ประทานบัตรคืนชีพ เหมืองโพแทช (25 ก.ย. 59)

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 25 กันยายน 2559
ประทานบัตรคืนชีพ เหมืองโพแทช

กลับมาเป็นข่าวครึกโครมอีกครั้งสำหรับโครงการทำเหมืองแร่โพแทช โดยล่าสุด ครม.ได้มีมติตามข้อเสนอของกระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณาอนุญาตประทานบัตรการทำเหมืองใต้ดินอายุ 25 ปี ให้กับ 2 บริษัท คือ บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) (ASEAN Potash Chaiyaphum) กับ บริษัท ไทยคาลิ จำกัด (Thai Kali) โดยบริษัทแรกทำเหมืองใต้ดินในพื้นที่ 9,707 ไร่ 83 ตารางวา ในท้องที่ 3 ตำบล คือ บ้านตาล บ้านเพชร หัวทะเล อำเภอบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ โดยบริษัทได้ยื่นขอประทานบัตรมาตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2547 และเพิ่งได้รับอนุญาตประทานบัตร

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 แผนการผลิตจะทำเหมืองใต้ดินแบบห้องสลับค้ำยัน (Room and Pillar) และมีแผนการแต่งแร่ด้วยวิธีการละลายด้วยความร้อนและตกผลึก (Hot Crystallization) เงินลงทุนโครงการประมาณ 59,633 ล้านบาท จากปริมาณสำรองแร่โพแทช 429 ล้านตัน

ขณะที่บริษัทไทยคาลิ จะทำเหมืองใต้ดินในพื้นที่ 9,005 ไร่ 1 งาน 63 ตารางวา ในท้องที่ 3 ตำบล คือ หนองไทร หนองบัวตะเกียด และโนนเมืองพัฒนา อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา โดยบริษัทได้ยื่นคำขอประทานบัตรในเดือนตุลาคม 2555 และได้รับอนุญาตประทานบัตรในเดือนกรกฎาคม 2558 บริษัทมีแผนการทำเหมืองด้วยวิธีแบบห้องว่างสลับเสาค้ำยัน (Room and Pillar) แต่ใช้วิธีการแต่งแร่แบบตกผลึกเย็น (Cold Crystallization) และการลอยแร่ (Flotation) ซึ่งแตกต่างไปจากวิธีการแต่งแร่ของบริษัทอาเซียนโปแตชชัยภูมิ เงินลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท จากปริมาณสำรองแร่โพแทช 103 ล้านตัน

ทั้ง 2 บริษัทมีประมาณการว่า จะมีการผลิตโพแทชซึ่งจะนำมาใช้ทำปุ๋ย ได้ประมาณ 1.2 ล้านตัน/ปี (อาเซียนโปแตชชัยภูมิ 1.1 ล้านตัน-ไทยคาลิ 100,000 ตัน)

ความเหมือนในความแตกต่าง
แม้ว่าทั้ง 2 บริษัทจะทำเหมืองใต้ดินเหมือนกัน แต่ก็มีความแตกต่าง ซึ่งจะส่งผลต้นทุนในการทำเหมืองเป็นอย่างมาก 

เริ่มกันตั้งแต่ ประการแรก แหล่งแร่โพแทชปรากฏว่า ในพื้นที่ อ.บำเหน็จณรงค์ ปริมาณแร่โพแทชจะเป็นชนิดคาร์นัลลิไทต์ มีความสมบูรณ์ประมาณ 15% KCI) ขณะที่พื้นที่ อ.ด่านขุนทด จะเป็นแร่โพแทชชนิดคาร์นัลไลต์ มีความสมบูรณ์เฉลี่ย 20.78% KCI สอดคล้องกับข้อมูลทางธรณีวิทยาที่ระบุไว้ว่า แหล่งแร่โพแทชในประเทศรวมกัน 17,000 ตารางกิโลเมตร ส่วนใหญ่จะอยู่ใน 2 แอ่ง คือ แอ่งโคราช กับแอ่งสกลนคร

โดยเฉพาะแอ่งโคราชจะเป็นโพแทชชนิด "คาร์นัลไลต์" ซึ่งมีอยู่มากถึง 400,000 ล้านตัน ความสมบูรณ์ของแร่อยู่ระหว่าง 15-20% KCI แต่แอ่งสกลนครในพื้นที่คำขอสัมปทานทำเหมืองของ บริษัทเอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จะเป็นโพแทชชนิด ซิลไวต์ (Sylvite) ซึ่งมีประมาณ 7,000 ล้านตัน จัดเป็นแร่โพแทชที่มีคุณภาพสูงสุด กล่าวคือมีความสมบูรณ์ของแร่ถึง 30-40% KCI 

นั่นหมายถึงโพแทชที่ขุดขึ้นมา 1 ตัน จากแหล่งบำเหน็จณรงค์-ด่านขุนทด ที่มีความสมบูรณ์อยู่ระหว่าง 15-20% เทียบไม่ได้เลยกับโพแทชที่ได้จากสกลนคร-อุดรธานี จะมีความสมบูรณ์ของแร่สูงถึง 30-40% ส่งผลให้ต้นทุนการทำเหมืองในแอ่งโคราช "สูงกว่า" แอ่งสกลนครแน่นอน

