อุดรฯเปิดเวทีอีไอเอ “อพิโก้” เจาะก๊าซเพิ่มอีก 2 แต่ 2 หลุมเก่ายังนิ่ง โวยการมีส่วนร่วมบกพร่อง (8 ก.ย. 59)

มติชนออนไลน์ 8 กันยายน 2559
อุดรฯเปิดเวทีอีไอเอ “อพิโก้” เจาะก๊าซเพิ่มอีก 2 แต่ 2 หลุมเก่ายังนิ่ง โวยการมีส่วนร่วมบกพร่อง

วันที่ 8 กันยายน เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุมโรงแรมประจักษ์ตราดีไซน์ ทน.อุดรธานี นายสมหวัง พ่วงบางโพ รอง ผวจ.อุดรธานี เป็นประธานเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ.) โครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียมบนบก แปลงสำรวจ L15/43 จำนวน 2 หลุม คือ NPH-B บ.นาแค ทต.ยางชุม อ.กุดจับ และ NPH-Cบ.หนองโอน ต.เชียงพิณ อ.เมือง ของ บ.อพิโก้ (โคราช) จก. ทั้งที่ก่อนหน้าเจาะพบก๊าซที่หลุม บ.นาเหล่า ต.หนองกุงศรี อ.โนนสะอาด ปริมาณสำรอง 160 บีซีเอฟ. และสร้างฐานเจาะที่ บ.หนองบึงมอ ทต.เชียงเพ็ง อ.กุดจับ แต่ยังไม่มีแผนจะลงทุนต่อทั้ง 2 หลุม โดยงานนี้มีนายศิวเรศ ธรรมวิเศษ พลังงานจังหวัดอุดรธานี นำตัวแทนจากหลายภาคส่วน รวมถึงประชาชนทั่วไปและสื่อมวลชน กว่า 100 คน เข้าร่วมรับฟังคำชี้แจงจากนายกิตติพงษ์ ใสสะอาด วิศวกรตัวแทน บ.อพิโก้(โคราช) จก. และนักวิชาการจาก บ.วิชั่น อี คอนซัลแทนท์ จก.

ตัวแทนจาก 2 บริษัทได้ชี้แจงว่า หลุมเจาะสำรวจทั้ง 2 หลุม อยู่ในที่ดินเอกชนใกล้เคียงกัน ได้ศึกษาเพื่อทำรายงานในรัศมี 5 กม. พื้นที่อำเภอเมือง , กุดจับ และหนองวัว ครอบคลุม 6 ทต. และ 4 ตำบล 4 ขุมชน 53 หมู่บ้าน ลำดับความสำคัญเป็นรัศมี 1 กม. 2 กม. และ 5 กม. โดยจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว 1 ครั้ง ประชาชนเป็นห่วงเรื่องแหล่งน้ำ โดยเฉพาะฐานเจาะ NPH-B บ.นาแค อยู่ใกล้กับลำห้วยหลวง และลำห้วยแล้ง มีสภาพน้ำท่วมทุกปีสูงสุด 2 เมตร จึงยกฐานเจาะขึ้นสูง 3 เมตร ส่วนหลุมเจาะ NPH-C บ.หนองโอน ไม่มีน้ำท่วมถมฐานเจาะสูง 50 ซม. และทำแนวกันเสียงเพิ่มเติม แม้เสียงไม่เกิน 70 เดสิเบล

“ช่วงการปรับเตรียมพื้นที่ จะไม่มีการสร้างแคมป์คนงาน กลางคืนจะไม่มีการทำงาน 2-3 เดือน , ช่วงเจาะสำรวจภายในพื้นที่ฐานเจาะ และไซด์งาน และจะยกสูงหนีน้ำท่วม มีบ่อปนเปื้อน-บ่อน้ำไหลนอง-บ่อรับน้ำ และคันดินกันน้ำไหลบ่าเข้าพื้นที่ 2-3 เดือน , การทำสอบปริมาณก๊าซ ด้วยการจุดไฟเผาก๊าซทิ้ง คาดว่าเป็นก๊าซมีเทน 96.5 เปอร์เซนต์ 1-4 สัปดาห์  , ปิดฐานเจาะหากไม่พบก๊าซมากพอ 1-2 เดือน , หากพบก๊าซมากพอจะต้องมาศึกษา อีไอเอ. การนำก๊าซขึ้นมาใช้อีกครั้ง จะใช้วิธีวางท่อ หรือนำรถมาขนไป ทุกขั้นตอนมีระบบตรวจสอบ และป้องกันผลกระทบมาตรฐาน” 2 บริษัทแจง

