ชาวบ้านก้มกราบค้านสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลสระแก้ว (25 ส.ค. 59)
คมชัดลึกออนไลน์ 25 สิงหาคม 2559
ชาวบ้านก้มกราบค้านสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลสระแก้ว
ชาวบ้านก้มกราบทั้งน้ำตาคัดค้านการทำประชาพิจารณ์เพื่อสร้างโรงงานและโรงไฟฟ้าชีวมวล ในพื้นที่ อ.วังสมบูรณ์-วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว
เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2559 ที่สหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น อ.วังสมบูรณ์ จ. สระแก้ว มีการจัดให้มีการทำประชาพิจารณ์ เพื่อประเมินผลการรับฟังความคิดเห็น การทบทวนร่างรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำตาลทราย ของบริษัทน้ำตาลและอ้อยตะวันออก จำกัด (มหาชน ) และโรงไฟ้ฟ้าชีวมวล ขนาด 60 เมกกะวัตต์ ในพื้นที่ ต.วังใหม่ อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว โดยมีนายประกอบ คนวัฒนา ผู้อำนวยการโครงการวังสมบูรณ์ ของบริษัท น้ำตาลและอ้อยตะวันออก จำกัด (มหาชน) และตัวแทนบริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด ได้ร่วมกันชี้แจง และมีประชาชนในพื้นที่ 26 หมู่บ้าน 6 ตำบล 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.วังสมบูรณ์ อ.วังน้ำเย็น และอ.คลองหาด ที่มีแนวโน้มขอบเขตการได้ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมรับฟังประมาณ 600 คน รวมทั้งมีประชาชน นักเรียน นักศึกษา ในพื้นที่ ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างรวมตัวกันถือป้ายประท้วง ที่บริเวณสี่แยกและหน้าสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็นอีกประมาณกว่า 100 คน
โดยในการจัดรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ บริษัทคอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด ในฐานะบริษัทที่ปรึกษา พยายามให้ข้อมูลร่วมกับตัวแทนของโรงงาน ถึงเหตุผลของการขยายโรงงาน จากพื้นที่ ต.ห้วยโจด อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว มายังพื้นที่ ต.วังใหม่ อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว ว่า เนื่องจากบริษัทได้มีการส่งเสริมการปลูกอ้อยในเขตพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และจันทบุรี อย่างต่อเนื่อง ทำให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้นทุกปี หลังจากคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนมีนาคม 2554 มีมติเห็นชอบให้บริษัท นำกำลังการผลิต 2,000 ตันอ้อย/วัน ไปตั้งใหม่ที่อำเภอวังสมบูรณ์ และขยายกำลังการผลิตเป็น 12,500 ตันอ้อย/วัน บนเนื้อที่ 386 ไร่ โดยการขยายโรงงานจะมีการพัฒนาโครงการและดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามหลักของอุตสาหกรรมสีเขียว
นายอาภรณ์ ช่วยนุกูล นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ตัวแทนบริษัทที่ปรึกษา ชี้แจงว่า การจัดทำผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือ อีไอเอ ทางบริษัทจัดทำตามเงื่อนไขและกฏหมาย ถ้าโครงการนี้เกิด บุคคลแรกที่ได้ประโยชน์คือ ประเทศชาติและประชาชนในพื้นที่ ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กำหนดให้เราทำประชาพิจารณ์ 2 รอบ ซึ่งครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2559 มีประชาชนเข้าร่วม 871 คน กรณีที่ชาวบ้านห่วงว่าจุดก่อสร้างใหม่นี้ จะอยู่ในพื้นที่สีเขียวนั้น เราได้ตรวจสอบแล้วว่า อยู่ในพื้นที่สีม่วง ม.10 บ้านพัฒนา และคาบเกี่ยว ม.1 บ้านวังใหม่ ซึ่งมีพิกัดตั้งอยู่ด้านหลังสหกรณ์โคนมฯ
