กกพ.เปิดรับซื้อไฟจากขยะอุตฯ ดันโซลาร์เซลล์เสรีนำร่อง100MW (18 ส.ค. 59)

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 18 สิงหาคม 2559
กกพ.เปิดรับซื้อไฟจากขยะอุตฯ ดันโซลาร์เซลล์เสรีนำร่อง100MW

กกพ.เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม 50 เมกะวัตต์ นิคมอุตสาหกรรม 11 แห่ง พร้อมรับทั้งปริมาณขยะ-ระบบสายส่งรองรับ นอกจากนี้ยังดันโซลาร์เซลล์เสรีนำร่องก่อน 100 เมกะวัตต์ ยกเว้นค่าธรรมเนียมจูงใจ

นายไกรสีห์ กรรณสูต กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ Feed-in Tariff หรือ FiT สำหรับการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนปี 2558-2562 ในปริมาณไม่เกิน 50 เมกะวัตต์ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการแข่งขันด้านราคา (Competitive Bidding) และต้องมีพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเท่านั้น โดยจะเปิดให้ยื่นข้อเสนอขอขายไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 22-28 กันยายนนี้ หลังจากนั้นจะประกาศผู้ที่ได้รับการคัดเลือกในวันที่ 28 ตุลาคม และผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องดำเนินการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับระบบไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายภายในเดือนกุมภาพันธ์2560ทั้งนี้ก่อนที่จะมีการยื่นข้อเสนอขอขายไฟฟ้า ผู้สนใจทุกรายจะต้องดำเนินการให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายเข้าตรวจสอบจุดเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าว่าสามารถรับปริมาณไฟฟ้าเข้าระบบเพิ่มเติมได้หรือไม่ในช่วงระหว่างวันที่9-19สิงหาคมนี้

ก่อนหน้านี้กกพ.ได้ดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบแล้ว 6,380 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นรับซื้อจากพลังงานแสงอาทิตย์ 3,024 เมกะวัตต์ จากพลังงานชีวมวล 3,494 เมกะวัตต์ จากพลังน้ำ 36 เมกะวัตต์ จากพลังงานลม 1,616 เมกะวัตต์ และจากไบโอแก๊ส 405 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ตามเป้าหมายของแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ AEDP (Alternative Energy Development Plan 2558-2579) วางเป้าหมายที่จะรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนรวม 16,778 เมกะวัตต์ ฉะนั้นเท่ากับว่าตอนนี้ยังมีปริมาณเหลือที่ต้องรับซื้อไฟฟ้าอีกราว 7,652 เมกะวัตต์ ที่ กกพ.จะต้องดำเนินการเปิดรับซื้อต่อไป

"ก่อนที่จะประกาศรับซื้อได้มีการสอบถามไปยังการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)เพื่อดูว่านิคมใดบ้างที่สามารถรองรับได้ คือจะต้องมีทั้งปริมาณขยะที่สามารถรองรับการตั้งโรงไฟฟ้าได้ และต้องอยู่ในพื้นที่ที่สายส่งไฟฟ้ารองรับได้ด้วย ซึ่งมี 11 นิคมอุตฯที่แจ้งว่ารองรับได้"

นายไกรสีห์กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ กกพ.ยังได้เปิดโครงการนำร่อง (Pilot Project) การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อย่างเสรี กำลังผลิต 100 เมกะวัตต์ โดยให้ผู้สนใจสามารถแจ้งความต้องการได้ที่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายคือ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม จนถึงวันที่กำลังผลิตถึงครบถ้วนตามเป้าหมาย และให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมในการตรวจสอบเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า และยกเว้นค่าธรรมเนียมที่จะต้องเรียกเก็บจากผู้สนใจติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ด้วย

รายงานจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเพิ่มเติมว่าสำหรับนิคมอุตสาหกรรมที่สามารถตั้งโรงไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมได้ตามรายงานแบบประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม(EIA) และมีระบบไฟฟ้ารองรับการเชื่อมต่อกับการนิคมฯ คือ 1) นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร 2) นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ 3) นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง/ปิ่นทอง (แหลมฉบัง)/ปิ่นทอง (โครงการ 3) 4) นิคมอุตสาหกรรมผาแดง 5) นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า 6) นิคมอุตสาหกรรมราชบุรี 7) นิคมอุตสาหกรรมเหมราชชลบุรี 8) นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด 9) นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง 10) นิคมอุตสาหกรรมพิจิตร และ 11) นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร