อมตะ-เหมราชเล็งทำโรงไฟฟ้าขยะ รายอื่นหมดสิทธิ์ติดเงื่อนไขจำกัดพื้นที่-มีสายส่ง (21 ส.ค. 59)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 21 สิงหาคม 2559
อมตะ-เหมราชเล็งทำโรงไฟฟ้าขยะ รายอื่นหมดสิทธิ์ติดเงื่อนไขจำกัดพื้นที่-มีสายส่ง
นิคม อมตะ-เหมราช โดดทำโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม เอกชนอื่นหมดโอกาสกกพ.ระบุพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าขยะจำกัดแค่ 11 นิคม ด้านอมตะฯเตรียมนำเสนอบอร์ดเคาะให้ลงทุนหรือไม่
ลอตต่อไป กกพ.เตรียมเปิดรับซื้อไฟจากขยะชุมชน 100 เมกะวัตต์
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) ได้ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม ที่มีกำลังผลิต 50 เมกะวัตต์ และมีการกำหนดว่าผู้สนใจจะต้องตั้งโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่ กำหนดไว้เท่านั้น คือ 1) นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร 2) นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ 3) นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง/ปิ่นทอง (แหลมฉบัง)/ปิ่นทอง (โครงการ 3) 4) นิคมอุตสาหกรรมผาแดง 5) นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า 6) นิคมอุตสาหกรรมเหมราช 7) นิคมอุตสาหกรรมราชบุรี 8) นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด 9) นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง 10) นิคมอุตสาหกรรมพิจิตร และ 11) นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร
แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ภายหลังจากที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีผู้สนใจต้องการลงทุนค่อนข้างมาก แต่เมื่อมีการกำหนดพื้นที่เฉพาะ 11 นิคมอุตสาหกรรมเท่านั้น ส่งผลให้บางรายไม่สามารถพัฒนาโครงการได้ เนื่องจาก 1) เตรียมพื้นที่อื่นไว้สำหรับทำโครงการ และ 2) มีนิคมที่ต้องการจะลงทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าขยะเอง เช่น นิคมอมตะ และนิคมเหมราช ฉะนั้นเท่ากับว่าจะเหลือเพียงไม่ถึง 3 โครงการที่จะเปิดให้เอกชนรายอื่นเข้ามายื่นเสนอขอผลิตไฟฟ้า
ทั้งนี้ มองว่าโครงการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวจะช่วยให้ขยะอุตสาหกรรมอันตรายที่มีการ ลักลอบทิ้งประมาณร้อยละ 30-40 หันมาเข้าระบบมากขึ้น จากเดิมที่ขยะของเสียจากอุตสาหกรรมจะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อกำจัดประมาณ 800-2,000 บาท/วัน เมื่อมีโรงไฟฟ้าขยะเข้ามาในพื้นที่อาจทำให้ลดค่าใช้จ่ายและอาจมีรายได้จาก การขายขยะเพิ่มด้วย อย่างไรก็ตามปัจจุบันเทคโนโลยีของโรงไฟฟ้าขยะในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 150 ล้านบาท/เมกะวัตต์ สำหรับกำลังผลิตที่ 10 เมกะวัตต์ เท่ากับว่าจะมีการลงทุนอยู่ที่ประมาณ 1,500 ล้านบาท/โรง
"โครงการนี้ให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ประมาณ 6 บาท/หน่วย ซึ่งเป็นอัตราที่ค่อนข้างจูงใจให้ลงทุน แต่นักลงทุนก็ถอดใจไม่เสนอโครงการเพราะข้อจำกัดด้านพื้นที่ นอกจากต้องมีพื้นที่ที่กำหนดแล้ว จะต้องมีระบบสายส่งรองรับได้อีกด้วย ซึ่งผู้สนใจทำโครงการต้องมีการรับรองจากการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ว่าสายส่งในพื้นที่รองรับได้หรือไม่ด้วย"
รายงานข่าวจากนิคมอุตสาหกรรมอมตะระบุว่า ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างพิจารณาความเหมาะสมว่าจะลงทุนในพัฒนาโรงไฟฟ้าขยะเอง ได้หรือไม่ เนื่องจากมีนักลงทุนหลายรายสนใจที่จะเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าขยะ ด้วย ซึ่งเร็ว ๆ นี้จะมีการนำเสนอโครงการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าขยะต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร หรือบอร์ดเพื่อพิจารณา
สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนของ กกพ. เป็นไปตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ AEDP (Alternative Energy Development Plan 2558-2579) ที่จะต้องรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรวม 16,778 เมกะวัตต์ ในปี 2579 เฉพาะในส่วนของโรงไฟฟ้าขยะจะรับซื้อไฟฟ้ารวม 550 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้ยังเหลือจำนวนเมกะวัตต์ที่ต้องรับซื้อเพิ่มเติมประมาณ 180 เมกะวัตต์
หลังจากประกาศเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมไปเมื่อ วันที่ 9 สิงหาคม ในช่วงระหว่าง 9-19 สิงหาคม จะต้องตรวจสอบจุดเชื่อมโยงระบบส่ง จากนั้นช่วงวันที่ 22-28 กันยายน จะเปิดให้ยื่นข้อเสนอขอขายไฟฟ้า และ กกพ.จะประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกในวันที่ 28 ตุลาคม ภายในวันที่ 25 กุมภาพันธ์จะต้องมีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) และจะต้องผลิตไฟฟ้าเข้าระบบภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2562
ภายหลังจากที่เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมแล้ว เร็ว ๆ นี้ กกพ.เตรียมที่จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนเพิ่มเติมประมาณ 100 เมกะวัตต์ด้วย ทั้งนี้ ภาคเอกชนที่สนใจเข้ามาลงทุนยังกังวลในเรื่องของประเด็นข้อกฎหมายการร่วมทุน ระหว่างรัฐกับเอกชนที่มีขั้นตอนการพิจารณาที่ค่อนข้างนานนั้น ภาครัฐจะมีการแก้ปัญหาอย่างไร