ภายหลังการให้รายละเอียดเสร็จสิ้น มีประชาชนและชาวบ้าน ร่วมกันตั้งคำถามมากมาย โดยเฉพาะความห่วงใยด้านสิ่งแวดล้อม มลพิษและการกำจัดน้ำเสียที่จะเกิดขึ้นของโรงงาน ซึ่งก็ได้รับคำชี้แจงว่า โรงงานที่จะสร้างขึ้นใหม่ จะมีน้ำเสียวันละ 2,125 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน มีบ่อบำบัดตามขั้นตอน 16 บ่อ ปูด้วยพลาสติกที่มีความเหนียวสูง ซึ่งจะไม่มีน้ำเสียเล็ดลอดออกไปภายนอกแน่นอน สำหรับปัญหาการแย่งน้ำจากเกษตรและอ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึงนั้น ทางบริษัทจะเก็บน้ำไว้ใช้เองตามระบบ ซึ่งจะใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำเพียงแค่ 3 เดือนเท่านั้น ส่วนกรณีการตรวจสอบพื้นที่ว่า เป็นสีม่วงหรือไม่นั้น ได้ตรวจสอบไปที่ผังเมืองรวมแล้ว ถ้าไม่ชัดเจน รายงานฉบับนี้คงไม่ได้อนุมัติแน่
นายประกอบ คณูวัฒนา ผู้จัดการโรงงาน ในฐานะตัวแทนเจ้าของโรงงาน ชี้แจงความห่วงใยต่าง ๆ ว่า ผลประโยชน์ภายหลังสร้างโรงงาน ท้องที่จะได้ภาษีเพิ่มขึ้น ทุกคนจะมีรายได้เพิ่ม มีงานทำ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถไปได้ได้ในพื้นที่ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว สินค้าต่าง ๆ จะเข้ามา รวมทั้งแต่ละปีจะมีเงินสนับสนุนจากโรงงานไปยังหน่วยงานต่าง ๆ นอกเหนือจากภาษีตามที่กฏหมายกำหนดให้เราจ่ายจริงเท่านั้น กรณีที่มีการสอบถามว่า ทำไมไม่ไปตั้งโรงงานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น เราเป็นหนึ่งใน 11 โรง ที่ ครม.อนุมัติให้ขยายโรงงานเมื่อปี 2554 เนื่องจากเราไม่มีใบอนุญาต ก็เลยไม่ไป เราทำทุกอย่างตามกฏหมาย ถ้ากฏหมายไม่ให้ทำ เราก็จะยกเลิกไป
นายประกอบ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ปริมาณอ้อยเพิ่ม เราจึงต้องหีบเพิ่ม กำลังหีบที่ได้มา 12,500 ตันอ้อย/วัน ก็ต้องทำเท่านั้น หากปริมาณอ้อยเพิ่มขึ้น หากเราจะหีบเพิ่มก็ต้องทำเรื่องขอเพิ่มตามกฏหมาย ถ้าทำผิดกฏหมายเค้าก็ปิดโรงงานเรา ชุมชนมีความคลาดเคลื่อนหลายอย่าง อยากให้เดินทางไปดูโรงงานจริง สามารถดูได้ทุกวัน ไปวันนี้เลยก็ได้ ส่วนที่พี่น้องถามว่า จะมีถ่านหินมาเผาแทนกากอ้อยมั้ย ตนตอบได้เลยว่า เป็นความคลาดเคลื่อน อยากให้ไปดูความจริงได้
บรรยากาศการซักถาม เริ่มคึกคัก เมื่อมีนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม นายสมิทธิ์ เย็นสบาย คณะทำงานเครือข่ายสมัชชาองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม จ.สระแก้ว ,กลุ่มสมาคมชาวไร่อ้อยชายแดนบูรพา และตัวแทนสมัชชาเกษตรกร ลุกขึ้นสอบถามความไม่ชอบมาพากลในการจัดทำประชาพิจารณา เพราะเกรงว่า จะดำเนินการไม่เป็นไปตามระเบียบและกฏหมาย โดยเฉพาะตำแหน่งพิกัดของโครงการ และการใช้ที่ดินตามประกาศผังเมืองรวม จ.สระแก้ว พศ.2558 ซึ่งอ้างว่าอยู่ในพื้นที่สีม่วง ตามประเภทต่าง ๆ เช่น อ.1 ,อ.2 และ อ.3 ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาและเลี่ยงที่จะไม่ตอบในบางคำถาม รวมทั้งความห่วงใยเรื่องผลกระทบที่จะตามมาของชื่อเสียงของผลิตภัณฑ์นม จากสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็นด้วย
