น้ำเสียลาม! ผู้ว่าฯสั่งตรวจสอบ’ดอนหอยหลอด’ หลังรับแจ้งหอยหลอดเริ่มตาย (10 ต.ค. 59)
มติชนออนไลน์ 10 ตุลาคม 2559
น้ำเสียลาม! ผู้ว่าฯสั่งตรวจสอบ’ดอนหอยหลอด’ หลังรับแจ้งหอยหลอดเริ่มตาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีปัญหาน้ำเสียจนปลากระเบนตาย เริ่มส่งผลกระทบทำให้หอยหลอดเริ่มตาย ล่าสุดเมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 10 ต.ค. นายคันฉัตร ตันเสถียร ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยนายปิยะ พรหมสถิต ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 8, นายชากรี รอดไฝ ผู้อำนวยการสำนักงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนางสาวทิพย์อาภา ยลธรรม์ธรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยสำนักจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ ที่ห้องทำงานผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อชี้แจงสถานการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นในแม่น้ำแม่กลอง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกไปเก็บตัวอย่างน้ำและตะกอนดินในแม่น้ำแม่กลองในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม รวม 4 จุด คือ บริเวณหน้าวัดเพชรสมุทรวรวิหาร, บริเวณใต้สะพานสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า อำเภอเมือง สมุทรสงคราม, บริเวณใต้สะพานสมเด็จพระศรีสุริเยน อำเภออัมพวา และบริเวณใต้สะพานอัมรินทรามาตร อำเภอบางคนที เนื่องจากแต่ละจุดปลากระเบนซึ่งเป็นสัตว์น้ำหากินบริเวณหน้าดินมักจะอาศัยอยู่ หากนำตะกอนท้องน้ำซึ่งเป็นที่สะสมของสารพิษไปตรวจสอบก็จะทราบว่าปลากระเบนตายเพราะสาเหตุใด ซึ่งจะทราบผลภายใน 10 วัน
ต่อมาเวลา 16.30 น.นายคันฉัตรได้ร่วมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยนายคันฉัตรกล่าวว่า จากปัญหาหอยหลอดตายจำนวนมาก เบื้องต้นสันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากคุณภาพน้ำ เนื่องจากค่า BOD ไม่ถึง 1 มิลลิกรัมต่อลิตร จากค่าปกติต้องอยู่ 4 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งแนวทางการแก้ไขได้แจ้งกรมควบคุมมลพิษ, กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 8 มาตรวจสอบข้อมูลแล้ว ในส่วนของจังหวัดสมุทรสงคราม นายรังสรรค์ ตันเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัด จะนำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบดอนหอยหลอด ในวันที่ 11 ต.ค. 2559 เวลา 05.00 น. และเวลา 14.00 น.
วันเดียวกัน ดร.วิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมหารือ เพื่อแก้วิกฤตปลากระเบนตายในแม่น้ำแม่กลอง ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัด ตนจะเชิญท่านลงพื้นที่มาตรวจสอบดอนหอยหลอดด้วย ส่วนแนวทางแก้ไขนั้นต้องหาสาเหตุของหอยหลอดตายก่อน เพื่อจะแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป