‘บิ๊กโย่ง’ พูดชัด พลังหมุนเวียนเป็นแค่ ‘ทางเลือก’ ยืนยันเดินหน้า ‘โรงไฟฟ้ากระบี่’ ตามแผนเดิม (9 ก.ย. 59)
Green News TV 9 กันยายน 2559
‘บิ๊กโย่ง’ พูดชัด พลังหมุนเวียนเป็นแค่ ‘ทางเลือก’ ยืนยันเดินหน้า ‘โรงไฟฟ้ากระบี่’ ตามแผนเดิม
รมว.พลังงาน เชื่อพลังงานหมุนเวียนไม่สามารถทดแทนพลังงานหลักได้ ย้ำเดินหน้าโรงไฟฟ้ากระบี่ตามแผนเดิม
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เปิดเผยในงานสัมมนาหัวข้อ “พลังงานไทยในกระแสพลังงานโลก”
จัดโดยสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 ก.ย.2559 ตอนหนึ่งว่า พลังงานทดแทนของประเทศไทยที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถทดแทนพลังงานดั้งเดิมได้ หรือสามารถทดแทนได้น้อยมาก ดังนั้นเราจึงอาจเรียกได้ว่าเป็นพลังงานทางเลือกที่เผื่อไว้เลือกใช้มากกว่า เนื่องจากแนวทางการจัดหาไฟฟ้าต้องเป็นไปตาม 2 เงื่อนไข คือสามารถจ่ายไฟได้ตลอดเวลาที่ต้องการ และราคาต้องไม่เพิ่มขึ้นกว่าเดิมมากนัก
“ส่วนตัวเลขปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองที่มักบอกกันว่าสูงเกินไปมาก เนื่องจากอาจมีการเอาตัวเลขอื่นเข้ามาบวกเพิ่มด้วย แทนที่จะนับเฉพาะกำลังการผลิตฐาน ซึ่งจะสั่งการให้ไปสำรวจว่าแท้ที่จริงเป็นอย่างไร เวลาอ้างอิงจะได้พูดตัวเดียวกัน แต่สำหรับแผนพัฒนาไฟฟ้าของกระทรวงพลังงานนั้นเราค่อนข้างมั่นใจว่าเหมาะสม มีการร่วมวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญมากมาย” พล.อ.อนันตพร กล่าว
พล.อ.อนันตพร กล่าวว่า สำหรับกรณีที่มีกรรมการไตรภาคีสัดส่วนภาคประชาชนรายหนึ่ง ได้ลาออกจากคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อพิจารณาโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ซึ่งตามกำหนดผลการศึกษาจะต้องแล้วเสร็จในเดือน ก.ย.นี้ อาจส่งผลให้ผลการพิจารณาล่าช้าออกไปบ้าง แต่เชื่อว่าในที่สุดจะมีการแต่งตั้งคนใหม่ขึ้นมาแทนเพื่อให้องค์ประชุมครบและทำงานได้ต่อไป และยืนยันว่าจะเดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ตามเดิม โดยคำนึงถึงความสมดุลของผู้ใช้พลังงาน ผู้ประกอบการ และสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก
นางกุลวรีย์ บูรณสัจจะวราพร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า สำหรับเป้าหมายที่ประเทศไทยต้องการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20-25% ภายในปี 2573 ภาคพลังงานจะมีส่วนรับผิดชอบหลักถึง 70% ของเป้าหมาย โดยมีการบูรณาการระหว่างแผนพัฒนากาลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) รวมไปถึงแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan)
นางกุลวรีย์ กล่าวว่า ในส่วนของแผน EEP ได้ตั้งเป้าลดการใช้ไฟฟ้าลง 30% ขณะที่แผน AEDP ได้ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น 30% ทั้งนี้การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนในอดีตใช้ระบบที่มาก่อนได้ก่อน แต่เมื่อความต้องการเพิ่มสูงขึ้นทำให้เกิดปัญหาเรื่องของสายส่งไม่พอ ดังนั้นในอนาคตจึงต้องมีการจัดลำดับความสำคัญใหม่ โดยให้ความสำคัญแรกเป็นของพลังงานชีวมวลและก๊าซชีวภาพ รองลงมาจึงจะเป็นพลังงานลมและแสงอาทิตย์ตามลำดับ