ขณะที่ นายสุทธิรักษ์ วันเพ็ญ ตัวแทนประชาชนพื้นที่วังน้ำเย็น ระบุว่า จากกรณีนี้ทำให้เราเห็นปรากฏการณ์ว่า มีคนกล้าออกมาต่อต้านมากขึ้น กล้าปรากฎตัว เพราะก่อนหน้านี้มีผู้มีอิทธิพลที่ต้องการผลักดันโครงการ ถึงขนาดไปข่มขู่ชาวบ้านถึงบนศาลาวัดว่า ใครค้านเตรียมล้างศาลารอได้เลย ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่นี้ ดังนั้น ชาวบ้านในรัศมีที่ได้รับผลกระทบตอนนี้ได้รับข้อมูล 2 ด้าน ข้อเสียจากโรงงานและข้อเสียจากข้อมูลอื่น ๆ ฉะนั้น จึงมีผลให้ชาวบ้านฉุกคิดกันว่า ต่อไปนี้โครงการใดที่มีผลต่อสังคม สิ่งแวดล้อม งานประชาพิจารณ์ครั้งต่อไป ชาวบ้านจะต้องตระหนกถึงภัยคุกคามร่วมกัน จากพื้นที่ซึ่งเคยเป็นสีเขียว ต่อไปนี้อาจจะมีปัญหานานาชนิดเข้ามา ความสุขต้องเสียไปแน่นอน
นอกจากนั้น นางกนกกาญจน์ วงศ์ชัยยะ ชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 4 ต.วังใหม่ อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว ซึ่งมีบ้านอยู่ห่างจากจุดก่อสร้างไม่กี่ร้อยเมตร ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นทั้งน้ำตาว่า ตอนนี้ชาวบ้านไม่รู้ว่า โรงงานเข้ามาจะได้ประโยชน์อะไร โรงงานเข้ามาอยู่เหมือนทับจมูกเราอยู่ตรงนี้ ต่อไปอยู่กันอย่างไร ผู้เฒ่าผู้แก่นอนไม่หลับกันทั้งคืน กังวลว่าต่อไปลูกหลานจะอยู่กันอย่างไร พร้อมกับร้องให้และเดินเข้าไปคุกเข่า ร้องขอให้ ท่านผู้จัดการโรงงานย้ายออกไปด้วย พร้อมทั้งก้มลงกราบกับพื้น อย่างไรก็ตาม ทางฝ่ายโรงงานตอบเพียงสั้น ๆ ว่า ขณะนี้คงทำไม่ได้เพราะได้ทำตามกฏหมายแล้วเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นนี้ ได้มีนักเรียนจากสภาเด็กและเยาวชนเข้าร่วมซักถามด้วย โดย นายณัฐพล ปราสาททอง ประธานสภาเด็กและเยาวชนอำเภอวังน้ำเย็น จ.สระแก้ว ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ อ.วังสมบูรณ์ กล่าวว่า มีความเป็นห่วงเรื่องสุขภาพ และน้ำฝนที่ชาวบ้านใช้อุปโภคบริโภคในปัจจุบัน จะใช้ไม่ได้อีกแล้ว ในฐานะตัวแทนเยาวชน อยากให้บริษัทได้ฉุกคิดปัญหาเหล่านี้ด้วย ซึ่งตัวแทนบริษัทก็ได้ตอบข้อซักถามแบบไม่ระบุชัดเจนว่า ต่อจากนี้ไป น้ำฝนที่ประชาชนเคยใช้กินได้อยู่ในปัจจุบัน จะใช้กินได้อีกต่อไปหรือไม่ภายหลังมีการตั้งโรงงาน ด้วยการตอบเลี่ยง ๆ ไปว่า ทางโรงงานมีฤดูหีบอ้อยเพียง 4 เดือน หลังจากนั้นจะเป็นการซ่อมบำรุง ทางเราคงจะได้มีการนำกรณีนี้มาวิเคราะห์ตรวจสอบต่อเนื่อง และเตรียมมาตรการช่วยเหลือด้วยการจัดหาน้ำดื่มให้ชุมชนต่อไป
อย่างไรก็ตาม สำหรับการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นดังกลาว เริ่มดำเนินการตั้งแต่เวลา 8.30 น.ถึงเวลา 13.00 น. โดยผู้ที่เข้าร่วมงาน จะได้รับเอกสารโครงการ เสื้อ น้ำ ขนม และน้ำตาล จำนวน 2 กก. เมื่อเสร็จสิ้นการรับฟังความเห็น ทางบริษัทผู้ดำเนินการได้จัดให้มีการเลี้ยงโต๊ะจีน สำหรับผู้เข้าร่วมทุกคน ขณะที่กลุ่มของชาวบ้านและประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างดัวกล่าว ยังคงปักหลักประท้วงอยู่บริเวณด้านหน้าสหกรณ์โคนมฯ ซึ่งมีการกล่าวโจมตีผู้ที่ได้ประโยชน์จากโครงการนี้ โดยระบุว่า หลังจากนี้ทางชาวบ้านจะรวมตัวกันล่ารายชื่อชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วย เพื่อโต้แย้งและร้องคัดค้าน การจัดทำประชาพิจารณ์ครั้งนี้ ตามขั้นตอนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป