ศาลพิพากษา ‘กะเหรี่ยง’ บุกรุกแก่งกระจาน ‘ชัยวัฒน์’ มีอำนาจเผา (7 ก.ย. 59)

Green News TV 7 กันยายน 2559
ศาลพิพากษา ‘กะเหรี่ยง’ บุกรุกแก่งกระจาน ‘ชัยวัฒน์’ มีอำนาจเผา

ศาลปกครองกลางพิพากษาเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เผาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอยโดยชอบ ระบุ “ชัยวัฒน์” ไล่รื้อตามกฎหมาย สั่งให้ชดเชยเหยื่อรายละ 1 หมื่นบาท ด้านชาวบ้านเตรียมอุทธรณ์คดี

เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2559 ศาลปกครองกลางได้พิพากษาคดีที่ นายโคอิ หรือปู่คออี้ มีมิ อายุ 105 ปี ผู้นำทางจิตวิญญาณชาวกะเหรี่ยง พร้อมพวกรวม 6 คน ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กรณีนำกำลังเข้าไปเผาบ้านและยุ้งฉางของชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยบน  ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เมื่อเดือน พ.ค.2554 โดยพิพากษาว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่ใช่ชุมชนดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง และการไล่รื้อของเจ้าหน้าที่นั้นเป็นไปตามกฎหมาย

ทั้งนี้ ศาลได้พิจารณาว่าที่ดินแปลงเกิดเหตุนั้นมีการบุกรุกแผ้วถางป่า ในลักษณะการเปิดป่าดงดิบเพื่อใช้เพาะปลูกเป็นแปลงใหม่ ไม่ใช่แปลงที่ดินทำกินในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่ทางราชการจัดสรรไว้ให้ ดังนั้นการที่ผู้บุกรุกก่อสร้างเพิงพัก ที่อยู่อาศัย หรือยุ้งฉางบนที่ดินดังกล่าว จึงเป็นการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ไม่อาจเรียกร้องตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2553 เรื่องฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงได้ นอกจากนั้นยังมีการล่าสัตว์ซึ่งเป็นการทำผิดตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504

อย่างไรก็ตาม ต่อมาเมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจพบการกระทำผิดจึงทำการเจรจา และกำหนดเวลาให้รื้อถอนพร้อมเก็บทรัพย์สินออกจากที่ดินดังกล่าว แต่หลังพ้นกำหนดเวลาแล้วยังไม่ได้ดำเนินการ คณะเจ้าหน้าที่ย่อมมีอำนาจที่จะรื้อถอนหรือเผาทำลายได้ และการเผาสิ่งปลูกสร้างก็เพื่อไม่ให้ผู้บุกรุกนำไปใช้ก่อสร้างขึ้นใหม่ได้อีก จึงถือเป็นการใช้อำนาจโดยชอบของพนักงานและเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 22 ของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 โดยไม่อาจถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ประมาทเลินเล่อ ที่ อส.จะต้องรับผิดชอบชดใช้แต่อย่างใด

สำหรับสิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือน และสิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวที่อยู่ในเพิงพักและถูกเผาไปนั้น เนื่องจากเป็นสิ่งของจำเป็น และไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมายหรือสิ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 การที่เจ้าหน้าที่ทำการเผาโดยไม่เก็บรวบรวมทรัพย์สินดังกล่าวออกมารักษาไว้ เพื่อประกาศให้เจ้าของมารับคืนในภายหลังนั้น ถือได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย  อส.จึงต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 เป็นเงินคนละ 10,000 บาท ภายใน 30 วันนับแต่คดีถึงที่สุด

ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษา นายโคอิ และตัวแทนชาวกะเหรี่ยง ต่างยืนยันกับผู้สื่อข่าวว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นชุมชนดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง และเป็นที่ดินบรรพบุรุษ ไม่ใช่ที่ดินที่มีการบุกรุกใหม่แต่อย่างใด แต่เจ้าหน้าที่เข้าใจผิดว่าการทำไร่หมุนเวียนตามภูมิปัญญาของชาวกะเหรี่ยงเป็นการบุกรุกพื้นที่ป่า โดยหากจะให้ไปสาบานที่ใดก็ยินดีที่จะไป และไม่คิดละเมิดคำสั่งศาล

ขณะที่ นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ยืนยันว่าที่ผ่านมาทำงานตามหน้าที่ไม่เคยคิดกลั่นแกล้งใคร ซึ่งการตัดสินของศาลปกครองในครั้งนี้ถือเป็นกำลังใจในการทำงานมากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อข้าราชการทำในสิ่งที่ถูกต้องโดยไม่ละเมิดหรือละเว้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถทำได้ และเชื่อว่าการตัดสินครั้งนี้จะทำให้ข้าราชการลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าได้มากขึ้น โดยจะยึดเอาคำตัดสินของศาลปกครองกลางเป็นแนวทางปฏิบัติในการทำงานต่อไป

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวยังรายงานอีกว่า ภายหลังรับฟังคำตัดสิน ชาวกระเหรี่ยงกลุ่มดังกล่าวยังได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในกรณีการขึ้นทะเบียนมรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจาน โดยมีนางอังคณา นีละไพจิตร เป็นผู้รับเรื่องร้องเรียน พร้อมเตรียมที่จะอุทธรณ์คดีดังกล่าวต่อไป

ภาพโดย: Pratch Rujivanarom