กรมโรงงานฯ ปั้น 4 จังหวัดสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (20 ก.พ. 58)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 20 กุมภาพันธ์ 2558
กรมโรงงานฯ ปั้น 4 จังหวัดสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
กรมโรงงานอุตสาหกรรม ต่อยอดพัฒนาอุตสาหกรรมไทย ปี 58 สู่ "เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ" ซึ่งเป็นการบูรณาการระหว่างแนวคิดเชิงเศรษฐศาสตร์ ที่มุ่งแสวงหาผลกำไรกับแนวความคิดเชิงนิเวศ ที่มุ่งเน้นการอยู่ร่วมกันของอุตสาหกรรม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล
ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายกรมโรงงานอุตสาหกรรมดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ในพื้นที่อุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรม และต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 โดยได้ผลักดันการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศสู่ 9 พื้นที่อุตสาหกรรม 6 จังหวัด ได้แก่
1) เขตประกอบการอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
2) สวนอุตสาหกรรมบางกะดี จังหวัดปทุมธานี
3) สวนอุตสาหกรรม 304 อินดัสเตรียลปาร์ค จังหวัดปราจีนบุรี
4) สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ศรีราชา จังหวัดชลบุรี
5) สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ กบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี
6) เขตประกอบการอุตสาหกรรม บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) จังหวัดระยอง
7) ชุมชนอุตสาหกรรม ไอ.พี.พี จังหวัดระยอง
8) เขตประกอบการอุตสาหกรรมเหมราช จังหวัดระยอง
9) เขตประกอบการอุตสาหกรรมเหมราช จังหวัดสระบุรี
โดยปี 2558 นี้ยังคงพัฒนาต่อเนื่องภายใต้โครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ "เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ" ซึ่งโครงการหนึ่งที่สำคัญ คือ การพัฒนาพื้นที่ประกอบการอุตสาหกรรม 4 แห่ง ภายใต้ 4 จังหวัด ได้แก่ สวนอุตสาหกรรมบางกะดี จังหวัดปทุมธานี สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ศรีราชา จังหวัดชลบุรี เขตประกอบการอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเขตประกอบการอุตสาหกรรมเหมราชสระบุรี จังหวัดสระบุรี ให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศภายใต้แนวทางการพัฒนาในด้านต่าง ๆ คือ กายภาพ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และการบริหารจัดการ อาทิ การจัดวางผังที่ตั้งของอุตสาหกรรมและการใช้ประโยชน์พื้นที่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเติบโตของเศรษฐกิจท้องถิ่นควบคู่ไปกับเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม การจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยเน้นการลดและป้องกันมลพิษ รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างคุ้มค่า ภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชนโดยรอบ ซึ่งคาดว่า จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยได้กว่า 20-30% ตลอดจนสามารถดึงนักลงทุนชาวต่างชาติมาตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทยได้เพิ่มขึ้น 10-15% สำหรับผู้ประกอบการ ประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมโรงงานอุตสาหกรรม 1564 หรือ www.diw.go.th
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยส่วนหนึ่งต้องพึ่งพิงกับอุตสาหกรรม เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมคือ แหล่งสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างอาชีพ จึงทำให้เกิดแนวคิดการบูรณาการระหว่างแนวคิดเชิงเศรษฐศาสตร์ ที่มุ่งแสวงหาผลกำไรกับแนวความคิดเชิงนิเวศ ที่มุ่งเน้นการอยู่ร่วมกันของอุตสาหกรรม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล สู่การเป็น "เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ" ภายใต้แนวทางการพัฒนาในด้านต่าง ๆ คือ กายภาพ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และการบริหารจัดการ โดยส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานทุกขั้นตอน อาทิ การจัดวางผังที่ตั้งของอุตสาหกรรมและการใช้ประโยชน์พื้นที่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมการเติบโตของเศรษฐกิจท้องถิ่นควบคู่ไปกับเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยเน้นการลดและป้องกันมลพิษ รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างคุ้มค่า
อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยจะก้าวสู่ความเป็น "เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ" โดยสมบูรณ์ต้องใช้ความร่วมมือระหว่างกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ เช่น ความร่วมมือระหว่างโรงงานกับโรงงาน โรงงานกับชุมชน โรงงานกับหน่วยงานภาครัฐ ทั้งนี้ถ้าความร่วมมือระหว่างกันมีความเข้มแข็ง การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจะสัมฤทธิผลได้ในไม่ช้า กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้มอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมผลักดันพื้นที่อุตสาหกรรมเป้าหมายให้เกิดเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศได้อย่างเป็นรูปธรรม ดังคำขวัญที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ไว้เป็นพันธะสัญญาว่า "สร้างสมดุลอุตสาหกรรมกับธรรมชาติ สร้างเศรษฐกิจของชาติสู่ความยั่งยืน" ซึ่งผลลัพธ์ที่ตามมาคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยได้กว่า 20-30% ตลอดจนสามารถดึงนักลงทุนชาวต่างชาติมาตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทยได้เพิ่มขึ้น 10-15% รวมถึงจะสามารถสร้างจุดขายให้กับภาคอุตสาหกรรมของประเทศให้มีความแตกต่างกับประเทศในกลุ่ม AEC โดยประเทศที่ลงทุนในไทยสำคัญ ๆ ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อเมริกา จีน และเนเธอร์แลนด์
ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้รับมอบหมายจากกระทรวงอุตสาหกรรมให้เป็นหน่วยงานหลักในการประสานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศในเรื่องการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศผ่านการดำเนินโครงการต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่ปี 2555 โดยโครงการหนึ่งที่สำคัญในปี 2558 นี้ คือ การพัฒนาพื้นที่ประกอบการอุตสาหกรรม 4 แห่ง ภายใต้ 4 จังหวัด ได้แก่ สวนอุตสาหกรรมบางกะดี จังหวัดปทุมธานี สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ศรีราชา จังหวัดชลบุรี เขตประกอบการอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเขตประกอบการอุตสาหกรรมเหมราชสระบุรี จังหวัดสระบุรี ให้เข้าสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยสร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ประชาชนในเขตโดยรอบพื้นที่ประกอบการอุตสาหกรรม รวมถึงหน่วยงานราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
ดร.พสุ กล่าวต่อว่า การดำเนินงานการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศภายใต้โครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินงานที่ขยายผลต่อเนื่องจากปี 2557 ซึ่งประกอบไปด้วย การจัดทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม พร้อมทบทวนให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นและสอดคล้องตรงตามความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแต่ละพื้นที่ การสร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Network) ระหว่างผู้ประกอบการ หน่วยงานราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น และประชาชนในเขตพื้นที่โดยรอบเพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ นอกจากนี้มีการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมตามมาตรฐาน CSR-DIW ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม และส่งเสริมให้เข้าสู่การรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว รวมถึงการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมที่คำนึงถึงประสิทธิภาพการจัดการ โดยสามารถนำไปเพิ่มมูลค่าและใช้ประโยชน์ต่อได้
ทั้งนี้ที่ผ่านมาจากการที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ดำเนินโครงการดังกล่าวในพื้นที่ประกอบการอุตสาหกรรมเป้าหมายมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม เช่น เกิดความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในการเฝ้าระวังและป้องกันปัญหาจากการประกอบกิจการอุตสาหกรรม เกิดความโปร่งใสในการแก้ไขปัญหาและการจัดการเรื่องร้องเรียน ทำให้อัตราการร้องเรียนลดลง และดัชนีชี้วัดด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมบางรายการดีขึ้น อีกทั้งส่งผลให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน ที่สอดรับกับการประกอบกิจการโรงงานในอนาคต ซึ่งจะสร้างให้เกิดรายได้ในชุมชน และชุมชนเกิดความรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมในการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมนั้น
ด้วยความมุ่งมั่นของกรมโรงงานอุตสาหกรรมในการผลักดันเข้าสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ จึงได้ตั้งเป้าหมายที่จะผลักดันเขตอุตสาหกรรมทั้งหมด ให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยเบื้องต้นในปี 2561 จะพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศให้ได้ 10 แห่ง ซึ่งต้องผ่านเกณฑ์ตามกำหนด ใน 5 มิติ ได้แก่ ด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการ ดร.พสุ กล่าวสรุป
สำหรับผู้ประกอบการ ประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมโรงงานอุตสาหกรรม 1564 หรือ www.diw.go.th