พลิกปมข่าว: อนาคตไตรภาคี อนาคตโรงไฟฟ้า (20 ก.ย. 59)

Thai PBS 20 กันยายน 2559
พลิกปมข่าว : อนาคตไตรภาคี อนาคตโรงไฟฟ้า

คณะกรรมการไตรภาคีศึกษาโครงการสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่อาจได้ข้อสรุปที่ไม่มีความสมบูรณ์ เพราะยังขาดความเห็นจากภาคประชาชน หลังอนุกรรมการที่ศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นตัวแทนจากนักวิชาการและประชาชนได้ยื่นใบลาออกแล้ว

รัฐบาลยังไม่ได้เดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ที่ประกอบด้วย คณะกรรมการไตรภาคี โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ ที่มีอยู่ด้วยกัน 3 ชุด คือ ชุดพิจารณา EIA /EHIA ชุดพลังงานทางเลือก และชุดคณะกรรมการการมีส่วนร่วมชุมชน แต่ดูเหมือนว่า 1 ในคณะอนุกรรมการ ที่เป็นตัวแทนจากภาคประชาชน จะยื่นหนังสือลาออก

ที่สำคัญอนุกรรมการที่ยื่นหนังสือชี้แจงกรณีลาออกต่อทำเนียบรัฐบาล คือ คณะอนุกรรมการที่พิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA และสุขภาพ EHIA ด้วย

เหตุผลหลักๆ คือออกมา เพราะคิดว่ากำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อให้โครงการนี้ผ่านไปอย่างชอบธรรม แต่หากถามว่าใครจะคัดค้านต่อ อาจจะตอบได้ว่า เป็นการเปลี่ยนบทบาทจากการคัดค้านในหน้าที่อนุกรรมการ ออกมาคัดค้านข้างนอกแทน แต่หากเรื่องนี้ยังเดินต่อหน้าต่อได้ ที่แน่ๆ คือ ยังไงก็ยังขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน

หากดูภาพรวมของคณะกรรมไตรภาคีชุดนี้ถูกแต่งตั้งโดย นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2558 มีคณะกรรมชุดใหญ่ 29 คน และมี พล.อ.สกลธ์ สัจจานิตย์ เป็นประธานคณะกรรมการไตรภาคี นอกจากนี้ยังได้แต่งตั้ง คณะอนุกรรมการขึ้นอีก 4 คณะ คือ คณะอนุกรรมการที่ศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม พลังงานทางเลือก การรับฟังความคิดเห็น และฝ่ายเลขานุการ

แต่ที่เป็นประเด็นตอนนี้ คือ อนุกรรมการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA และ EHIA ซึ่งเดิมมีอยู่ทั้งหมด 31 คน แต่ขอลาออก 9 คน ทั้ง 9 คน เป็นตัวแทนจากนักวิชาการ และประชาชน

มีคำถามว่า หลังจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง คำตอบคือ อนุกรรมการชุดที่ 1 ไม่สามารถทำงานต่อได้เพราะไม่ครบองค์ประชุม แต่ไม่ได้หมายความว่า คณะกรรมการชุดใหญ่ จะต้องหยุดด้วย แต่ผลที่ออกมา แน่นอนว่าไม่ใช่ข้อสรุปที่สมบูรณ์เพราะยังขาดความเห็นจากภาคประชาชน

ผ่านมากว่า 9 เดือน ที่นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพราะเห็นว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ยังมีความเคลื่อนไหวต่อโครงการนี้ ขณะที่การประชุมใหญ่แต่ละครั้ง ก็ไม่เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้เสนอข้อมูลจากพื้นที่ นี่จึงเป็นที่มาของความไม่วางใจในบทบาทของรัฐบาล

เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา การประชุมคณะกรรมการไตรภาคี ศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ครั้งที่ 6 ยุติลงอย่างไม่มีเหตุผล หลังพลเอกสกลธ์ สัจจานิตย์ ประธานคณะกรรมการไตรภาคี สั่งให้เลิกการประชุม

อนุกรรมการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตัวแทนภาคประชาชน ชี้แจงว่า การประชุมเป็นการแจกแบบสอบถามให้อนุกรรมการ ที่ระบุเพียงคำถามเดียวว่า “ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน” โดยอ้างว่า ต้องสรุปความคืบหน้า ส่งต่อให้นายกรัฐมนตรี ทำให้เกิดข้อสงสัย และความไม่ไว้วางใจกับภาคประชาชน ก่อนจะสั่งยกเลิกการประชุม และให้เหตุผลว่า มีเวลาไม่มากพอ ที่จะรอฟังสรุป จากอนุกรรมการทั้ง 3 ชุด

และหลายครั้งที่ผ่านมา ไม่ได้เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนนำเสนอข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงจากพื้นที่ มีเพียงการนำเสนอข้อมูลของ กฟผ. ที่ชี้แจงข้อท้วงติง ของคณะกรรมการชำนาญการ 150 ข้อ ที่ถูกตีกลับไปให้ กฟผ. แก้ไขรายงาน EIA เท่านั้น

อนุกรรมบางส่วน ตั้งข้อสังเกตว่า การตั้งคณะกรรมการไตรภาคี โดยมีตัวแทนของประชาชน ถูกนำมาเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้โครงการเดินหน้าต่อไป นี่คือเหตุผลหลักที่อนุกรรมการทั้ง 3 ชุด ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อชี้แจงการลาออก

นอกจากเหตุผลการยุติการประชุมครั้งนี้ ยังมีปมปัญหาอื่นที่เป็นเหตุผลของการลาออก

-เริ่มตั้งแต่ คณะอนุกรรมการชุดที่ 1 ที่พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลาออก เพราะการพิจารณาไม่ถูกต้องตามหลักการประเมินและกฎหมาย

-ต่อมาคือ รายงานฉบับนี้ ขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนตั้งแต่ต้น ขณะที่ คณะอนุกรรมการชุดที่ 3 ไม่สามารถทำหน้าที่รับฟังความเห็นของประชาชนได้ เพราะถูกปิดกั้นบทบาท

-อนุกรรมการชุดที่ 2 ทำหน้าพิจารณาการทำพลังงานหมุนเวียน มีความเห็นตรงกัน 3 ฝ่ายว่า กระบี่ มีศักยภาพเกินพอที่จะผลิตพลังงานหมุนเวียน แต่ กฟผ.ยืนยันว่ายังต้องมีโรงไฟฟ้าหลักควบคู่ไปด้วย
มีหลายประเด็นของการหารือ ที่ทำให้เห็นว่า ประธานคณะกรรมการไตรภาคีไม่ได้ทำข้อตกลงร่วม เช่น เรื่องการรายงานข้อมูล ต่อนายกรัฐมนตรี จึงเห็นว่า ควรที่จะผ่านมติคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นในกระบวนการทำงาน

แม้การเดินหน้าของคณะกรรมไตรภาคี จะสะท้อนภาพกระบวนการศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ที่ล้มเหลว แต่การยุติลงชั่วคราวของโครงการทำให้เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินมีความหวังในการพิสูนจ์ในเวลา 3 ปี และกลายเป็นหนึ่งในข้อเสนอ ที่คณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ ร้องถึงต่อนายกรัฐมนตรี โดยหวังให้แนวทางนี้เกิดขึ้นจริง ภายใต้นโยบายและสายส่งของรัฐ รวมถึงการเสนอให้รัฐบาลสั่งให้ กฟผ. ยุติการล่ารายชื่อสนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน หากการทำงานของคณะกรรมการไตรภาคี ยังไม่แล้วเสร็จ