโลกเท่ากับ 0.25 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับช่วง ค.ศ.1880-1920 แต่ได้เพิ่มขึ้นเป็น 402 พีพีเอ็ม และ 1.1 องศาเซลเซียส ในปี 2016 (ดังรูป)
นักวิทยาศาสตร์ได้พยากรณ์ว่า “หากอุณหภูมิของผิวน้ำในมหาสมุทรสูงขึ้น 0.5 องศาเซลเซียส จะทำให้โอกาสที่จะเกิดพายุขั้นรุนแรงเพิ่มขึ้นถึง 30%” มันเป็นเรื่องซับซ้อนนะครับ
คราวนี้มาถึงคำอธิบายในแผ่นภาพแรกครับ ซึ่งผมได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “ความจริงที่คนทั่วไปคาดไม่ถึง”
ตอนที่ผมยังเป็นเด็ก พ่อเคยตั้งคำถามว่า “ถ้าขุดดินให้เป็นหลุมขนาดพอสมควร แล้วเอาดินนั้นใส่กลับลงไปในหลุมเดิม ดินจะพอดีจนเต็มหลุม หรือจะพูนขึ้นมา หรือจะขาด” พวกเราพี่น้องก็ตอบกันไปคนละอย่าง แต่ความจริงก็คือ ดินจะขาด เพราะส่วนที่หายไปคือน้ำที่ปนมากับดิน เมื่อสัมผัสอากาศความชื้นก็หายไป ทำให้ปริมาตรของดินลดลง ดินจึงไม่เต็มหลุม นั่นคือ สิ่งที่เด็กๆ ผู้ขาดประสบการณ์คาดไม่ถึง
มาถึงเรื่องการเผาถ่านหิน ซึ่งก็คือการทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมี ถ่านหินจะติดไฟได้ก็ต้องใช้ออกซิเจนในอากาศ ซึ่งสัดส่วนโดยน้ำหนักเพื่อให้เกิดปฏิกิริยาที่สมบูรณ์ ก็ต้องมีความพอดีพอเหมาะกันของน้ำหนัก กล่าวคือ ต้องใช้ธาตุคาร์บอน จำนวน 12 กรัม มาทำปฏิกิริยากับออกซิเจน จำนวน 32 กรัม จึงจะได้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จำนวน 44 กรัม
แต่เนื่องจากในถ่านหินมีสารอื่นปนอยู่ด้วย ทั้งความชื้น ทั้งกำมะถัน ไม่ได้มีคาร์บอนอย่างเดียว ซึ่งถ้าเป็นถ่านหินชนิดซับบีทูมินัส จะมีคาร์บอน 71-77% เมื่อนำค่ากลางมาคิดก็จะได้ว่าจะได้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จำนวน 2.7 ตัน เพราะมารวมกับอากาศที่เรามองไม่เห็น ทำนองเดียวกับเรื่องความชื้นในดินที่ผมได้เล่ามาแล้ว (หมายเหตุ ถ้าเผาลิกไนต์ 1 ตัน จะได้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 2.4 ตัน)
นี่แหละครับ เรื่องของวิทยาศาสตร์ที่คนธรรมดามักจะคิดไม่ถึง
คราวนี้มาถึงเรื่องสำคัญที่เป็นเรื่องเฉพาะของประเทศไทยเราเอง คือ เรื่องที่ท่าน พล อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ไปลงนามในสัตยาบันเพื่อร่วมกับประชาคมโลกในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (ซึ่งประเทศไทยใช้คำรวมๆ ว่าก๊าซเรือนกระจก) จำนวน 20-25% จากเมื่อเทียบกับระดับที่พยากรณ์ไปในอนาคต (ที่ยังไม่ทราบชัดเจนว่าเท่าใดกันแน่) ภายในปี 2030 ภายใต้เงื่อนไขปกติที่เรียกว่า Business as usual
เรื่องนี้มีประเด็นที่จะต้องคิดหลายเรื่อง เช่น (1) ขณะนี้ประเทศไทยได้ปล่อยก๊าซเป็นจำนวนเท่าใด และมีอัตราการเพิ่มเท่าใด (2) ถ้ามีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้น 7,390 เมกะวัตต์ (ภายใต้แผนพีดีพี 2015) แล้วการปล่อยก๊าซจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าใด
