กรมโรงงาน ชง 4 ยุทธศาสตร์เข้า ครม. ผุดมาตรการกำจัดกากอุตสาหกรรม ดู 6 พื้นที่ตั้งโรงงาน (18 ก.พ. 58)

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 18 กุมภาพันธ์ 2558
กรมโรงงาน ชง 4 ยุทธศาสตร์เข้า ครม. ผุดมาตรการกำจัดกากอุตสาหกรรม ดู 6 พื้นที่ตั้งโรงงาน

ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรมโรงงานฯได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การกำจัดกากขยะอุตสาหกรรมขึ้นมา ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ คือ 1.การควบคุมดูแล 2.สร้างความร่วมมือกับองค์กรในโครงการจากประเทศญี่ปุ่น 3.ตั้งเครือข่ายสนับสนุน 4.แก้ไขกฎหมายขยะอุตสาหกรรม ซึ่งได้ยื่นเสนอต่อรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากนั้นจะนำเข้าสู่ ครม. เพื่อทราบ

ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะอยู่ภายใต้กรอบ 5 ปี ซึ่งในระยะเวลา 5 ปีนั้นจะเห็นโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมจัดตั้งขึ้นใน 6 พื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งจะอยู่ในบริเวณที่มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก เช่น ภาคกลาง ภาคตะวันออก ส่วนภาคใต้ซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมไม่มากอาจตั้งโรงกำจัดขยะอุตสาหกรรมขนาดเล็กเพียง 1 แห่ง เป้าหมายภายใต้ยุทธศาสตร์นี้ เพื่อต้องการให้ขยะอุตสาหกรรมที่อยู่นอกระบบเข้ามากำจัดอย่างถูกวิธีในระบบมาตรฐาน ปัจจุบันขยะอุตสาหกรรมมีทั้งสิ้นประมาณ 54 ล้านตัน ภายใน 5 ปี ขยะอุตสาหกรรมจะต้องเข้าระบบให้ได้ 90-100%

"ขยะประมาณ 54 ล้านตันที่มี เป็นขยะประเภทอันตราย 3.35 ล้านตัน เข้าระบบกำจัดแล้ว 4.7 แสนตัน ขยะประเภทไม่อันตรายประมาณ 50.3 ล้านตัน เข้าระบบกำจัดแล้ว 12 ล้านตัน จะทยอยเข้าสู่ระบบอีกปีละกว่า 8 ล้านตัน 5 ปีจะเข้าระบบจนครบทั้งหมด

เดิมโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมมีจำนวน 3 แห่ง ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอต่อการกำจัดกากขยะอุตสาหกรรมในปัจจุบัน และด้วยการเซ็น MOU กับทางองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (เนโดะ) ประเทศญี่ปุ่น ในโครงการช่วยเหลือแบบให้เปล่าโดยมอบเตาเผาขยะมูลค่ากว่าพันล้านบาทให้กับไทย เพื่อต่อยอดในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากเตาที่มีกำลังการเผาขยะ 500 ตันต่อวัน ดังนั้น 4 ยุทธศาสตร์ที่ได้เสนอต่อ ครม. จะต้องเดินหน้าให้เห็นรูปธรรมในเร็ว ๆ นี้

ล่าสุด กรมโรงงานฯ เปิด "โครงการความปลอดภัย 2558" น้อมเกล้าฯ ถวายเป็นราชสักการะ ปีแห่งการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครบ 60 พรรษา เนื่องจากจากสถิติย้อนหลัง 10 ปีที่ผ่านมา (2549 -2557) พบว่าการเกิดอุบัติเหตุของโรงงานที่ใช้ก๊าซชีวภาพ (Bio Gas) และใช้หม้อต้มน้ำมันร้อน (Hot Oil) ที่มีจำนวนประมาณ 1,200 โรงงาน มีอุบัติภัยจากการผลิต การใช้ก๊าซชีวภาพและหม้อต้มน้ำมันร้อน ใน 3 ประเภท คือ การระเบิด การเกิดไฟไหม้ และการเสียชีวิตเนื่องจากพื้นที่อับอากาศ เกิดขึ้นรวม 16 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บรวม 33 คน มีคนเสียชีวิต 44 คน และทรัพย์สินเสียหายเป็นมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท

"โรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ก๊าซชีวภาพและหม้อต้มน้ำมันร้อนส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเกษตรและอาหาร ที่กระบวนเหล่านี้จะมีปริมาณกากของเสียจำนวนมาก ก่อให้เกิดก๊าซไข่เน่า ดังนั้นการควบคุมปริมาณกากของเสีย เช่น ต้องไม่เกิน 10-20% ซึ่งหากมีมากจนเกินไปจะทำให้เกิดอันตราย"

คาดว่าจะมีโรงงานร่วมกิจกรรมทั้งหมด 160 โรงงาน และบุคลากรที่เกี่ยวข้องถึง 1,060 คน และความสำเร็จของกิจกรรมดังกล่าวจะนำมาซึ่ง "มาตรฐานหลักเกณฑ์ และแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัย" ที่เป็นต้นแบบให้โรงงานอื่นๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในอนาคต โดยปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานที่ใช้ก๊าซชีวภาพ 336 โรงงาน และโรงงานที่ใช้หม้อต้มน้ำมันร้อน 856 โรงงาน มีหม้อต้มน้ำมันร้อนทั้งหมด 1,000 เครื่อง

โครงการดังกล่าวดำเนินการภายใต้สำนักเทคโนโลยีความปลอดภัย (สปภ.) สังกัด กรอ. ที่มีความพร้อมด้านบุคลากรชำนาญการ และมีเครือข่ายให้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เช่น เจ้าหน้าที่ของรัฐ บุคลากรในโรงงาน วิศวกรตรวจทดสอบ หน่วยงานวิชาชีพ เข้าร่วมรณรงค์ให้เกิดกิจกรรมความปลอดภัย โดยรายละเอียดการดำเนินงานตลอดปี ประกอบด้วย กิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ การจัดนิทรรศการ เผยแพร่องค์ความรู้ด้านความปลอดภัยของการใช้ก๊าซชีวภาพและหม้อต้มน้ำมันร้อน แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน เจ้าหน้าที่และประชาชนที่สนใจทั่วไป ได้ร่วมชมบอร์ดเฉลิมพระเกียรติ ภาพวิดิทัศน์ด้านความปลอดภัย คลินิกองค์ความรู้ก๊าซชีวภาพ ลุ้นกิจกรรมชิงรางวัล