ประจินเผยสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เสร็จใน 2 ปีครึ่ง แบ่งแผนสร้าง 4 ช่วง (16 ม.ค. 58)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 16 มกราคม 2558
ประจินเผยสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เสร็จใน 2 ปีครึ่ง แบ่งแผนสร้าง 4 ช่วง
15 ม.ค. "ประจิน" มั่นใจสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เสร็จใน 2 ปีครึ่ง แบ่งแผนสร้าง 4 ช่วงฝันเริ่มตอกเสาเข็มได้ 1 ก.ย.นี้ ระบุนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ ช่วยสร้างไว ประหยัดงบ สิ้นปี 60 เปิดใช้ไฮสปีดเทรน เส้นกทม.-มาบตพุด ส่วนมี.ค.61 เปิดใช้แก่งคอย-โคราช-หนองคาย พร้อมประชุมไทย-จีน นัดแรก 21-22 ม.ค.นี้
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมเตรียมการฝ่ายไทย-จีน เพื่อความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทย ครั้งที่ 1 ว่า ที่ประชุมได้จัดทำแผนกำหนดโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตร (รถไฟกึ่งความเร็วสูง) ระยะทาง 873 กม. โดยกำหนดกรอบเวลาก่อสร้างไม่เกิน 2 ปีครึ่ง หรือเสร็จภายในปี 61 ซึ่งเร็วว่าปกติที่ต้องใช้เวลา 4 ปี พร้อมกับมีการแบ่งแผนก่อสร้างเป็น 4 ช่วง กรุงเทพฯ-แก่งคอย 133 กม. แก่งคอย-มาบตาพุด 246.5 กม. แก่งคอย-นครราชสีมา 138.5 กม.และนครราชสีมา-หนองคาย 355 กม.
นอกจากนี้ ยังกำหนดกรอบเวลาดำเนินงาน โดยในเดือนก.พ.58 จะมีการประชุมคณะทำงานไทย-จีน 3 ครั้ง เพื่อหารือการออกแบบ การเวนคืนที่ดิน การเตรียมพร้อมบุคลากร เทคโนโลยี วงเงินงบประมาณ และการลงทุน หลังจากนั้นวันที่ 1 มี.ค.จะส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจเส้นทางก่อสร้างพร้อมกับหาข้อสรุป โครงการให้เสร็จในเดือนก.ค. และเริ่มลงเสาเข็มก่อสร้างรถไฟฟ้าช่วงที่ 1 และ 2 ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 58 สร้างเสร็จและเปิดเดินรถได้เดือน ธ.ค.60 ส่วนช่วงที่ 3 และ 4 เริ่มก่อสร้างได้วันที่ 1 ธ.ค.58 ก่อสร้างเสร็จและเปิดให้บริการเดือนมี.ค.61
"การออกแบบก่อสร้างจะมีการนำเทคโนโลยีเครื่องบินติดกล้องภาพถ่ายแผนที่ทางอากาศและระบบเซ็นเซอร์พื้นดินที่ทันสมัยมาใช้ในการสำรวจแนวก่อสร้าง ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้การสำรวจออกแบบทำได้เร็ว และช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย สำหรับกรอบวงเงินเดิมกำหนด หากสร้างรถไฟทางคู่ 1,000 กม. ใช้เงินลงทุน 4 แสนล้านบาท แต่ครั้งนี้อาจจะใช้เงินไม่ถึงเพราะระยะทางทำแค่ 873 กม.เท่านั้น" พล.อ.อ.ประจิน กล่าว
พล.อ.อ.ประจินกล่าวต่อว่า การประชุมคณะทำงานร่วมไทย-จีน ครั้งที่ 1 วันที่ 21-22 ม.ค.นี้ มีประเด็นสำคัญพูดคุยถึงความสำคัญของโครงการ การศึกษา การออกแบบ และการแบ่งบทบาทหน้าที่ 2 ฝ่ายให้ชัดเจน หลังจากนั้นวันที่ 5-7 ก.พ. 58 จะประชุมรอบสองเพื่อหารือแผนการลงทุนว่า จะใช้งบประมาณจากฝ่ายจีนและไทยเท่าไร และครั้งสุดท้ายวันที่ 25-27 ก.พ.จะหารือเพื่อสรุปกรอบการทำงานทั้งหมด
ส่วนการเปิดประมูลหาผู้รับเหมาก่อสร้างต่างๆนั้น เนื่องจากโครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างไทยกับจีน จึงได้มีการรวบรวมข้อมูลบริษัทไทยที่มีขีดความสามารถดำเนินโครงการ 12–15 บริษัท เป็นทั้งบริษัทระดับใหญ่ ระดับกลางและผู้แทนของบริษัทต่างชาติ ส่วนฝ่ายจีนก็มีการสรุปรายชื่อบริษัทผู้รับเหมาเช่นกัน ซึ่งมากจาก 5 รัฐวิสาหกิจของจีน ซึ่งทั้งฝ่ายไทยและจีนจะนำข้อมูลมาพิจารณาร่วมกัน และจับคู่คัดเลือกหาบริษัทที่มีความเหมาะสมที่จะเข้ามาดำเนินงานต่อไป เพื่อสรุปและนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมร่วมไทย-จีนครั้งที่ 3 ด้วย
พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า เมื่อวันที่ 13 ม.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการดำเนินโครงการ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเพื่อจะดูแลในภาพรวมทั้งหมด มีหน้าที่กำหนดนโยบาย กำกับและติดตามขับเคลื่อนการดำเนินโครงการนำไปสู่การปฏิบัติ และแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการ (คบร.)มี รมว.คมนาคมเป็นประธาน มีหน้าที่บริหารอำนวยการ กำกับดูแลภาพรวมการดำเนินโครงการและยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน การคมนาคมขนส่งของไทย พร้อมกับติดต่อประสานงานหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
นอกจากนี้ คบร.ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 3 ชุด ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการที่ปรึกษามีพลเอกอุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหมเป็นประธาน คณะอนุกรรมการบูรณาการแผนงานและการดำเนินงาน มี รมว.คมนาคมเป็นประธาน คณะอนุกรรมการบูรณาการด้านการเงินและรูปแบบการลงทุน มีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคมเป็นประธาน