‘60 ปี มินามาตะ’ ปัญหามลพิษอุตสาหกรรมญี่ปุ่น บทเรียนสู่การพัฒนาไทย (11 ก.ย. 59)
Citizen Thai PBS 11 กันยายน 2559
‘60 ปี มินามาตะ’ ปัญหามลพิษอุตสาหกรรมญี่ปุ่น บทเรียนสู่การพัฒนาไทย
“โรคมินามาตะ” เป็นทั้งโศกนาฎกรรม และตัวอย่างทางประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึงความไม่สมดุลและการขาดธรรมาภิบาลของรัฐบาลผู้ดำเนินนโยบายส่งเสริมการลงทุนด้านอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ โดยละเลยความสำคัญของชุมชน สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศน์ของธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งโรคมินามาตะได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางในประเทศญี่ปุ่น ทั้งในมิติของการเสียสละของชาวญี่ปุ่น และการร่วมกันต่อสู้เพื่อกอบกู้ความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมและสังคมให้เกิดขึ้นภายในประเทศ จนนำไปสู่การทบทวนและปรับปรุงกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการมลพิษอุตสาหกรรมอย่างขนานใหญ่
สำหรับประเทศไทย กรณีมินามาตะเป็นคือตัวอย่างที่ฉายภาพบทเรียนของการพัฒนาได้อย่างแจ่มชัด...
10 ก.ย. 2559 เวที “บทเรียนปัญหาและการจัดการมลพิษอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นและของไทย” ในการสัมมนาวิชาการเรื่อง “60 ปี โรคมินามาตะ: การเรียนรู้หายนะจากมลพิษอุตสาหกรรมเพื่อสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน” ณ ห้องประชุม Auditorium (801) อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา ชั้น 7 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ.ประยูร เชี่ยววัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยา กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ญี่ปุ่นมีปัญหาใหญ่เกี่ยวกับมลพิษอุตสาหกรรมที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิต ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังบูม 4 ครั้ง คือ ครั้งแรกโรคมินามาตะ (Minamata) ที่เมืองมินามาตะ เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมปล่อยน้ำเสียที่มีสารปรอทอนทรีย์เจือปนลงในอ่าวมินามาตะ เหตุเกิดตั้งแต่ 1950 แต่อีก 19 ปี ปัญหาจึงถูกพูดถึง ในครั้งนั้นมีผู้ป่วยที่ได้รับการรับรอง 2,200 คน 2.โรคมินามาตะ ครั้งที่ 2 ที่ นีงาตะ (Niigata) เกิด 1960 แต่เป็นที่รับรู้เมื่อ 1967 มีผู้ป่วยที่ได้รับการรับรอง 700 คน
ครั้งที่ 3 โรคอิไตอิไต (Itaaiitai) เกิดจากแคดเมียมทำให้เกิดโรคกระดูกเปราะ เกิดเมื่อปี 1910 แต่เป็นที่รับรู้เมื่อ 1968 โดยมีผู้ป่วยที่ได้รับการรับรอง 190 คน
“แค่หายใจก็เหมือนมีเข็มเป็นพัน ๆ เล่ม ทิ่มแทงทั้งตัวจนเกือบทนไม่ได้” นั่นคือคำพูดที่แสดงความทุกข์ทรมาณของผู้ป่วยด้วยโรคโรคอิไตอิไต
4.โรคหยกคาอิจิ (Yokkaichi) ที่ Yokkaichi Mie จากซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนโตรเจนไดออกไซด์ที่ปะปนในอากาศ ซึ่งทำให้เกิดอาการของโรคหืด มีผู้ป่วยที่ได้รับการรับรอง 1,700 คน
ผศ.ประยูร กล่าวด้วยว่า สำหรับประเทศไทยไม่อยากให้หมดหวัง โดยมองว่าสื่อมวลชน ขบวนประชาชน และขบวนของนักศึกษาจะเป็นพลังในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อีกส่วนหนึ่งก็คือรัฐบาล องค์กรภาครัฐ และกฎหมาย รวมไปถึงการทำงานโดยไม่ประมาทเลินเล่อ มีกฎหมายบังคับใช้เรื่องการปลดปล่อยสารพิษที่วัดทั้งปริมาณและความเข้มข้น เหล่านี้จะช่วยทำให้ปัญหาที่มีเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้