สำหรับประเด็นที่ 1 ผมมีข้อมูลมานำเสนอครับโดยสรุปก็คือ เฉพาะการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ซึ่งรวมถึงก๊าซมีเทน จากการเน่าเปื่อยของพืชสัตว์ ก๊าซไนตรัสออกไซด์ จากการใช้ปุ๋ยเคมี และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล) ในปี 2558 เท่ากับ 254.4 ล้านตัน โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 1.9% (ดูรูปประกอบ)
ประเด็นการคิดอัตราการเติบโต ทำให้เกิดข้อถกเถียงได้ว่า ควรจะคิดจากช่วงใด ถ้าคิดตั้งแต่ 2007 ก็จะได้ 3.4% ต่อปี แต่ถ้าคิดจากปี 2012 ก็จะได้ 1.9% ต่อปี ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศชิลี เขาคิดเทียบกับปีที่ได้เกิดขึ้นแล้ว เช่นปี 2005 เป็นต้น จะได้ไม่ต้องเถียงกัน
ในกรณีนี้ ผมเลือกอัตราการเติบโตที่ 1.9% ต่อปี เราสามารถพยากรณ์ด้วยวิธีการง่ายๆว่า ในปี 2030 (ที่ท่านประยุทธ์ ได้ให้สัตยาบันไว้ในเวทีสหประชาชาติ) จะมีการปล่อยถึง 337 ล้านตัน เมื่อต้องการลดลง 20% จึงสามารถปล่อยได้ไม่เกิน 270 ล้านตัน
คราวนี้มาถึงประเด็นที่ 2 ครับ คือ มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้น 7,390 เมกะวัตต์ โดยอาศัย “ความจริงที่คนทั่วไปคิดไม่ถึง” คือเ ผาถ่านหิน 1 ตัน จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 2.7 ล้านตัน
จากข้อมูลของกระทรวงพลังงาน พบว่า ในปี 2015 ประเทศไทยใช้ถ่านหินในภาคการผลิตไฟฟ้าอยู่แล้ว จำนวน 22.6 ล้านตัน ทั้งๆ ที่เรามีโรงไฟฟ้าถ่านหินรวมกันประมาณ 1,800 เมกะวัตต์ (ในจำนวนนี้เป็นของบริษัท บีแอลซีพี จำนวน 1,434 เมกะวัตต์)
คิดง่ายๆ ว่า ถ้ามีโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้น 3 เท่ าคือ 5,400 เมกะวัตต์ (แผนพีดีพีต้องการสร้าง 7,390 เมกะวัตต์) การใช้ถ่านหินก็จะเพิ่มขึ้นอีก 67 ล้านตัน นั่นคือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคการผลิตไฟฟ้าก็จะเพิ่มขึ้นอีก 183 ล้านตัน
นี่ยังไม่นับการใช้ในภาคอุตสาหกรรม (เช่น การผลิตซีเมนต์ และหลอมเหล็ก เป็นต้น) ซึ่งในปี 2558 ก็มีการใช้อยู่ถึงอีก 14.4 ล้านตัน
เมื่อรวมกับที่ปล่อยแล้วในปี 2555 คือ 254 ล้านตัน ก็จะเป็น 437 ล้านตัน มันเกินกว่าที่ท่านนายกฯ ประยุทธ์ ได้ไปลงนามไว้เยอะเลยครับ
ความน่าเชื่อถือ และเกียรติภูมิของประเทศไทยในระดับสากลจะอยู่ตรงไหนครับ
ที่สำคัญกว่านั้น เรายังมีทางเลือกอื่นๆ ในการผลิตไฟฟ้าที่ไม่ต้องใช้ถ่านหิน และเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร และคนไทยทั้งประเทศครับ เทคโนโลยีก็พร้อม และมีราคาถูกมากเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แต่ใหญ่โตมากทั้งในระดับประเทศ และในระดับโลก ดังนั้น การเกิดหรือไม่เกิดของโรงไฟฟ้าถ่านหินอยู่ที่การตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประตูสวรรค์ และประตูนรกอยู่ใกล้กันแค่ก้าวเดียว กรุณาคิดดีๆ นะครับท่าน