ครม. คลอดกฎหมาย 4 ฉบับหนุนลงทุน (24 ส.ค. 59)
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 24 สิงหาคม 2559
ครม.คลอดกฎหมาย 4 ฉบับหนุนลงทุน
ที่ประชุม ครม. เห็นชอบแพคเกจส่งเสริมการลงทุน ไฟเขียวร่างกฎหมาย 4 ฉบับ หวังเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน พร้อมแก้พ.ร.บ.บีโอไอ
การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ เห็นชอบร่างกฎหมาย 4 ฉบับ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่และอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล
ร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับจะทำให้นโยบายส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ของรัฐบาลสะดวกยิ่งขึ้น เนื่องจากมีทั้งเรื่องการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อจูงใจนักลงทุนและการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจด้วยการลดขั้นตอนของการอนุมัติและขอใบอนุญาต
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงว่าร่างพระราชบัญญัติทั้ง 4 ฉบับ จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่และอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล
ร่างพ.ร.บ.ทั้ง 4 ฉบับประกอบด้วย ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน (ฉบับที่ ..) พ.ศ... แก้ไขเพิ่มเติมจากปี 2520,ร่างพ.ร.บ.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พ.ศ...., ร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ...และ ร่างพ.ร.บ.การนิคมแห่งประเทศไทย พ.ศ...แก้ไขเพิ่มเติมจากปี 2522
ขยายสิทธิประโยชน์ลงทุน-แก้ปัญหาบอร์ดบีโอไอ
สำหรับร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน (ฉบับที่ ..) พ.ศ...มีสาระสำคัญในการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติที่เป็นอุปสรรคและข้อจำกัดในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศตามกฎหมายเดิมของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน โดยขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์สูงสุดแก่นักลงทุนโดยการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดเป็นเวลา 13 ปี สำหรับกิจการที่ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมขั้นสูง การวิจัยและพัฒนาในการผลิต และสามารถขอลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลในสัดส่วน 50% เพิ่มเติมอีกไม่เกิน 10 ปี หรือหากไม่ได้สิทธิในการงดเว้นหรือลดหย่อนภาษีก็สามารถหักเงินลงทุนได้ในสัดส่วน 70% ของกำไรสุทธิ เป็นระยะเวลาไม่เกิน 10 ปีนับจากวันที่มีรายได้
กฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดให้มีการยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับสินค้าที่นำเข้ามาใช้ในการวิจัยและพัฒนาก็จะไม่ต้องมีการเสียภาษีขาเข้า
นอกจากนั้น ในการบริหารจัดการกำหนดว่าในกรณีที่คณะกรรมการในบอร์ดบีโอไอมีการครบวาระ และยังไม่สามารถจัดตั้งกรรมการชุดใหม่มาแทนได้ กำหนดให้คณะกรรมการชุดเดิมปฏิบัติหน้าที่ต่อไป เพื่อไม่ให้การอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนของประเทศมีการหยุดชะงักหรือเกิดสูญญากาศในการบริหาร รวมทั้งการแก้ปัญหาการตีความเรื่องภาษีต่างจากกรมสรรพากร โดยกำหนดให้การคำนวณกำไรและขาดทุนสุทธิ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในประมวลรัษฎากรของกรมสรรพากรเพื่อป้องกันปัญหาเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต กำหนดให้มีการประเมินผลบีโอไออย่างน้อยทุก 4 ปีโดยบุคคลภายนอกและต้องประกาศผลการประเมินให้ประชาชนภายนอกได้รับทราบเพื่อที่จะได้รู้ว่าการส่งเสริมการลงทุนที่ทำไปได้ประโยชน์และคุ้มค่าอย่างไรบ้าง
ตั้งกองทุนขีดแข่งขัน-บอร์ดระดับชาติ
ร่างพ.ร.บ.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับส่งเสริมการจัดตั้งอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ประเทศต้องการส่งเสริม โดยจัดตั้งกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการนแข่งขันวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท โดยจะส่งเสริมการดึงดูดการลงทุนสำหรับบริษัทที่มีความสำคัญที่ต้องการให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยที่จะมีคณะกรรมการนโยบายส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายหมาย
