ชาวบ้านขอมีส่วนร่วมพัฒนาเขตศก.นราธิวาส (17 ส.ค. 59)
โพสต์ทูเดย์ 17 สิงหาคม 2559
ชาวบ้านขอมีส่วนร่วม พัฒนาเขตศก.นราธิวาส
โดย...แวดาโอ๊ะ หะไร
นราธิวาสถือเป็นพื้นที่เศรษฐกิจชายแดน ซึ่งรัฐบาลยกให้ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เป็นเมืองต้นแบบการค้าชายแดนระหว่างประเทศ พร้อมกับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งถือว่ามีความคืบหน้าไปมาก
อย่างไรก็ตาม ข้อท้วงติงจากคนพื้นที่ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาสคือ ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนในพื้นที่ ซึ่งในระยะยาวน่าเป็นห่วงว่า อาจเกิดผลกระทบในด้านต่างๆ
ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ส.ค. ตัวแทนภาคประชาชนในพื้นที่ทั้ง 13 อำเภอใน จ.นราธิวาส นำโดย วิกรม ประชุมกาเยาะมาต มะสูดิง วามะ และนูรหม๊ะ วี ได้เข้ายื่นหนังสือถึง ไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ รอง ผวจ.นราธิวาส ตัวแทนศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) เพื่อเสนอต่อไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ทบทวนผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น เกี่ยวกับโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส สามเหลี่ยมแห่งความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน
ข้อเรียกร้องหลักของตัวแทนภาคประชาสังคมคือ ความห่วงใยผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชน วัฒนธรรมอันดีงาม และเรียกร้องให้จังหวัดนราธิวาสอนุมัติแต่งตั้งตัวแทนภาคประชาชนชุดนี้ เป็นคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส เพื่อให้คณะกรรมการชุดนี้มีส่วนร่วมในการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อเป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชนชาว จ.นราธิวาส
นอกจากนี้ตัวแทนภาคประชาชนยังเสนอให้มีมาตรการควบคุมดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง รวมทั้งข้อเสนอแนะให้มีการจำหน่ายสินค้าปลอดภาษี และลดสภาวะคนว่างงานให้มีงานทำมากขึ้น โดยจ่ายค่าแรงงานขั้นต่ำตามกฎหมายกำหนด
ด้าน สุจิตรา สุทธิพงศ์ ประธานคณะทำงานเสริมสร้างและพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง เปิดเผยว่า การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น ประชาชนในพื้นที่ห่วงใยว่าวัฒนธรรมจะถูกกลืนจากการพัฒนา ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่มีมาตั้งแต่เดิมทั้งชุมชนวิถีชีวิตและศาสนา และเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติที่อาจจะไม่เพียงพอถ้าไม่มีการควบคุมและการจัดหาไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่สามารถตัดสินใจร่วมกับภาครัฐในการพัฒนาต่างๆ
“นโยบายต่างๆ ของรัฐเราไม่สามารถที่จะก้าวล่วงได้ แต่ต้องได้ผลประโยชน์ทั้ง 3 ฝ่าย แต่อย่าให้ประชาชนได้รับผลกระทบก็แล้วกัน”
แม้จะเป็นความเคลื่อนไหวเล็กๆ แต่ข้อสำคัญคือกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนซึ่งทุกฝ่ายไม่ควรมองข้าม หากมุ่งหวังให้เป้าหมายการพัฒนาคือความยั่งยืน