เทรนด์พลังงานหมุนเวียนทั่วโลกคึกคัก 16 ชาติผลิตไฟฟ้าถูกกว่าถ่านหิน ‘ไทย’ (8 ก.ย. 59)
Green News TV 8 กันยายน 2559
เทรนด์พลังงานหมุนเวียนทั่วโลกคึกคัก 16 ชาติผลิตไฟฟ้าถูกกว่าถ่านหิน ‘ไทย’
เทรนด์พลังงานหมุนเวียนโลกคึกคัก ต้นทุน 16 ชาติ ผลิตไฟฟ้าถูกกว่าถ่านหินไทย ‘SPCG’ คาด อีก 20 ปี ไทยสามารถผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ได้ถึง 2 หมื่นเมกะวัตต์
นายศุภกิจ นันทะวรการ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ กล่าวในเวทีเสวนาหัวข้อ “อนาคตพลังงานหมุนเวียนไทยกับทิศทางพลังงานภูมิภาคอาเซียน” ซึ่งจัดขึ้นโดยชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 6 ก.ย.2559 ตอนหนึ่งว่า อัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทยในปัจจุบันอยู่ที่หน่วยละ 3.75 บาท ขณะที่ราคาพลังงานทดแทนใน 16 ประเทศทั่วโลก อยู่ที่ 1.10-3.50 บาท นั่นหมายความว่าพลังงานหลักที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีราคาแพงกว่าพลังงานทดแทนแล้ว
นายศุภกิจ กล่าวว่า จากข้อมูลราคาพลังงานทดแทนใน 16 ประเทศทั่วโลก พบว่าปัจจุบันราคาพลังงานแสงอาทิตย์เฉลี่ยอยู่ที่หน่วยละ 1.70-3.30 บาท พลังงานลมอยู่ที่หน่วยละ 1.10-3.50 บาท ฉะนั้นหากประเทศไทยเปิดให้มีการแข่งขันทางการค้า เชื่อว่าต้นทุนจะถูกกว่าพลังงานถ่านหินที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
สำหรับนโยบายการรับซื้อพลังงานแสดงอาทิตย์ในประเทศไทยตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ส่วนตัวมองว่าเข้าข่ายการคอร์รัปชั่นรูปแบบหนึ่ง คือ 1.มีการกำหนดปริมาณรับซื้อเฉพาะและเปิดเป็นรอบๆ โดยไม่เปิดแบบเสรี ทำให้จำนวนการรับซื้อพลังงานทดแทนไม่มีความแน่นอน 2.ราคารับซื้อถูกกำหนดโดยฝ่ายการเมือง และไม่เปิดให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าไปมีส่วนร่วมพิจารณาราคากลาง 3.การอนุมัติโครงการต่างๆ ยังคงมีความล่าช้าในการพัฒนาทางธุรกิจ
นายศุภกิจ กล่าวอีกว่า แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2558-2579 (พีดีพี 2015) กำหนดให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมอีกไม่ต่ำกว่า 25 แห่ง ซึ่งจะส่งผลให้ต้องปรับเพิ่มอัตราค่าไฟฟ้าจากปัจจุบันหน่วยละ 3.75 บาท เป็นหน่วยละ 5.26 บาท
“เหตุผลที่จะสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม เนื่องจากว่าที่ผ่านมาไทยมีการทำลายสถิติการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงสุด (พีค) หลายครั้ง โดยมีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่ 29,619 เมกะวัตต์ แต่หากเทียบกับกำลังผลิตไฟฟ้าสูงสุดของประเทศที่สามารถรองรับได้ถึง 40,932 เมกะวัตต์ เท่ากับว่ามีค่าส่วนต่างถึง 11,313 เมกะวัตต์ ฉะนั้นจึงมองว่าไทยยังมีกำลังผลิตไฟฟ้าที่เพียงพอ” นายศุภกิจ กล่าว
นางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้พัฒนาธุรกิจพลังงานหมุนเวียนรายแรกในประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้การผลิตพลังงานจากโซลาร์เซลล์กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยประเทศไทยสามารถผลิตได้ถึงปีละ 3,000 เมกะวัตต์ ใกล้เคียงกับประเทศอังกฤษ
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังติด 1 ใน 10 ของโลกที่มีการพัฒนาเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ดีที่สุด จนถูกยกให้เป็นผู้นำด้านโซลาร์เซลล์ในอาเซียน คาดว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า จะสามารถผลิตได้ถึงปีละกว่า 2 หมื่นเมกะวัตต์ เพราะอนาคตจะเป็นยุคของพลังงานหมุนเวียน และต้องเป็นโจทย์การใช้พลังงานของประเทศอย่างเห็นได้ชัด
“ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการพัฒนาความรู้ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้เอง หรือเรียกว่าโซลาร์รูฟท็อป ซึ่งนำไปสู่การพึ่งพาตนเองของประชาชน และเชื่อมั่นว่าแนวทางการพัฒนาการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะช่วยสร้างงานสร้างรายได้ในชนบท เป็นพลังงานที่ยั่งยืนและมั่นคงแก่ประเทศในอนาคต” นางวันดี กล่าว
ด้าน นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า แม้พลังงานหมุนเวียนจะเติบโตเร็วมากในอาเซียน แต่พลังงานฟอสซิลยังคงมีสัดส่วนการใช้ที่มากเช่นกัน ทั้งนี้ จากแผนความร่วมมือด้านพลังงานหมุนเวียนในอาเซียน ที่มีแนวโน้มการประหยัดพลังงานในทางที่ดีขึ้น โดยประเทศไทยนับเป็นเสาหลักในการดำเนินการเรื่องดังกล่าว หน่วยงานองค์กรต่างๆ ของไทยจึงควรพัฒนาเรื่องพลังงานหมุนเวียนให้เกิดการขยายตัวในอาเซียนด้วย