ทั้งนี้ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยมีอำนาจหน้าที่กำหนดประเภทอุตสาหกรรมเป้าหมาย แนวทางในการเจรจา สิทธิประโยชน์ที่จะให้ โดยจะมีคณะอนุกรรมฯมีรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน มีเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม (สศช.) เป็นเลขาธิการ
สิทธิประโยชน์ที่จะเพิ่มขึ้นจากการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ คือสามารถให้การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 15 ปี และสามารถให้เงินสนับสนุนจากกองทุนที่จัดตั้งขึ้น สนับสนุนการลงทุนวิจัยและพัฒนา การส่งเสริมนวัตกรรม และการพัฒนาบุคลากร
ให้อำนาจผู้ว่าฯ-กนอ.มีอำนาจเต็ม
ส่วนร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีการกำหนดนิยามของเขตเศรษฐกิจพิเศษตามนโยบายรัฐบาลในพื้นที่ 10 จังหวัดได้แก่ ตาก มุกดาหาร สระแก้ว สงขลา หนองคาย นราธิวาส เชียงราย นครพนม และกาญจนบุรี มีการกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีหน้าที่กำหนดพื้นที่และสิทธิประโยชน์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ
ส่วนการบริหารงานในเชิงพื้นที่กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตเศรษฐกิจพิเศษจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One stop service) เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน พร้อมให้อำนาจแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดในการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษจำนวน 9 ฉบับ ได้แก่ กฎหมายควบคุมอาคาร กฎหมายว่าด้วยโรงงาน กฎหมายผังเมือง กฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว ตามมาตรา 46 กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองสำหรับการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว กฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดิน กฎหมายว่าด้วยการสาธารณะสุข กฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องจักรและกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนพาณิชย์
ร่าง พ.ร.บ.การนิคมแห่งประเทศไทย แก้ไขเพิ่มเติมจากปี 2522 กำหนดให้ผู้ว่าการนิคมแห่งประเทศไทยมีอำนาจเช่นเดียวกับผู้ว่าราชการจังหวัดในการใช้อำนาจบังคับตามกฎหมาย 9 ฉบับในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษที่เป็นพื้นที่ของ กนอ. และตั้ง one stop service ในการนิคม โดยร่าง พ.ร.บ. กนอ.ฉบับใหม่กำหนดให้ กนอ.สามารถดำเนินธุรกิจเพิ่มเติมได้ เช่น การตั้งบริษัทเพื่อประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และการตั้งบริษัทบริหารท่าเรืออุตสาหกรรม
ขณะที่การนำสินค้าเข้ามาในประเทศที่เป็นพื้นที่เสรีเพื่อพาณิชย์กรรม เพื่อการส่งออกโดยไม่ได้ขายในประเทศจะได้รับการยกเว้นกฎหมายเพื่อการนำเข้าและส่งออก เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุน
ส.อ.ท.หนุนมาตรการส่งเสริมใหม่
นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การขยายระยะเวลาสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเพิ่มเป็น 13 ปี และการตั้งกองทุน 1 หมื่นล้าน เพื่อสนับสนุนการวิจัย พัฒนา และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งยังเพิ่มการยกเว้นภาษีเพิ่มขึ้นอีกเป็น 15 ปี ในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงเหล่านี้ ถือได้ว่าเป็นการเพิ่มขีดความสามารถดึงดูดการลงทุนให้กับประเทศชาติเป็นอย่างมาก เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งในการดึงดูดอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงอย่างมาเลเซีย และสิงคโปร์ ถือว่าสิทธิประโยชน์ และภาพรวมความน่าลงทุนของไทยโดดเด่นกว่าประเทศคู่แข่ง
“ประเทศไทยประเทศรับการลงทุนมานานต่างชาติม่ีความเชื่อถือ และคุ้นชินกับการลงทุนประเทศไทย ซึ่งยิ่งเพิ่มสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนมากขึ้้น ก็ทำให้ต่างชาติตัดสินใจมาไทยได้ง่ายขึ้น”
นายวัลลภ มองว่าการที่รัฐบาลเร่งออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนในช่วงนี้ ก็เพื่อรองรับการลงทุนในครึ่งปีหลังไปจนถึงปีหน้า เนื่องจากเป็นช่วงที่บรรยากาศการลงทุนดีขึ้น เหมาะกับการดึงดูดการลงทุน