ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ หวั่นรัฐใช้ม.44 เลี่ยง EIA อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรุนแรง (11 ก.ย. 59)

สำนักข่าวอิศรา 11 กันยายน 2559
ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ หวั่นรัฐใช้ม.44 เลี่ยง EIA อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรุนแรง

60 ปี โรคมินามาตะ การเรียนรู้หายนะจากมลพิษอุตสาหกรรม วงเสวนาถอดบทเรียน หาแนวป้องกันพิษภัย ไม่ให้เกิดในไทย ด้านนักวิจัยญี่ปุ่นระบุ 128 ประเทศ -สหภาพยุโรปลงนามอนุสัญญามินามาตะแล้ว ยกเว้นไทย 

วันที่ 10 กันยายน 2559  ศูนย์ความร่วมมือเพื่อผู้ป่วยโรคมินามาตะ ประเทศญี่ปุ่น, ศูนย์วิจัยเปิดมินามาตะศึกษามหาวิทยาลัยคุมาโมโต กักกุเอ็ง จังหวัดคุมาโมโต ประเทศญี่ปุ่น, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, เครือข่ายจุฬาฯ นานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดงานสัมมนาวิชาการเรื่อง"60 ปี โรคมินามาตะ การเรียนรู้หายนะจากมลพิษอุตสาหกรรมเพื่อสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน" ณ ห้องประชุม Auditorium (801) อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา ชั้น 7 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นางเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวถึงการจัดงานปีนี้ครบรอบ 60 ปีของโรคมินามาตะ อยากจะสะท้อนปัญหาภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่น เป็นบทเรียน สู่มาตรการป้องกันสังคมและสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมไทย   เรื่องนี้เป็นอีกบทเรียนหนึ่งที่สังคมไทยควรเรียนรู้จากตัวอย่างในอดีต เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยกำลังมีการเร่งพัฒนาด้านอุตสาหกรรมอย่างมาก จนบางครั้งลืมเรื่องสุขภาพของประชาชน ดังตัวอย่างที่มีให้เห็นอยู่แล้ว เช่น โรงไฟฟ้าแม่เมาะ เหมืองคลิตี้   

“ถ้าหากรัฐบาลยังคงใช้มาตรา 44 ที่จะยกเว้นการทำ EIA ของโครงการที่จะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและยกเว้นการบังคับใช้ผังเมืองในหลายๆพื้นที่ที่ควรจะสงวนไว้ จะทำให้เกิดปัญหาที่รุนแรงและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น   อาจจะนำไปสู่การทำปฎิรูปสิ่งแวดล้อมในภาคประชาชนได้”  

ด้านนายสมบุญ สีคำดอกแค สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อม แถลงการเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งบริหารจัดการโครงการอุตสหกรรมของไทยให้มีมาตรฐาน และได้รับการยอมรับทั้งจากชุมชน และ มีความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์โรคมินามะตะเกิดขึ้น 

ศ.ดร. ชิเกะฮารุ นาคาจิ ศูนย์วิจัยเปิดมินามาตะศึกษา มหาวิทยาลัยคุมาโมโต กักกุเอ็ง ได้ให้ข้อมูลว่า สารปรอทอันเป็นต้นเหตุของโรคมินามาตะนั้นเป็นสารที่จะเข้าไปทำลายระบบประสาทส่วนกลาง โดยในปัจจุบันประเทศที่พัฒนาแล้วด้านอุตสาหกรรมได้มีการลดใช้สารปรอทแล้ว แต่ที่น่าเป็นห่วงคือประเทศที่กำลังเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมยังมีการใช้สารปรอทมากซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่ได้รับสารตัวนี้เข้าไป 

ส่วนในเรื่องของอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยเรื่องของสารปรอท สาระสำคัญจะพูดในเรื่องของการห้ามไม่ให้ตั้งเหมืองปรอท ยกเลิกการใช้สารปรอทในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ห้ามนำเข้าส่งออกสารปรอทนอกจากได้รับอนุญาต ลดการปล่อยสารปรอทจากเหมือง ลดการปล่อยสารปรอทสู่ดินน้ำอากาศ  

ศ.ดร. ชิเกะฮารุ  กล่าวต่อว่า ปัจจุบันอนุสัญญาดังกล่าวมี 128 ประเทศรวมถึงสหภาพยุโรปลงนามแล้ว และมี29ประเทศให้สัตยาบันแล้ว  โดยอนุสัญญานี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อมีประเทศที่ให้สัตยาบัน 50 ประเทศขึ้นไป แต่ในปัจจุบันประเทศไทยยังเพิกเฉยไม่ได้ลงนามรองรับอนุสัญญานี้ 

สำหรับ โรคมินามาตะ หรือโรคสารพิษปรอท พบครั้งแรก เมื่อวันที่ 21 เมษายน 1956 ที่เมืองมินามาตะ ประเทศญี่ปุ่น สาเหตุเกิดจากบริษัทชิสโสะที่เป็นโรงงานผลิตสารอะซิทัลดิไฮด์ ซึ่งต้องใช้สารปรอทในกระบวนการผลิต โดยโรงงานดังกล่าวได้ปล่อยน้ำเสียที่มีสารปรอทปนเปื้อนลงในทะเล ทำให้ปริมาณสัตว์น้ำลดลงและบางส่วนได้ซึมเข้าสู่สัตว์น้ำซึ่งเป็นอาหารหลักของคนในเมือง

โดยโรคนี้จะเกิดจากการได้รับประทานอาหารทะเลที่ปนเปื้อนด้วยสารปรอท อาการของโรคคือจะมีอาการชาตามปาก กล้ามเนื้อจะอ่อนแรง พูดไม่ได้ ระยะหลังๆจะเดินไม่ได้ มีอาการชักกระตุก มีการคาดการว่ามีผู้เป็นโรคมินามาตะถึง 2 แสนคน แต่มีผู้ป่วยที่เข้ามารับการวินิจฉัยเพียง 6 หมื่นคน และได้รับการชดเชยเพียงแค่ 3 พันคนเท่านั้น