ประการที่สอง วิธีการแต่งแร่ ของทั้ง 2 บริษัทกลับมีความแตกต่างกันมาก กล่าวคือ บริษัทอาเซียนโปแตชชัยภูมิ ใช้วิธี Hot Crystallization ขณะที่บริษัทไทยคาลิใช้วิธี Cold Crystallization + Flotation โดยวิธีการละลายด้วยความร้อนของอาเซียนโปแตชชัยภูมิจะเป็นแบบต้มร้อน ซึ่งจะต้องใช้น้ำในปริมาณมากในกระบวนการ แต่ไทยคาลิมีปริมาณสำรองแร่น้อยกว่าจึงใช้วิธีลอยแร่ ซึ่งใช้น้ำน้อยกว่า 

ดังนั้นจึงเป็นความจำเป็นที่ บริษัทอาเซียนโปแตชชัยภูมิ จะต้องมี "โรงไฟฟ้าถ่านหิน" เกิดขึ้นบริเวณโครงการเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ใช้ในกระบวนการต้มร้อน 

ดังนั้นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะมีปัญหากระทบกับชุมชนรอบ ๆ โรงไฟฟ้าคัดค้านการตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน กับปัญหาข้อพิพาทในการแย่งน้ำจาก อ่างเก็บน้ำเขื่อนลำคันฉู ปริมาณน้ำกักเก็บ 32 ล้าน ลบ.ม. แหล่งน้ำ

เดียวในพื้นที่ที่ห่างออกไปประมาณ 20 กิโลเมตร โดยเหมืองแร่ทั้ง 2 จะต้องใช้น้ำรวมกันประมาณ 32 ล้านลูกบาศก์คิว โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นส่วนที่เหลือจากเกษตรกรเท่านั้นจึงจะได้รับอนุญาตให้สูบน้ำจากเขื่อนขึ้นมาใช้ภายในเหมืองได้ ซึ่งเหมืองทั้ง 2 จะใช้น้ำรวมกันประมาณ 1-2 ล้านลูกบาศก์คิว จะต้องเกิดขึ้นในอนาคต แม้ว่ากรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่จะทำข้อบังคับไว้ว่า น้ำจากเขื่อนลำคันฉู ที่บริษัทเหมืองแร่จะใช้ได้นั้น จะต้องเป็นส่วนที่เหลือจากเกษตรกรก็ตาม

ปัญหาของแหล่งกำเนิดไฟฟ้าที่จะใช้ในกระบวนการแต่งแร่ กับแหล่งน้ำ จึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ของบริษัทอาเซียนโปแตชชัยภูมิ ที่ถูกชาวบ้านออกมาคัดค้านมากกว่ากรณีของบริษัทไทยคาลิ ซึ่งต่างตั้งเป้าจะเริ่มทำเหมืองในอีก 2 ปีข้างหน้า

เกลือมากมายมหาศาล
คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า "เกลือ" ที่จะได้จากกระบวนการแยกโพแทชออกจากคาร์นัลไลต์จะเป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด "ถ้า" เกลือนั้น "หลุดลอด" ออกมาจากพื้นที่ทำเหมือง ตัวอย่างคลาสสิกที่เคยเกิดขึ้นกับการพัฒนาเหมืองโพแทชชัยภูมิในอดีตก็คือ เกลือปริมาณมากมายถึง 100,000 ตัน (จากประมาณการขึ้นต้นจะมีเกลือออกมาถึง 2.1 ล้านตันต่อปี) ได้กลายเป็นปัญหาในการหาสถานที่จัดเก็บ จนกระทั่งสุดท้ายจำต้องจำหน่ายให้กับบริษัทภายในประเทศรับเกลือเหล่านี้ไปในราคาถูกแสนถูก

มาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน บริษัทอาเซียนโปแตชชัยภูมิ จึงต้องจัดทำ "บ่อเก็บกากแร่" 

ในพื้นที่ 2,500 ไร่ มีความหนาของแผ่นรองก้นบ่อหนา รวมถึงจุดตรวจวัดระบบท่อระบายแต่ละจุด และมีการตรวจสอบควบคุมบริหารจัดการตลอดเวลา สามารถรองรับฝนเพื่อการันตีได้ว่า น้ำเกลือที่เกิดจากกระบวนการแยกแร่จะไม่ไหลออกจากบ่อเก็บกากแร่ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ทั้งหมดนี้กำหนดไว้ในเงื่อนไขข้อบังคับรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว โดยกระบวนการขุดเจาะเหมืองใต้ดินเพื่อนำแร่โพแทชออกมานั้น จะเริ่มจากการวางท่อเพื่อขุดชั้นดินลงไปและขนเกลือขึ้นมาก่อนส่วนแรก ซึ่งเกลือดังกล่าวจะถูกเก็บไว้ในโกดังเพื่อนำไปขาย จากนั้นเมื่อการขุดเจาะไปถึงชั้นโพแทช แร่จะถูกนำขึ้นมาสู่กระบวนการถลุงเพื่อคัดแยกแร่-เกลือ และน้ำ ออกจากกันในที่สุด

อย่างไรก็ตาม เรื่องของ "เกลือ" ได้กลายเป็นประเด็นอ่อนไหวที่สุดที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องจับตามองกรรมวิธีในการจัดการกับกองเกลือ ทั้งของบริษัทอาเซียนโปแตชชัยภูมิ กับบริษัทไทยคาลิ