หัวรถจักร "จีน" ตีตลาดไทย กวาดเรียบเค้กประมูลหมื่นล้าน (9 ม.ค. 58)

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 9 มกราคม 2558
หัวรถจักร "จีน" ตีตลาดไทย กวาดเรียบเค้กประมูลหมื่นล้าน

ปล่อยให้ผู้ผลิตจากประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกา ยึดหัวหาดธุรกิจระบบรถไฟในประเทศไทยมานับ 10 ปี ในที่สุดซัพพลายเออร์จากประเทศจีนสามารถเจาะตลาดไทยแลนด์ได้สำเร็จ 

จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อ 5 ปีก่อน จากการปฏิวัติของ "คีรี กาญจนพาสน์" เจ้าพ่อบีทีเอส ลุกขึ้นมาเปลี่ยนยี่ห้อรถใหม่ พลิกแคแร็กเตอร์จากแบรนด์ยุโรป "ซีเมนส์" จากประเทศเยอรมนีมาเป็นรถจีน 

โดยสั่งผลิตจาก "บริษัท ฉางชุน เรลเวย์ เวฮิเคิลส์ จำกัด" ในกลุ่มบริษัท CNR ซื้อลอตแรก 12 ขบวน มูลค่า 2,300 ล้านบาท จากนั้นทยอยซื้ออีกหลายขบวน แต่เป็นรุ่นใช้อะไหล่จากยุโรปมาประกอบที่โรงงานจีน 

"เลือกรถจีนเพราะต้นทุนถูกกว่า 10-20% เนื่องจากค่าแรงที่จีนจะต่ำกว่ายุโรป ส่วนคุณภาพอยู่ที่เลือกมากกว่า มีหลายเกรด ส่วนใหญ่อะไหล่จะเกรดเดียวกับยุโรปแล้วประกอบที่โรงงานจีน เช่น ต้าเหลียน "คำอธิบายจาก" สุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือบีทีเอสซี  

จากวันนั้นถึงวันนี้ ล่าสุด "จีน" ได้ขยับขยายตลาดรุกเข้าไปเจาะโครงการของ "ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย" กำลังมีคิวจัดซื้อ "หัวรถจักร-รถโดยสาร-โบกี้บรรทุกสินค้า" ลอตใหญ่ คิดเป็นมูลค่าร่วม 14,022 ล้านบาท หลังว่างเว้นการซื้อหัวรถจักรและรถใหม่มานานร่วม 20-30 ปี 

เจ้าแรกที่บุกเบิกตลาดสำเร็จ คือ ผู้ผลิตจีนตอนใต้ "บริษัท CSR Qishuya" ที่คว้างาน "จัดซื้อหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า" จำนวน 20 คัน พร้อมอะไหล่วงเงิน 2,020 ล้านบาท มี "บริษัท ป่าไม้สันติ จำกัด" เป็นผู้แทนการขาย ขณะนี้หัวรถจักรลอตแรก 2 คันมาถึงไทยแล้วเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2558 อยู่ระหว่างทดสอบวิ่ง พร้อมเปิดตัววันที่ 22 มกราคมนี้ จากนั้นนำมาลากจูงรถขนส่งสินค้าสายอีสานและสายเหนือมายังท่าเรือแหลมฉบัง และนับเป็นครั้งแรก "ร.ฟ.ท." ซื้อหัวรถจักรจากจีน จากเดิมจะซื้อจากยุโรป "อเมริกา-เยอรมนี-ฝรั่งเศส" 

ถัดมาเป็น "บริษัท ฉางชุน เรลเวย์ เวฮิเคิลส์ จำกัด" ในกลุ่ม CNR เจ้าเดียวกับที่ผลิตรถไฟฟ้าให้บีทีเอสที่ซิวเค้ก "รถโดยสารรุ่นใหม่" จำนวน 115 คัน วงเงิน 4,668 ล้านบาท และเพิ่งจะเซ็นสัญญาไปหมาด ๆ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2557 โดยซื้อผ่านกลุ่มบริษัท เขาหลักแบมบู ออร์คิด จำกัด บริษัท ร่วมมิตรเหมืองแร่ จำกัดและบริษัท ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น จำกัด มีกำหนดส่งมอบ 2 ชุดแรก จำนวน 26 ตู้ (ชุดละ 13 ตู้) ในเดือนกันยายนนี้

ที่รอลุ้นมี "ซื้อโบกี้บรรทุกสินค้า" จำนวน 308 คัน พร้อมอะไหล่ วงเงิน 770 ล้านบาท อยู่ระหว่างตรวจสอบร่างสัญญาซื้อขายของผู้ชนะที่เป็นกลุ่มจากประเทศจีนเช่นกัน มีบริษัท สยามโบกี้ จำกัด เป็นผู้แทนจากไทยเป็นผู้จัดหาให้ ร.ฟ.ท.

อีกโครงการ "จัดซื้อหัวรถจักรจีอี" จำนวน 50 คัน วงเงิน 6,562 ล้านบาท อยู่ระหว่างปรับปรุงร่างทีโออาร์ คาดว่าอีก 1-2 เดือนนี้จะเปิดประมูล และมีแนวโน้มสูงที่ผลิตจากจีนจะชนะประมูล อยู่ที่ว่าจะเป็นโรงงานไหนเท่านั้นเอง 

แหล่งข่าวจากการรถไฟฯ กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จีนสามารถชนะประมูลซื้อหัวรถจักรและล้อเลื่อนของการรถไฟฯได้หลายโครงการ เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตถูกกว่าประเทศยุโรปอย่างน้อย 30-50% เช่น หัวรถจักรราคาเฉลี่ยอยู่ที่คันละ 100-110 ล้านบาท อีกทั้งปัจจุบันจีนมีการพัฒนาเทคโนโลยีทันสมัยมากขึ้น หลังได้รับการถ่ายทอดจากประเทศยุโรปพร้อมกับได้รับไลเซนส์การผลิต

"ไม่ว่าจะกำหนดสเป็กแบบไหน โรงงานจีนซึ่งเป็นผู้ซื้อรายใหญ่จากการผลิตจำนวนมาก ก็สามารถสั่งซื้ออุปกรณ์สำคัญมาประกอบได้ตามข้อกำหนดในทีโออาร์ และหัวรถจักรวิ่งบนราง 1 เมตรที่ไทยสั่งซื้อ ทางยุโรปไม่มีใครผลิตแล้ว ส่วนใหญ่หันไปพัฒนารางมาตรฐาน 1.435 เมตร ที่สำคัญสู้ต้นทุนของจีนไม่ไหวด้วย"

เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ทัพสินค้าจากจีนจะตีตลาดไทยสำเร็จแค่ไหน จะเข้าทำนอง "ของถูกไม่มีดี ของดีไม่มีถูก" อย่างที่เขาว่าเปรียบเปรยกันไว้หรือไม่ คงได้รู้กันในเร็ววันนี้