กรรมาธิการพลังงานชงตั้งองค์กรบริหารจัดการขยะแห่งชาติ (10 เม.ย. 58)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 10 เมษายน 2558
กรรมาธิการพลังงานชงตั้งองค์กรบริหารจัดการขยะแห่งชาติ
คณะอนุกรรมาธิการพลังงานฯเตรียมเสนอ "ประยุทธ์" ตั้งองค์กรบริหารจัดการขยะแห่งชาติ เพิ่มความคล่องตัวลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าขยะเร็วขึ้นตามเป้าหมาย ก.พลังงานที่ 500 เมกะวัตต์ หลังพบเรื่องขยะมีกฎหมายเกี่ยวข้องถึง 10 หน่วยงาน ส่งผลให้โครงการล่าช้า
พลเอกอกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาและติดตามด้านพลังงาน ในคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เร็ว ๆ นี้เตรียมนำเสนอแนวคิดจัดตั้ง "องค์กรบริหารจัดการขยะแห่งชาติ" ต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อสร้างความคล่องตัวในการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ ตามแผนส่งเสริมพลังงานทดแทนที่ต้องการให้มีโรงไฟฟ้าขยะรวม 500 เมกะวัตต์ของกระทรวงพลังงาน เนื่องจากในการหารือระดับคณะอนุกรรมการที่ผ่านมาพบว่า 1) กฎหมายที่ใช้กำกับดูแลการบริหารจัดการขยะ มีกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 10 แห่ง ทำให้แผนตั้งโรงไฟฟ้าค่อนข้างล่าช้า และที่สำคัญในบางกฎหมายขัดแย้งกันเอง
2) การให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนกับภาครัฐจะมีความเป็นไปได้มากกว่า รวมถึงในแต่ละปีรัฐบาลจัดสรรงบฯเพื่อบริหารจัดการขยะอยู่แล้วประมาณ 20,000 ล้านบาท ตามแผนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (5 ปี) 3) ควรเพิ่มบทบาทให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ ในการบริหารจัดการขยะในพื้นที่ และร่วมพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานในพื้นที่ของตนเองเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม ฉะนั้น ควรตั้งองค์กรดังกล่าวขึ้นมาภายใต้รูปแบบ 3 แนวทาง คือ องค์การมหาชน รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ หรือรูปแบบอื่น ๆ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่ที่การตัดสินใจของรัฐบาลว่าจะดำเนินการอย่างไร
"การตั้งองค์กรดังกล่าวเน้นความสามารถในการประสานการปฏิบัติและบูรณาการ เพื่อให้สามารถบังคับใช้กฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้อง สามารถปฏิบัติได้ตามมาตรฐานและมาตรการที่รัฐบาลต้องการ พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกให้เกิดการมีส่วนร่วม และความร่วมมือในการบริหารจัดการขยะระหว่างภาครัฐและเอกชน และประชาชนอย่างแท้จริงภายในกรอบเวลาที่กำหนด โดยเฉพาะการส่งเสริมให้เอกชนมาร่วมลงทุนบริหารจัดการขยะ จะสามารถลดภาระงบประมาณของภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้"
พลเอกอกนิษฐ์กล่าวเพิ่มเติมถึงสถานการณ์ปริมาณขยะว่าภายหลังจากที่คณะอนุกรรมาธิการได้ลงพื้นที่ในหลายจังหวัดพบว่าปริมาณขยะในพื้นที่ทั่วประเทศและกรุงเทพฯในปี 2557 ที่ผ่านมา มีขยะสะสมประมาณ 30 ล้านตัน/ปี มีปริมาณขยะที่เกิดขึ้น 26 ล้านตัน/ปี หากไม่มีการเร่งดำเนินการจัดการขยะ เมื่อรวมกองขยะทั่วประเทศกว่า 2,000 แห่ง จะเกิดปริมาณขยะใหม่อีกไม่ต่ำกว่า 30,000 ตัน/วัน และอาจจะกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ฉะนั้น จึงควรเร่งดำเนินการเพิ่มมูลค่าของเสียและแปรรูปเป็นพลังงาน หรือสร้างประโยชน์สูงสุดที่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และสถานการณ์ปัจจุบัน
ด้านนายพิชัย ถิ่นสันติสุข ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า แนวความคิดดังกล่าวจะช่วยทำให้ภาคเอกชนที่สนใจลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าขยะมีมากขึ้น รวมถึงการประกาศอัตราค่าไฟฟ้าในรูปแบบ Feed in Tariff ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) อนุมัติไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ เป็นอัตราที่คุ้มค่าต่อการลงทุนมากขึ้นด้วย และในปัจจุบันมีเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าที่มีการพัฒนาต่อเนื่อง เช่น RDF (Refuse Derived Fuel) หรือการปรับปรุงคุณภาพของเสียเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงแทนถ่านหินในโรงงานอุตสาหกรรม สำหรับขยะในประเทศไทยทั้งส่วนขยะชุมชนและขยะอุตสาหกรรมรวมกันอยู่ที่ประมาณ 60 ล้านตัน/ปี ซึ่งมีเพียงพอสำหรับการผลิตไฟฟ้า 500 เมกะวัตต์แน่นอน
"เอกชนสนใจลงทุนมาก เพียงแต่ขั้นตอนเกี่ยวข้องหลายกระทรวง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม, พลังงาน, ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมีใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้ามาก ถ้าลดขั้นตอนด้วยการมีองค์กรที่ดูแลแบบเบ็ดเสร็จนอกจากจะช่วยความคล่องตัวแล้ว ยังทำให้จัดการขยะที่เป็นปัญหาทั่วประเทศได้"
รายงานข่าวเพิ่มเติมถึงอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสำหรับปี 2558 อัตราแบบ Fit สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กมาก (VSPP) ส่วนของโรงไฟฟ้าขยะ เช่น โรงไฟฟ้าขยะ (แบบการจัดการแบบผสมผสาน) ที่มีกำลังผลิตไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ ได้รับค่าไฟที่รวมอัตราคงที่และอัตราผันแปรจะอยู่ที่ 6.34 บาท/หน่วย กำลังผลิตมากกว่า 1-3 เมกะวัตต์ อยู่ที่ 5.82 บาท/หน่วย กำลังผลิตที่มากกว่า3 เมกะวัตต์ อยู่ที่ 5.08 บาท/หน่วย สำหรับโรงไฟฟ้าขยะ (แบบหลุมฝังกลบ) อยู่ที่ 5.60 บาท/หน่วย
ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat