ครั้งแรก! ฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ฟ้องกลับคดีเรียกค่าเสียหาย หลังถูกบริษัทเหมืองฟ้องแพ่ง-อาญามากว่า 10 คดี (12 ก.ย. 59)
Citizen Thai PBS 12 กันยายน 2559
ครั้งแรก! ฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ฟ้องกลับคดีเรียกค่าเสียหาย หลังถูกบริษัทเหมืองฟ้องแพ่ง-อาญามากว่า 10 คดี
กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเมืองเลย เดินหน้าฟ้องกลับบริษัทเหมืองทองฟ้องคดีสร้างความเสียหาย หลังศาลพิพากษายกฟ้องคดีป้าย ‘หมู่บ้านนี้ไม่เอาเหมือง’ และ ‘ปิดเหมืองฟื้นฟู’ ครั้งแรกที่ชาวบ้านฟ้องกลับหลังจากถูกบริษัทฟ้องทั้งคดีแพ่งและอาญามากว่า 10 คดี
12 ก.ย. 2559 เวลา 09.00 น. ที่ศาลจังหวัดเลย ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ประมาณ 30 คน เดินทางเข้าร่วมฟังการพิจารณานัดไต่สวนคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล ในคดีฟ้องกลับบริษัททุ่งคำ จำกัด จากกรณีที่ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ 6 คน ประกอบด้วยนายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์, นางวิรอน รุจิไชยวัฒน์, นายกองลัย ภักมี, นายสมัย ภักดิมี, นางพรทิพย์ หงส์ชัย และนางมล คุณนา ถูกบริษัททุ่งคำ จำกัด ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท จากการทำป้าย ‘หมู่บ้านนี้ไม่เอาเหมือง’ และ ‘ปิดเหมืองฟื้นฟู’ ซึ่งศาลมีคำพิพากษายกฟ้องคดี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคดีฟ้องกลับดังกล่าว ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 27 พ.ค.59 เรียกค่าเสียหายจากบริษัททุ่งคำ จำกัดที่ทำให้ชาวบ้านเสียชื่อเสียงและเสียเวลา รวมค่าเสียหายกว่า 3 ล้านบาท (คลิกอ่านข่าว: ‘ฅนรักษ์บ้านเกิด’ ฟ้องกลับเรียกค่าเสียหาย 3 ล้าน คดีเหมืองทองฟ้อง 50 ล้าน ติดป้าย ‘ไม่เอาเหมือง’) และวันนี้ (12 ก.ย. 2559) ศาลนัดไต่สวนคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียม เนื่องจากโจทก์ทั้ง 6 ประสงค์ที่จะดำเนินคดีโดยขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล ก่อนที่จะมีการสืบพยานโจทก์และจำเลย
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ศาลใช้เวลาไต่สวนคดีในช่วงเช้า ต่อมาเวลา 13.00 น. ทนายความของกลุ่มชาวบ้านได้สรุปคดีในวันนี้ว่า การไต่สวนได้มีการเบิกความสืบพยานโจทก์ 1 คน คือนายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ แต่การซักถามยังไม่แล้วเสร็จยัง ทนายจำเลยยังไม่ได้ถามค้าน ศาลให้เลื่อนไปเป็นวันที่ 14 พ.ย. 2559 ในช่วงเช้า
ส.รัตนมณี พลกล้า หนึ่งในทีมทนายความของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ อธิบายว่า เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหาย ซึ่งโจทก์คือกลุ่มชาวบ้านต้องวางทุนทรัพย์ในอัตราร้อยละ 2 (ทุนทรัพย์ที่เรียกร้องเกิน 300,000 แต่ไม่เกิน 50 ล้านบาท) ซึ่งชาวบ้านไม่มีกำลังฟ้อง จึงต้องมีการยื่นคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียม และโจทก์ทั้ง 6 คนต้องเบิกความต่อศาล และรอให้การไต่สวนแล้วเสร็จ ศาลจึงจะมีคำสั่งต่อไป
ทั้งนี้ คำฟ้องของชาวบ้าน 6 คน ซึ่งเปลี่ยนสถานะจากการเป็นจำเลยสู่การเป็นโจทก์ฟ้องร้องดำเนินคดีกับบริษัทฯ ระบุว่า เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2558 จำเลยได้นำคดีมาฟ้องโจทก์ทั้ง 6 ต่อศาลจังหวัดเลย เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 574/2558 อ้างว่าโจทก์ทั้ง 6 ร่วมกันก่อสร้างซุ้มประตูทางเข้าหมู่บ้านนาหนองบง ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย มีข้อความว่า ‘หมู่บ้านนี้ไม่เอาเหมือง’ และมีการติดตั้งป้ายประกาศขนาดเล็กอีกหลายป้าย ตลอดถนนทางเข้าหมู่บ้าน โดยมีข้อความลักษณะข้อความที่ว่า ‘ปิดเหมืองฟื้นฟู’ อันเป็นการทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย โดยอ้างว่าเนื่องจากจำเลยเป็นบริษัทที่มีการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ การกระทำของโจทก์ทั้ง 6 ตามฟ้องในคดีดังกล่าวซึ่งส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของจำเลย ข้อเรียกร้องให้โจทก์ทั้งหกชดใช้เงินแก่จำเลยเป็นเงิน 50 ล้านบาท
ต่อมาเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2559 ศาลจังหวัดเลยได้มีคำพิพากษายกฟ้องในคดีดังกล่าว โดยวินิจฉัยว่า การกระทำของชาวบ้านดังกล่าวไม่มีกรณีปิดล้อมเหมือง ขัดขวางดำเนินกิจการโดยชอบของโจทก์ แต่กลับเป็นเพียงข้อเรียกร้องการแก้ใขปัญหา จึงเป็นการแสดงความคิดเห็นและเสนอความเห็นไปยังหน่วยงานราชการที่ไม่เกี่ยวข้อง ที่มีอำนาจแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนหมู่บ้านของตน นับได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ เป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริต จึงไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และไม่เป็นการละเมิดโจทก์
ดังนั้น การที่จำเลยฟ้องคดีดังกล่าวต่อโจทก์ทั้ง 6 ทั้ง ๆ ที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าโจทก์ทั้งหกและกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ได้ใช้สิทธิในการเรียกร้องหรือร้องเรียนต่อหน่วยงาน หาได้มุ่งหมายให้จำเลยเกิดความเสียหายตามฟ้องในคดีดังกล่าวแต่อย่างใดไม่ แต่จำเลยกลับนำความมาฟ้องโจทก์ทั้ง 6 เป็นคดีต่อศาล อันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและมีความมุ่งหมาย หรือเจตนาที่จะให้โจทก์ทั้ง 6 ได้รับความเสียหาย อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้ง 6 รายละเอียดปรากฎตามคำพิพากษา คดีแพ่งหมายเลขดำที่ 574/2558 เลขแดงที่ 261/2559 ของศาลจังหวัดเลย ลงวันที่ 30 มี.ค. 2559 เอกสารคำฟ้องหมายเลข 5
ตามสำนวนการฟ้องคดีโดยใช้สิทธิไม่สุจริตของจำเลยดังกล่าว เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้ง 6 ทำให้โจทก์ทั้ง 6 ได้รับความเสียหาย ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งหก เพราะฉนั้นขอศาลออกหมายเรียกตัวจำเลยมาพิจารณาพิพากษาและบังคับจำเลยตามคำขอต่อไปนี้ 1.ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ทั้งหมดจำนวน 3,184,664.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินต้น 2,945,000 บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ทั้ง 6 2.ให้จำเลยชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมศาลและค่าทนายความแทนโจทก์ทั้ง 6
ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ฟ้องกลับบริษัททุ่งคำ จำกัด เพราะที่ผ่านมาบริษัททุ่งคำ ได้ฟ้องร้องทั้งคดีแพ่งและอาญาต่อชาวบ้านหลายสิบคดี ซึ่งส่วนใหญ่เสมือนเป็นคดีกลั่นแกล้ง หรือแกล้งฟ้องให้เสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย เสียความรู้สึก เสียพลังใจ การที่ชาวบ้านฟ้องกลับย่อมมีความหมายที่สำคัญ ในเรื่องสิทธิโดยสุจริตใจของชาวบ้าน ในการปกป้องรักษาทรัพยากรบ้านเกิด