กรมชลฯ-อีสท์วอเตอร์-กปภ.ผันน้ำดิบเสริมภาคตะวันออก (27 ก.พ. 58)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 27 กุมภาพันธ์ 2558
กรมชลฯ-อีสท์วอเตอร์-กปภ.ผันน้ำดิบเสริมภาคตะวันออก
กรมชลประทาน กปภ.และอีสท์วอเตอร์ผวาภัยแล้งทำพิษซ้ำรอยปี 2548 จับมือกันเซ็น MOU ระยะเวลา 5 ปี ผันน้ำทางท่อจากอ่างประแสร์ ระยองเข้าอ่างคลองใหญ่เพิ่มความมั่นคงระบบน้ำป้อน 2 จังหวัดใหญ่ภาคตะวันออก โดยให้อีสท์วอเตอร์และ กปภ.จ่ายค่าไฟผันน้ำดิบและดูแลรักษาท่อ ขณะที่กรมชลฯเตรียมทดสอบการผันน้ำทางท่อมูลค่า 5,000 ล้านจากคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิตเข้าอ่างบางพระครั้งแรกมีนาคมนี้ ด้านอีสท์วอเตอร์เผยเตรียมหาน้ำดิบเพิ่มอีก 200 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ในระยะ 10 ปีข้างหน้า
นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้จัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) การดำเนินการสูบผันน้ำท่อส่งน้ำเชื่อมโยงอ่างเก็บน้ำประแสร์-อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ ร่วมกับการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) และบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์วอเตอร์ โดยโครงการดังกล่าวเป็น 1 ใน 13 โครงการที่คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2548 เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกอย่างเร่งด่วน โดยระบบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์มายังอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ จังหวัดระยอง ก่อสร้างโดยบริษัทอีสท์วอเตอร์ และได้ส่งมอบโครงการให้กรมชลประทานเพื่อใช้บริหารจัดการน้ำ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2553 ซึ่งกรมชลประทานได้มีการประชุมชี้แจง และสร้างความเข้าใจกับกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำ และมีการจัดตั้งคณะกรรมการจัดการชลประทาน และกลุ่มบริหารการใช้น้ำนอกภาคการเกษตร เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการใช้ประโยชน์ในอ่างเก็บน้ำแห่งนี้
สำหรับการสูบผันน้ำตามข้อตกลงนี้จะเริ่มตั้งแต่ปี 2558 ถึงปี 2562 รวมระยะเวลา 5 ปี โดยปีที่ 1 กำหนดให้อีสท์วอเตอร์ สูบไม่ต่ำกว่า 20 ล้าน ลบ.ม. ในปี 2-5 กำหนดให้ กปภ.และอีสท์วอเตอร์สูบน้ำไปใช้ได้หน่วยงานละไม่น้อยกว่า 40 ล้าน ลบ.ม. ตลอดจนชำระค่าน้ำดิบ การจัดกิจกรรมหรืองบประมาณด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR) อีกด้วย โดยทั้งสองหน่วยงานจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด พร้อมทั้งต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการสูบผันน้ำ ทั้งทรัพย์สินของราชการตลอดจนชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลภายนอกด้วย
"อ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง มีความจุ 248 ล้าน ลบ.ม. แต่ละปีจะมีน้ำไหลเข้าอ่างเฉลี่ย 295 ล้าน ลบ.ม. เกษตรกรใช้น้ำปีละ 100 ล้าน ลบ.ม. และรักษาระบบนิเวศอีก 20 ล้าน ลบ.ม. ทำให้ต้องพร่องน้ำส่วนเกินไปจำนวนมาก ปัจจุบันสภาพอากาศผันแปรสูง กอปรกับระยองมีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อ่างเก็บน้ำที่เชื่อมต่อกันเป็นอ่างพ่วงคือ อ่างหนองปลาไหล ดอกกราย และคลองใหญ่มีแนวโน้มที่น้ำไม่เพียงพอเหมือนปี 2548 เพื่อให้เกิดความมั่นคงและรองรับการใช้น้ำในอนาคต กรมชลฯจึงได้วางแผนผันน้ำส่วนเกินไปอ่างคลองใหญ่ และจัดทำโครงการเพิ่มความจุอ่างประแสร์เป็น 295 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้งก่อสร้างระบบผันน้ำจากลุ่มน้ำวังโตนด จันทบุรีมาเติมอ่างประแสร์อีกปีละ 70 ล้าน ลบ.ม." อธิบดีกรมชลประทานกล่าว
นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงการผันน้ำทางท่อจากคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิตมาลงอ่างบางพระ ชลบุรี เพื่อเพิ่มความมั่นคงน้ำในภาคตะวันออกตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า ใช้งบฯก่อสร้างประมาณ 5,000 ล้านบาท ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ยังทดสอบไม่ได้ เพราะมีน้ำเหลือน้อย คาดว่าจะทดสอบครั้งแรกได้ในเดือนมีนาคม และครั้งที่สองในเดือนพฤษภาคมนี้ โดยมีเป้าหมายผันน้ำสูงสุดปีละ 70 ล้าน ลบ.ม. ส่วนกรณีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีข้อท้วงติงไม่ให้กรมชลฯเป็นผู้จ่ายค่าไฟฟ้าในการผันน้ำจากอ่างประแสร์มาอ่างคลองใหญ่ ไม่มีปัญหา ทางอีสท์วอเตอร์จะเป็นผู้จ่ายเองและต้องรับผิดชอบในการจ่ายน้ำให้ภาคเกษตรและชุมชนที่ท่อผ่านด้วย
ทางด้านนายวันชัยหล่อวัฒนตระกูลกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อีสท์วอเตอร์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ตั้งแต่ปี 2553-2559 บริษัทใช้งบฯลงทุนบริหารจัดการน้ำดิบและน้ำประปาทั้งสิ้นประมาณ 5,000 ล้านบาท ปัจจุบันบริษัทใช้น้ำดิบปีละ 280 ล้าน ลบ.ม.ในอีก 10 ปีข้างหน้า จะต้องจัดหาเพิ่มอีก 200 ล้าน ลบ.ม./ปี คาดว่าจะต้องใช้น้ำจากอ่างประแสร์ 110 ล้าน ลบ.ม./ปี จากแม่น้ำระยอง 50 ล้าน ลบ.ม./ปี จากคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต 30 ล้าน ลบ.ม./ปี ที่เหลือมาจากบึงต่าง ๆ ของเอกชน
นางรัตนา กิจวรรณ ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เปิดเผยว่า กปภ.ใช้งบฯลงทุนปีละ 1 หมื่นกว่าล้านบาท ในระยะหลังใช้งบฯลงทุนผลิตน้ำประปาในภาคตะวันออกค่อนข้างสูง ปัจจุบันสาขา กปภ.ในพื้นที่ จ.ระยอง และ จ.ชลบุรี โดยเฉพาะกปภ.สาขาระยอง สาขาบ้านฉาง สาขาพัทยาและสาขาแหลมฉบังป้อนน้ำประปาให้สมาชิก 2.5 แสนครัวเรือน การมีน้ำดิบจากการเชื่อมท่อระหว่างอ่างประแสร์และอ่างคลองใหญ่จะทำให้มีปริมาณน้ำดิบผลิตน้ำประปาให้บริการประชาชนมากยิ่งขึ้น