ถอดบทเรียน ศก.พิเศษ พบชาวบ้านถูกไล่รื้อหนัก คสช.ประเคน ‘ที่ดินหลวง’ เอื้อประโยชน์ ‘เอกชน’ (26 ก.ย. 59)

Green News TV 26 กันยายน 2559
ถอดบทเรียน ศก.พิเศษ พบชาวบ้านถูกไล่รื้อหนัก คสช.ประเคน ‘ที่ดินหลวง’ เอื้อประโยชน์ ‘เอกชน’ 

ภาคประชาสังคมชี้ “กระบวนการจัดหาที่ดิน” ปัญหาหลักเขตเศรษฐกิจพิเศษ เผยคำสั่งหัวหน้า คสช.17/2558 ให้อำนาจเลือกพื้นที่เสรี เปิดช่องนำที่ดินหลวงขายเอกชน

นางพรพนา ก๊วยเจริญ ผู้อำนวยการกลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน กล่าวในเวทีสัมมนาหัวข้อ “ธรรมาภิบาลกับการพัฒนาที่ยั่งยืนในพื้นที่การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สถาบันองค์กรพัฒนาชุมชน (พอช.) เมื่อวันที่ 26 ก.ย.2559 ตอนหนึ่งว่า รูปธรรมของปัญหาและผลกระทบจากการเร่งรัดผลักดันนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คือกระบวนการจัดหาที่ดินโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่ง คสช.ที่ 17/2558 เพื่อยกเว้นกฎหมายและข้ามขั้นตอนต่างๆ ให้ได้มาซึ่งที่ดินโดยเร็ว

ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวได้นำไปสู่การปิดล้อมและบังคับให้ประชาชนออกจากพื้นที่หลากหลายวิธีการ ทั้งยังขาดมาตรการชดเชยเยียวยาที่ชัดเจน เพียงพอ และเป็นธรรม จึงก่อให้เกิดผลกระทบที่สำคัญและรุนแรงมากที่สุดคือการแย่งยึดที่ดินรวมถึงการฟ้องร้องดำเนินคดี ซึ่งพบว่าในปี 2557 ที่เริ่มนโยบาย มีหน่วยงานราชการฟ้องร้องชาวบ้านในข้อหาบุกรุก จำนวน 33 ราย ใน 29 คดี ทั้งที่บางรายมีเอกสารสิทธิ ส.ค.1 นส.2 หรือ นส.3

“ข้อมูลจากสำมะโนการเกษตรปี 2556 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ชี้ให้เห็นชัดเจนถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำและขาดความมั่นคงในที่ดินทำกินของเกษตรกรในพื้นที่กรณีศึกษาเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเฉพาะ จ.ตาก และ จ.เชียงราย ที่เกษตรกรมีโฉนดที่ดินเพียง 21% และ 31% ตามลำดับ” นางพรพนา กล่าว

นางพรพนา กล่าวอีกว่า นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทยเป็นส่วนหนึ่งของบริบทการพัฒนาอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงและอาเซียน เพื่อเชื่อมโยงการค้า การลงทุน การเคลื่อนย้าย และการเข้าถึงทรัพยากรระหว่างประเทศ โดยเขตเศรษฐกิจพิเศษแต่ละจังหวัดจะมีบทบาทการพัฒนาที่แตกต่างกัน ตามศักยภาพของพื้นที่ในการเชื่อมโยงกับต่างประเทศ ซึ่งภาพรวมของการพัฒนาจะเน้นในด้านอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นเป็นหลัก และเป็นแรงงานข้ามชาติตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ

สำหรับข้อเสนอคือรัฐบาลต้องทบทวนนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางและเป้าหมาย โดยให้ชะลอการเร่งรัดดำเนินนโยบายจนกว่าจะคำนึงถึงหลักความเป็นธรรม การมีส่วนร่วม และประโยชน์ที่จะเกิดกับสังคมโดยรวมและท้องถิ่น