ในส่วนภาคราชการสาธารณสุข จ.อุดรธานี ชี้ว่ายังมีความเป็นห่วงเรื่องสารเคมี ที่จะไปปนเปื้อนในแหล่งน้ำใต้ดิน-ผิวดิน อยากให้ผู้ศึกษาลงไปในรายละเอียด เรื่องข้อมูลสุขภาพอนามัยของประชาชน ในพื้นที่แบบเป็นรายบุคคล ว่ามีฐานข้อมูลสุขภาพอย่างไร เมื่อมีปัญหาจะสามารถตรวจพิสูจน์ได้ และจากบทเรียนปัญหาสุขภาพที่ ต.หนองกุงศรี ชาวบ้านกว่าจะได้รับเยียวยานานมาก ขณะที่ สนง.เกษตร จ.อุดรธานี ห่วงว่าพื้นที่เจาะสำรวจ 2 แห่ง อยู่ในพื้นที่แปลงเกษตรแปลงใหญ่ ตามนโยบายรัฐที่ดำเนินการไปแล้ว เพื่อสร้างผลผลิตเป็นเกษตรปลอดภัย หรือ จีเอพี. เมื่อมีการเจาะสำรวจขึ้นจริง ผู้บริโภคจะขาดความเชื่อมั่นเรื่องคุณภาพ

ขณะที่ ผู้เข้าร่วมเวทีส่วนอื่นได้ทักท้วงแก้ไข ข้อมูลแผนที่หมู่บ้านไม่ตรงความจริง , ข้อมูลการทำ อีไอเอ.ของฐานเจาะอื่นค้างในรายงาน เช่น การขนดินจาก บ.พุทธรักษา ต.เขาพระนอน ( อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์) มาถมฐานเจาะที่อุดรธานี ในหน้า 27 , แผนที่ของฐานเจาะ NPH-C บ.หนองโอน ไม่ปรากฏลำห้วยหินลาด และโรงงานอุตสาหกรรม 2 แห่ง  กรณีน้ำท่วมสูงไม่ได้เกิดจากน้ำฝนอย่างเดียว แต่เกิดจากความเสียงของอ่างห้วยหลวงด้วย , ให้นำบทเรียนหลุมเจาะ บ.นาเหล่า ต.หนองกุงศรี  ทั้งช่วงเจาะและช่วงจุดไฟทดสอบ มาปิดช่องว่างในการสำรวจครั้งนี้ , การตั้งกองทุนเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วน และการตั้งคนกลาง หรือนักวิชาการท้องถิ่น มาร่วมติดตามตรวจสอบควบคู่ไปกับภาครัฐ  เพราะฐานเจาะอยู่ใกล้ชุมชนมาก ต่างจากที่ผ่านมาอยู่ในพื้นที่ป่า และให้มีแผนรับมือเหตุเหนือความคาดหมาย

นอกจากนี้ ผศ.ดร.อัจฉรา ชินวงษ์ ภาควิชาสาธารณสุข มรภ.อุดรธานี กล่าวว่า ขอชื่นชมการนำเสนอของที่ปรึกษา ที่ใช้ภาษาประชาชนเข้าใจง่าย ต่างจากเวทีที่เคยไปร่วม ใช้ศัพท์ทางวิชาการมากเกินไป แต่ก็ขอตำหนิกระบวนการมีส่วนร่วม ที่สัดส่วนผู้เข้าร่วมเวทีไม่ครบองค์ประกอบ วันนี้ขาดนักวิชาการจากอุดมศึกษาท้องถิ่น ตนเองมาร่วมในฐานะชาว ต.เชียงพิณ และเมื่อเข้ามาร่วมก็รู้สึกว่า ประชาชนถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะการลงทะเบียนว่าประชาชน ไม่ได้รับเอกสารเหมือนกับคนอื่น ไปสอบถามก็บอกว่าหมด คนอื่นมาที่หลังกลับได้เอกสาร อยากจะตามไปเวทีระดับอำเภอและชุมชน ชาวบ้านจะถูกเลือกปฏิบัติหรือไม่