รศ.พิเชษฐ เมาลานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยญี่ปุ่นร่วมสมัย มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า โลกได้บทเรียนจากมินามาตะคือ การมีอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท (The Minamata Convention on Mercury) ที่มุ่งปกป้องสุขภาพของคนและสิ่งแวดล้อม
ส่วนบทเรียนของไทย จากหนังสือของ ศ.ดร.มาซาโนริ ฮานาดะ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเปิดมินามาตะศึกษา มหาวิทยาลัยคุมาโมโตกักกุเอ็ง จ.คุมาโมโต เราได้บทเรียน คือ มินามาตะเป็นปัญหาที่ป้องกันได้ และการพิสูจน์โรคเป็นปัญหาที่ทำให้คนไม่ได้รับการรับรองและไม่ได้รับการดูแลจากรัฐบาล โดยตรงนี้ต้องดูสภาพแวดล้อมในการดำรงชีพร่วมด้วย
อีกข้อคือบทบาทของแพทย์ในศาล ที่ทำให้เกิดการตีความที่กว้างมุ่งให้เกิดความเป็นธรรมทางสังคม โดยบทบาทของแพทย์มี 4 ข้อคือ 1.แพทย์ต้องพาตุลาการไปในสถานที่เกิดเหตุจริง เพื่อที่จะเข้าใจเหตุการณ์ได้ดียิ่งขึ้น 2.แพทย์ต้องพิสูจน์ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค 3.แพทย์ต้องพิสูจน์ระดับความเสียหายที่ชาวบ้านได้รับ เพื่อคิดค่าเสียหาย 4.แพทย์ต้องพิสูจน์ข้อมูลงานวิจัยในศาล เพื่อให้ศาลทราบข้อเท็จจริง
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า ปัญหามลพิษควรมีทางออก ไม่ใช่ภาระที่ประชาชนต้องมาชุมนุม เรียกร้องการแก้ไขและเยียวยาปัญหาทั้งที่พวกเขาไม่ได้เป็นคนก่อ และยังต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายในการต่อสู้ที่ยาวนานนับ 10 ปี
มินามาตะ คือปัญหานโยบายรัฐและการเอารัดเอาเปรียบของผู้ประกอบการ ขณะที่ผู้ป่วยยังมีอยู่ และคนอีกนับพันยังไม่ได้รับการรักษา ไม่ได้รับการรับรองว่า "เป็นผู้ป่วย" จึงไม่ได้รับการดูแลรักษา
84 ปี นับตั้งแต่การก่อตั้งโรงงานที่ก่อปัญหา มีบทเรียนคือ
1.การบอกว่าไทยไม่มี "ผู้ป่วยด้วยโรคมินามาตะ" อาจไม่จริง เพราะที่ผ่านมาเราไม่เคยมีการศึกษาและสำรวจ แม้จะมีการบอกว่าเราไม่มีการปนเปื้อนศาลปรอทเข้มข้นอย่างญี่ปุ่น แต่เราก็พบว่าจากกรณีอินโดนีเซีย มีผู้ป่วยด้วยพิษปรอทที่จะพัฒนาไปเป็นมินามาตะได้ 1-2 หมื่นคน เพราะเหมืองทองขนาดเล็กที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ขณะที่มีคนงานเหมืองกว่า 1 ล้านคน
โรคมินามาตะไม่ได้เป็นโรคร้ายที่เกิดจากสารปรอทเท่านั้น แต่มองได้ 2 มุม คือ เป็นโรคที่เกิดจากการกระทำโดยนโยบายรัฐในการพัฒนาประเทศ มุ่งความเติบโตทางเศรษฐกิจเหนือสิ่งอื่นใด ไม่ว่าในญี่ปุ่นหรือประเทศอื่น ๆ ทุกประเทศล้วนลงทุนในอุตสาหกรรมสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอันดับแรก ไม่สนใจว่าจะก่อผลกระทบรุนแรงต่องสังคมและสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้มินามาตะยังเป็นโรคที่เกิดจากมลพิษซึ่งมาจากการกระทำของมนุษย์ โดยมีชาวบ้านเป็นผู้ถูกกระทำ
2.กระบวนการแก้ปัญหา วิธีคิดของรัฐบาลและวิธีหลีกเลี่ยงของผู้ก่อมลพิษคล้ายกัน คือเพิกเฉยต่อสัญญาณเตือนภัยที่เกิดขึ้นก่อนหน้า กานเพิกเฉย ละเลย กลบเกลื่อน ทำให้ปัญหาบานปลาย ความเสียหายลุกลามเกินแก้ไข เยียวยา
ตัวอย่างของไทย ที่มาบตาพุด จ.ระยอง เมื่อกลางเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ซากปลานับพันตายเกลื่อนหาด ตากวน ใกล้นิคมฯ มาบตาพุด โดยภาครัฐให้ข่าวว่าอาจเกิดจากปรากฎกาณ์แพลงก์ตอนบลูม แต่กลับไม่มีการหาว่าเหตุที่แท้จริง ขณะที่ชาวประมงที่นั่นบอกว่าที่ผ่านมาเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลายครั้งแล้ว
สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสัญญาณเตือน แต่รัฐกลับไม่เอาใจใส่ สำรวจหาสาเหตุ หากมาจากธรรมชาติก็ต้องสำรวจว่าเกิดจากอะไร หาสาเหตุที่แท้จริงเพื่อป้องกัน เพราะความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมจากโลหะหนักและมลพิษนั้นเกิดขึ้นแล้วแก้ไขได้ยาก
30 ปีมาบตาพุด สัญญาณการเกิดโรคเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในกานแก้ปัญหา เมื่อเกิดความรุนแรงอาจเกินขีดความสามารของรัฐบาลในการแก้ปัญหา
3.การปกปิดข้อมูล ก่อนหน้านี้โรคมินามาตะถูกนำไปทดลองกับแมว พบความเชื่อมโยงมลพิษอุตสาหกรรมและความเจ็บป่วย แต่กลับถูกให้หยุดการทดลอง ทั้งอุตสาหกรรมและรัฐช่วยกันปกปิด ทั้งที่การเปิดเผยข้อมูลจะนำไปสู่การรักษาแลป้องกันการป่วยเพิ่มได้
ประเทศไทยเรามีความลับอีกกี่เรื่อง ทั้งมาบตาพุด แม่เมาะ แม่ตาว เหมืองทองอีกหลายแห่ง รวมทั้งที่ท่าตูม หากผู้รู้ที่มีอยู่เพียง 2 กลุ่ม คือผู้ก่อและผู้ควบคุมตรวจสอบ ไม่ยอมออกมาพูดความจริง ก็ยากที่จะควบคุมปัญหาได้
โรคมินามาตะเกิดจากอะไร มีข้อมูลเชิงวิชาการสู้กันจนเป็นสงครามข้อมูล ทำให้ข้อเท็จจริงเบี่ยงเบน การแก้ปัญหาก็ขยับออกไป การยับยั้งปัญหาควรเอาความจริงมาพูด แต่ผู้ควบคุมกลับไม่ทำ กรณีเช่นนี้ประเทศไทยก็เป็นเหมือนกัน
4.กลไกการแก้ไขปัญหา เดิมเป็นกลไกที่รัฐตั้ง มีหมอ ข้าราชการ นักวิชาการ สำหรับไทยหลายปีที่ผ่านมาเรามีคณะกรรมการไตรภาคี ประกอบด้วย ฝ่ายผู้ประกอบการ รัฐ ขบวนชาวบ้าน/แรงงาน/ชุมชน ต่อมามีกลไกพหุภาคีที่มีนักวิชาการและอาจมีสื่อร่วมด้วย
กลไกไตรภาคีเป็นกลไกเพื่อแก้ปัญหา แต่มีผ่านมาในกรณีบ้านท่าตูม มีเรื่องราวกันตั้งแต่ปี 2557 และมีการตั้งคณะกรรรมการไตรภาคีเพื่อพิจารณาข้อเรียกร้องเรื่องการฟื้นฟูคลองชะลองแวงที่มีผลกระทบสารปรอท แต่ผ่านมา 3 ปี ถึงปัจจุบันยังไม่มีการแก้ไข
"กลไกถ้าไม่มีความจริงใจแก้ไขปัญหา ก็ไม่มีประโยชน์ เป็นแค่กลไกซื้อเวลาแก้ปัญหา" เพ็ญโฉมกล่าว
5.ผู้ได้รับผลกระทบ ผู้ที่ตกลงใจรับเงินเยียวยาแล้ว ไม่ว่าเงินนั้นจะเป็นธรรมหรือไม่ ก็ไม่สามารถมีปากเสียงเรียกร้องได้อีก ส่วนผู้ไม่ยอมรับ ก็เข้าสู่กระบวนการต่อสู้ในศาล ต้องใช้ต้นทุน ใช้เวลา แต่หากชนะก็จะได้รับการชดเชยที่สูงขึ้น และอีกส่วนหนึ่งนอกจากผู้ประกอบการ รัฐบาลยังได้ถูกชี้ความผิดจากศาล ตรงนี้เป็นความก้าวหน้าหนึ่งของการเคลื่อนไหวโดยประชาชน
ปัญหามลพิษ การต่อสู้ของผู้ถูกกระทำนั้นสุดท้ายจะเหลือผู้ต่อสู้เพียง 2 ฝั่ง คือฝ่ายกระทำ และฝ่ายถูกกระทำ ไม่มีฝ่ายอื่น เพราะถึงอย่างไรรัฐก็จะยืนอยู่ข้างโรงงาน ส่วนขบวนการนักศึกษาและนักวิชาการก็จะยืนอยู่ข้างประชาชน ฝ่ายไหนพลังน้อยกว่าก็จะพ่ายแพ้ไป
กรณีของมินามาตะ มีนักวิชาการมาร่วม มีทนายความกว่า 200 คนให้ความช่วยเหลือเรื่องคดี มีขบวนการนักศึกษาเข้าร่วมในระดับประเทศ กระบวนการเหล่านี้ที่ไม่รับการไกล่เกลี่ยและการแก้ปัญหาของรัฐบาล เป็นการพลิกประวัติศาสตร์การต่อสู้ด้านสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น
ในไทย หาก คสช.ยังคงใช้ ม.44 งดเว้น EIA งดเว้นการบังคับใช้ผังเมือง ตรงนี้จะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้ปัญหารุนแรง ก่อปฏิกิริยาการต่อสู้ของประชาชนในการปฏิรูปเรื่องสิ่งแวดล้อมต่อไปได้