นายสมนึก ตุ้มสุภาพ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนากฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า สำหรับคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 17/2558 มีผลต่อการยกเว้นกฎหมายถึง 6 ฉบับ เนื่องจากสามารถขจัดเงื่อนไขข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์ที่ดิน คือเปลี่ยนให้ที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่ดินป่าสงวนฯ และพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน ตกเป็นที่ราชพัสดุ รวมถึงขจัดเงื่อนไขข้อจำกัดให้เอื้อต่อการลงทุน คือให้เช่าที่ดินในระยะยาวเกิน 50 ปี สามารถเช่าที่ดินขนาดใหญ่เกินกว่า 100 ไร่ และไม่นับว่าเป็นการร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ

“เดิมทีการเปลี่ยนแปลงสภาพที่ดินทางกฎหมายเป็นเรื่องยาก และจะต้องผ่านกระบวนการต่างๆ มากมาย ที่รัฐบาลปกติไม่สามารถทำได้โดยง่าย แต่ละที่ดินมีหลายหน่วยงานที่ดูแล แต่คำสั่งนี้สามารถเปลี่ยนแปลงให้กลายเป็นที่ราชพัสดุได้ทั้งหมด หรือแม้แต่ที่ดินเอกสารสิทธิยังสามารถนำมาใช้ได้หากมองว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ โดยใช้วิธีขอแลกเปลี่ยนกับที่ดินอื่นและเจ้าของก็ไม่อาจปฏิเสธได้” นายสมนึก กล่าว

นายสมนึก กล่าวอีกว่า คำสั่งนี้ยังมีข้อกังวลที่ต้องจับตาอีกมาก เช่นเรื่องความเหมาะสมของอำนาจที่สามารถชี้ข้อพิพาทในแนวเขตที่ดินและตัดสินได้เด็ดขาด นอกจากนี้กฎหมายของพื้นที่ราชพัสดุที่ไม่ได้ห้ามการเปลี่ยนแปลง ยังสามารถจำหน่ายจ่ายโอนหรือซื้อขายได้ ดังนั้นคำถามคือในอนาคตจะถูกเปลี่ยนแปลงเป็นพื้นที่อะไรหรือไม่ เพราะแม้แต่จะออกเป็นโฉนดและขายให้แก่เอกชนก็สามารถทำได้

นางพรภินันท์ โชติวิริยะนนท์ ตัวแทนกลุ่มคนแม่สอดรักษ์ถิ่น กล่าวว่า สำหรับพื้นที่บ้านวังตะเคียน ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งถูกประกาศใช้คำสั่ง คสช.ที่ 17/2558 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2558 ชาวบ้านจำนวน 57 ราย ต้องเจอกับทุกวิถีทางที่รัฐบาลพยายามนำที่ดินไปใช้ ตั้งแต่การใช้เจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พร้อมอาวุธเข้ารังวัดพื้นที่ ข่มขู่ว่าจะจับผู้ที่คัดค้าน หรือวางกำลังควบคุมบ้านผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแกนนำ เป็นต้น

“สุดท้ายเจ้าหน้าที่พยายามเกลี้ยกล่อมให้ชาวบ้านเซ็นเอกสารยินยอม พร้อมรับรองว่าจะได้รับการชดเชย บอกว่าดีกว่าถ้าไม่เซ็นเพราะจะไม่ได้อะไรเลย แต่ปรากฎว่าในเอกสารกลับมีชื่อของชาวบ้านอยู่ฝ่ายเดียวแล้วถามว่ามันจะเป็นเอกสารสำคัญได้หรือไม่ อยากรู้ว่าทำไมทหารที่บอกว่ารักชาติ แต่ขณะนี้กลับจะเอาแผ่นดินไปขายให้กับคนอื่น ซึ่งไม่รู้ว่าใครหรือชนชาติใด” ตัวแทนกลุ่มคนแม่สอดรักษ์ถิ่น กล่าว