“ประเทศไทยมีมูลค่าการนำเข้าพลังงานเฉพาะในปีนี้ถึง 2.96 แสนล้านบาท ขณะที่พลังงานแสงอาทิตย์แม้จะมีราคาถูก แต่ก็เป็นเทคโนโลยีที่ต้องมีการนำเข้า ดังนั้นการให้ความสำคัญกับพลังงานชีวมวลและก๊าซชีวภาพ จึงเป็นการสร้างประโยชน์ภายในประเทศโดยเฉพาะกับภาคเกษตรกรมากกว่า ส่วนพลังงานแสงอาทิตย์จะมีการเปิดโครงการนำร่องโซลาร์รูฟเสรี ให้เป็นการติดตั้งเพื่อใช้เองไม่ใช่ส่งขาย” นางกุลวรีย์ กล่าว
นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการกิจการสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า เป้าหมายของการจัดทำแผน PDP2015 ได้คำนึงใน 3 หลักคือ ความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ต้นทุนที่เหมาะสม และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยปัจจุบันประเทศไทยผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ 70% ดังนั้นจึงต้องมีการกระจายเชื้อเพลิงเพื่อส่งเสริมความมั่นคง ซึ่งความเหมาะสมของพื้นที่พัฒนาโรงไฟฟ้าคือภาคใต้ เนื่องจากกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองในพื้นที่ยังไม่เพียงพอ ไม่รองรับเกณฑ์มาตรฐาน
“นโยบายภาครัฐด้านการกระจายเชื้อเพลิงและเสริมความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าในภาคใต้ ได้มีแผนพัฒนาโรงไฟฟ้า ได้แก่ โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ขนาด 800 เมกะวัตต์ ในปี 2562 โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เครื่องที่ 1 ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ ในปี 2564 และเครื่องที่ 2 ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ ในปี 2567 ซึ่งล่าสุดชาวบ้านใน อ.เทพา ยังได้เดินทางขึ้นมาด้วยตัวเองเพื่อยื่นหนังสือสนับสนุนและเร่งการสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าว” นายสหรัฐ กล่าว
นายสหรัฐ กล่าวอีกว่า สำหรับการจะมุ่งหน้าไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนในอนาคต จำเป็นที่จะต้องมีพลังงานหลักเพื่อใช้เป็นฐาน ยกตัวอย่างเช่นประเทศเยอรมนีที่บอกว่ามีการใช้พลังงานหมุนเวียนมาก นั่นเพราะมีการใช้พลังงานนิวเคลียร์เป็นสะพานมาก่อน ส่วนสาเหตุที่เลือกใช้พลังงานถ่านหินเพราะมีปริมาณสำรองจำนวนมาก ทำให้มีความมั่นคงในการจัดหาเชื้อเพลิง และเทคโนโลยีปัจจุบันมีความทันสมัย สามารถควบคุมมลภาวะได้ดี
นายวีรินทร์ หวังจิรนิรันดร์ นักวิจัยสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แนวโน้มด้านเศรษฐกิจและสังคมของโลกใน 20 ปีข้างหน้า มีการคาดการณ์ว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ทั่วโลกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงสองเท่า เช่นเดียวกับจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสิ่งนี้เป็นตัวขับเคลื่อนการใช้พลังงาน โดยภายในปี 2557-2578 คาดว่าการใช้พลังงานโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 34%
นายวีรินทร์ กล่าวว่า สำหรับปริมาณสำรองของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตพลังงาน เมื่อคำนวณจากจำนวนที่มีอยู่ประกอบกับอัตราการใช้ในปัจจุบัน พบว่าทั่วโลกจะมีปริมาณน้ำมันดิบให้สามารถใช้งานไปได้อีก 51 ปี ก๊าซธรรมชาติ 53 ปี ส่วนถ่านหินมีจำนวนมากที่สุดคือ 114 ปี