แห่ตั้งโรงไฟฟ้าจากขยะอุตฯ เกินเป้า นักปั่นหุ้นล่าใบPPAติดโผชิงดำลุ้นค่าไฟ7บ./หน่วย (25 ก.ย. 59)

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 25 กันยายน 2559
แห่ตั้งโรงไฟฟ้าจากขยะอุตฯเกินเป้า นักปั่นหุ้นล่าใบPPAติดโผชิงดำลุ้นค่าไฟ7บ./หน่วย

เอกชน 26 รายรุมขอโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตฯคึกคักแน่น สกพ. เพราะรับซื้อด้วยค่าไฟสูงลิ่ว 7 บาท/หน่วย รายใหญ่อย่างเจนโก้ฯ-โกลว์ เหมราชฯ โดดร่วมวงด้วย วงในเผยนักล่าสัญญาซื้อขายไฟ-นักปั่นหุ้นยังโผล่อยู่ในลิสต์

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) แจ้งว่า เมื่อวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา ได้เปิดให้ผู้สนใจยื่นคำร้องและข้อเสนอเพื่อรับซื้อไฟฟ้าพิเศษจากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนปี 2558-2562 ปรากฏมีผู้สนใจยื่นคำร้องรวม 26 ราย รวมกำลังผลิต 200 เมกะวัตต์ 

ในขณะที่รับซื้อเพียง 50 เมกะวัตต์โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ดำเนินการให้ผู้ที่สนใจเข้ามาจับสลากคิว เพื่อให้ได้ลำดับในการจัดลำดับที่นั่งก่อนจับสลาก ภายหลังการจับสลากเพื่อลำดับคิวแล้ว จะได้ลำดับที่สำหรับการยื่นคำร้องเพื่อเสนอขายไฟฟ้าต่อไป 

ในการจับสลากเพื่อลำดับรายชื่อในการยื่นคำร้องและข้อเสนอขายไฟฟ้ารวม 26 ราย เช่น บริษัท เจนโก้ รีนิวเอเบิล จำกัด ได้เสนอโครงการโรงไฟฟ้าเจนโก้ รีนิวเอเบิล 

บริษัท โกลว์ เหมราช วินด์ จำกัด (เป็นกลุ่มของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP)) ได้นำเสนอโครงการ โกลว์ เหมราช วินด์ บริษัท ประจุธารา จำกัด นำเสนอโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมนิคมฯสหรัตนนคร 

บริษัท โซลาร์ อีพีซีเอฟ จำกัด นำเสนอโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหรรม นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค (บ้านหว้า) บริษัท ซุปเปอร์ เอิร์ธ เอนเนอร์ยี่ 5 จำกัด นำเสนอโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม นิคมอุตฯอมตะซิตี้ เป็นต้น โดย กกพ.จะประกาศผลภายในเดือนตุลาคมนี้

แหล่งข่าวจากแวดวงอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า มีผู้สนใจยื่นคำร้องและข้อเสนอเพื่อพัฒนาโรงไฟฟ้าขยะจากอุตสาหกรรมรวมทั้งสิ้น 26 ราย ซึ่งถือเป็นจำนวนที่ค่อนข้างมาก และเกินจากเป้าหมายที่ กกพ.กำหนดไว้ เนื่องจากการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าว สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้กำหนดอัตราค่าไฟฟ้าที่จะรับซื้อสูงถึง 7 บาท/หน่วย (โดยเฉพาะในโครงการที่ใช้เทคโนโลยีพลาสม่า) เพื่อจูงใจให้เอกชนเข้ามายื่นขอโครงการ ทั้ง 26 รายนั้นจะเข้าสู่การพิจารณาตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนดไว้ เช่น โรงไฟฟ้าตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 11 แห่งที่กำหนดไว้หรือไม่ และที่สำคัญคือปริมาณขยะป้อนโรงไฟฟ้าได้ต่อเนื่องหรือไม่ รวมถึงความพร้อมของสายส่ง เมื่อแบ่งกลุ่มในจำนวน 26 รายนั้นจะพบว่า 1) กลุ่มที่มีศักยภาพและต้องการพัฒนาโรงไฟฟ้าให้เกิดขึ้นจริง 2) กลุ่มบริษัทพลังงานที่จับมือกับนิคมอุตสาหกรรม และ 3) กลุ่มบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และต้องการโครงการใหม่ ๆ 

นำไปเพิ่มมูลค่าหุ้น และ 4) กลุ่มที่ต้องการสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพื่อนำไปเร่ขายต่อในกลุ่มที่ร่วมมือกับนิคมอุตสาหกรรมนั้นส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่มีปริมาณขยะที่รองรับการผลิตไฟฟ้าได้ต่อเนื่องตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 25 ปี ซึ่งถือว่าการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมครั้งนี้น่าจะเป็นไปตามเป้าหมายของนโยบายรัฐที่ต้องการกำจัดขยะที่มีอยู่ประมาณ 500,000 ตัน/ปี และลดจำนวนขยะใหม่ได้

"การผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมครั้งนี้ นับเป็นโครงการที่ให้ผลตอบแทนการลงทุนที่สูงมาก Project IRR สูงถึงร้อยละ 20 จึงได้รับความสนใจค่อนข้างมาก ซึ่งก่อนหน้านี้ภาคเอกชนได้แย้งและให้ข้อเสนอแนะไปยัง กกพ.แล้วว่า แม้จะเป็นโครงการที่ให้ผลตอบแทนที่ดี แต่เมื่อมองในภาพใหญ่ การให้อัตราค่าไฟฟ้าที่สูงอาจจะกระทบต้นทุนค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ Ft ที่จะเรียกเก็บจากประชาชนได้"

รายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ สมาคมการค้าพลังงานขยะได้ยื่นหนังสือถึงกกพ. เพื่อให้มีการทบทวนการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าวในหลายประเด็น เช่น ให้พิจารณาอัตราค่าไฟใหม่ ต้องการให้จัดตั้งโรงไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมแบบกระจายไปยังภูมิภาค หรือกระจายไปยังนิคมอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในขณะที่เงื่อนไขของ กกพ.กำหนดให้ตั้งโรงไฟฟ้าในพื้นที่นิคมอุตฯเพียง 11 แห่งเท่านั้น 

และควรพิจารณาที่มาของขยะเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาขยะให้ได้ตรงจุด และตรงตามนโยบายของภาครัฐที่ต้องการกำจัดขยะที่มี 500,000 ตัน/ปี ที่เกิดจากโรงงานในพื้นที่นั้น ๆ โดยไม่ให้รวมถึงขยะที่เกิดจากการใช้ของชุมชน เช่น ยางรถยนต์ ปิโตรโปรดักต์ พลาสติก หรืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ฯลฯ