พลังงานเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหิน ดันเข้าพีดีพี 2 โรง-ชง กพช.อนุมัติ พ.ค.นี้ (3เม.ย.58)

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 3 เมษายน 2558
พลังงานเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหิน ดันเข้าพีดีพี 2 โรง-ชง กพช.อนุมัติ พ.ค.นี้

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนากลุ่มผู้มีส่วนได้เสียในการดูงานโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ว่า แผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ยังเดินหน้าต่อไป เพื่อรองรับความต้องการใช้ครัวเรือน ท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมอื่น โดยจะเร่งเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ 800 เมกะวัตต์ก่อน ตามด้วยโรงไฟฟ้าเทพา จ.สงขลา ขนาด 800-1,000 เมกะวัตต์ จากที่ปัจจุบันไทยพึ่งพาก๊าซธรรมชาติมากที่สุดถึง 70% ดังนั้น ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือพีดีพี ฉบับใหม่ระหว่างปี 2558-2579 จะลดสัดส่วนการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติลง และเพิ่มสัดส่วนการใช้ถ่านหินมากขึ้น ส่วนพลังงานนิวเคลียร์ก็มีการบรรจุไว้ท้ายแผนพีดีพีด้วย โดยคาดว่าจะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) อนุมัติในเดือนพฤษภาคมนี้ ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) ในวันที่ 3 เมษายน จะมีการพิจารณาลดราคาแอลพีจีที่ใช้ในภาคครัวเรือน อุตสาหกรรม และขนส่งจาก 26.13 บาท หรือไม่นั้นยังไม่สามารถตอบได้

นายชินอิจิโร่ เคนกากุ ตัวแทนจาก บริษัทผลิตไฟฟ้าโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น (เทปโก้) กล่าวว่า มองว่าการเพิ่มสัดส่วนถ่านหินในแผนพีดีพีฉบับใหม่ของไทยเป็นแนวทางที่ถูกต้อง เนื่องจากถ่านหินเป็นเทคโนโลยีสะอาดและมีราคาถูก โดยขณะนี้ญี่ปุ่นอยู่ระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยีผสมผสาน ที่จะเปลี่ยนสถานะถ่านหินให้เป็นก๊าซก่อนผลิตไฟฟ้า หรือไอจีซีซี ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้การเผาไหม้ไม่มีการปล่อยก๊าซ โดยจะสร้างโรงไฟฟ้าไอจีซีซีขึ้นในเมืองฟุกุชิมะ เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในช่วงการจัดโอลิมปิกเกมส์ ในปี พ.ศ.2563 หรือ ค.ศ.2020

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านภาวะโลกร้อน กล่าวว่า ปฏิบัติหน้าที่ตามความต้องการของชุมชนที่ไม่ต้องการโรงไฟฟ้าที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อชีวิตความเป็นอยู่ จึงเป็นคู่อริกับ กฟผ.ตลอดมา โดยปัจจุบันทางสมาคมเตรียมดำเนินการฟ้องร้องเอาผิดกับกลุ่มคนที่หาผลประโยชน์จากกองทุนรอบโรงไฟฟ้า ซึ่งอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติประกอบกิจการพลังงาน โดยต้องการให้ กฟผ.เป็นผู้บริหารแทนผู้บริหารกลุ่มปัจจุบัน คือ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

นายสมเกียรติ อ่อนวิมล นักวิชาการอิสระและสื่อมวลชนอาวุโส กล่าวว่า กฟผ.ต้องปรับปรุงกระบวนการสื่อสารในการทำความเข้าใจประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยใกล้โรงไฟฟ้าและประชาชนทั่วไปให้เห็นถึงความสำคัญของพลังงานไฟฟ้าที่ทุกคนจำเป็นต้องใช้ เพราะหากคนไทยยังขาดความเข้าใจ และยังต่อต้านพลังงานที่ตัวเองก็จำเป็นต้องใช้ อนาคตประเทศชาติจะไม่เจริญ