ถอดบทเรียน 60 ปี โรคมินามาตะ ภัยสารพิษอุตสาหกรรม (9 ก.ย. 59)
PPTV 9 กันยายน 2559
ถอดบทเรียน 60 ปี โรคมินามาตะ ภัยสารพิษอุตสาหกรรม
ความโหดร้ายของโรคมินามาตะ หรือโรคสารพิษปรอท จากภาคอุตสาหกรรม เมืองมินามาตะ ประเทศญี่ปุ่น ที่ล่วงเลยมา 60 ปี แม้จะมีความพยายามจากภาครัฐ และภาคอุตสาหกรรม เข้าฟื้นฟูพื้นที่ และความเป็นอยู่ของชาวเมืองมินามาตะ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยโรคนี้คลายความหวาดกลัว ผลกระทบจากภาคอุตสาหกรรมไปได้ และเรื่องนี้เป็นอีกบทเรียนหนึ่งที่สังคมไทยควรเรียนรู้
วันนี้ (9 ก.ย. 59) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “ชิโนบุ คาซาโมโต” อายุ 60 ปี นับเป็นหนึ่งในผู้ป่วย โรคพิษสารปรอท หรือ โรคมินามาตะ แม้ร่างกายจะพิการ จากผลกระทบของสารพิษอุตสาหกรรมตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา แต่ “ชิโนบุ คาซาโมโต” ก็ยังเดินหน้ารณรงค์ ให้คนทั่วโลกตระหนักถึงโทษของสารพิษปรอท ต้นเหตุของโรคที่เธอเผชิญ
หลังเกิดปัญหาในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2499 มีความพยายามของภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ และประชาชน จะร่วมกันฟื้นฟูเมืองมินามาตะ แต่ ชิโนบุ มองว่า หลายโครงการไม่เกิดประโยชน์ และไม่มั่นใจการแก้ปัญหาของภาคอุตสาหกรรมจะปลอดภัยจริง
นายมาซาโนริ ฮานาดะ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเปิดมินามาตะศึกษา มหาวิทยาลัยคุมาโมโตกักกุเอ็ง เชื่อว่า ปัญหาโรคมินามาตะ จะยังมีการฟ้องร้องต่อไป หากยังขาดการดูแล และเยียวยาสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย
ด้านนายสุรชัย หวั่นแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหมาวิทยาลัย ที่เสนอให้ทุกประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทย ร่วมเป็นภาคยานุวัติ ในอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยสารปรอท เพื่อคุ้มครองสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากภาคอุตสาหกรรม ควบคุมแหล่งกำเนิดสารปรอท เพราะในประเทศไทยมีนิคมอุตสาหกรรมมากมาย และยังมีความพยายามผลักดันให้เกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินอีกหลายโรง ซึ่งโรงไฟฟ้าถ่านหินถือเป็นแหล่งผลิตสารปรอทขนาดใหญ่