"เอ็กโก้"จ่อสร้างเอสพีพีโคเจน4โรง 400MWหวังทดแทนไอพีพี10ปีไม่เปิดประมูลอีก (10 ก.ย. 59)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 10 กันยายน 2559
"เอ็กโก้"จ่อสร้างเอสพีพีโคเจน4โรง 400MWหวังทดแทนไอพีพี10ปีไม่เปิดประมูลอีก
เอ็กโก้แพลนลงทุนขยายโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม-ไอน้ำ หรือCogenerationเพิ่ม 4 โรง รอ กกพ.ออกเงื่อนไขระเบียบรับซื้อ เล็งขยายพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นหลังโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่หรือ IPP ไม่มีแผนประมูลช่วง 10 ปีนี้ ด้าน กฟผ.ระบุ ยังอยู่ระหว่างหารือรูปแบบการรับซื้อที่เหมาะสม
นายวรวิทย์ โพธิสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานพัฒนาธุรกิจในประเทศ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ได้เตรียมที่จะลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม-ไอน้ำ หรือ โคเจเนอเรชั่น (Cogeneration) ขนาดเล็ก หรือ SPP ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงเพิ่มอีกประมาณ 4 โรง (ขนาดมาตรฐานปกติที่ไม่เกิน 100 เมกะวัตต์/โรง) ในพื้นที่เช่น หนองแค จังหวัดสระบุรี และในพื้นที่จังหวัดระยอง เป็นต้น ซึ่งเป็นพื้นที่มีการวางท่อก๊าซธรรมชาติพาดผ่านเพื่อป้อนโครงการเดิมที่มีอยู่ เนื่องจากโรงไฟฟ้าเดิมจะเริ่มทยอยหมดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตั้งแต่ช่วงปี 2561-2563 ทั้งนี้ต้องรอการร่างระเบียบซื้อขายไฟฟ้าประเภทพลังความร้อนร่วมฯ จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ว่าจะมีการกำหนดอย่างไร
เนื่องจากในเบื้องต้นได้มีการต่ออายุสัญญาให้กับบางโครงการที่ทยอยหมดอายุสัญญาก่อนหน้านี้ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าภาครัฐจะรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบเพียง30เมกะวัตต์ โดยมีอัตราค่าไฟฟ้าที่ไม่สูงกว่าราคาค่าไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ (IPP) หรือประมาณ 2 บาทกว่า/หน่วยรวม 25 ปี ส่วนในกรณีที่สร้างโรงไฟฟ้าใหม่ต้องรอหลักเกณฑ์การรับซื้อจาก กกพ.ว่าจะคุ้มค่าการลงทุนหรือไม่ ซึ่งหากมีความชัดเจนแล้วจะสามารถนำมากำหนดเทคโนโลยีและออกแบบการก่อสร้างและมูลค่าการลงทุนต่อไป ทั้งนี้โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม-ไอน้ำของบริษัท ผลิตไฟฟ้าฯในปัจจุบันส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าอย่างในโรงงานหรือนิคมอุตสาหกรรม นอกจากจะขายไฟฟ้าแล้วยังสามารถขายไอน้ำให้กับโรงงานที่มีความต้องการด้วย ส่งผลให้โรงงานต่างๆ ไม่ต้องสร้างบอยเลอร์ขนาดใหญ่เพื่อมาผลิตใช้เอง เพราะในบางพื้นที่จะมีข้อจำกัดด้านที่ดินโรงงานไม่สามารถขยายได้ รวมถึงไม่คุ้มค่าลงทุนด้วย
"ทุกวันนี้ที่ EGCO ผลิตไฟฟ้าจากรูปแบบโคเจนฯ ก็แทบจะไม่ได้เข้าระบบของการไฟฟ้าเลย เพราะลูกค้าในพื้นที่ใช้เกือบหมดแล้ว โครงการนี้ภาครัฐมีคอนเซ็ปต์ที่ต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุดคือทั้งผลิตไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกันถึงแม้ว่าในอนาคตปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะเริ่มลดลงแต่ว่าภาครัฐเองก็มีแผนที่จะให้บริษัทปตท.จำกัด(มหาชน) นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG เพื่อมารองรับการใช้ในภาคผลิตไฟฟ้ามากขึ้น"
นายวรวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การวางแผนลงทุนโรงไฟฟ้าดังกล่าว เพื่อขยายกำลังผลิตใหม่ทดแทนส่วนเดิม และที่สำคัญคือในประเทศจะไม่มีการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าใหม่ขนาดใหญ่หรือ IPP ไปอีก 10 ปีฉะนั้นจึงต้องขยายการลงทุนในส่วนของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม-ไอน้ำ ไปจนถึงโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในทุกประเภทที่มีความเป็นไปได้
รายงานข่าวจากบริษัท ผลิตไฟฟ้าฯ ระบุ ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้วรวม 23 แห่ง รวมปริมาณไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายและตามสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 4,041 เมกะวัตต์ ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและพัฒนารวม 7 แห่ง รวมปริมาณไฟฟ้าที่ตามสัญญาและสัดส่วนการถือหุ้นที่ 844.26 เมกะวัตต์ เมื่อแบ่งตามประเภทเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติรวมร้อยละ 48.26 จากถ่านหินร้อยละ 34.76 และจากพลังงานทดแทนร้อยละ 16.98 และในอนาคตยังวางแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในพลังงานทดแทนทั้งในและต่างประเทศด้วย
นอกจากนี้ยังได้เตรียมเสนอโครงการไปยังกระทรวงพลังงานว่าสามารถขยายโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีเพาเวอร์จังหวัดระยอง ได้เพิ่มอีก 1,000 เมกะวัตต์ ซึ่งใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง และส่วนขยายอีกประมาณ 600 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ของโรงไฟฟ้าขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช เนื่องจากโรงไฟฟ้าขนอมยูนิตที่ 2-3 จะหมดอายุ