ไทยพีบีเอสจับมือเครือข่ายฯสมุย ร่วมจัดการขยะสมุย 3 แสนตัน (17 ส.ค. 59)
Thai PBS 17 สิงหาคม 2559
ไทยพีบีเอสจับมือเครือข่ายฯสมุย ร่วมจัดการขยะสมุย 3 แสนตัน
ไทยพีบีเอสเดินหน้าโครงการขับเคลื่อนการจัดการปัญหาเกาะสมุย หวังเป็นตัวกลางจัดการขยะตกค้างกว่า 3 แสนตัน พร้อมวางแนวทางการจัดการขยะอย่างยั่งยืนในอนาคต และคาดว่าจะได้โมเดลจัดการขยะในพื้นที่อื่นของประเทศ
วันนี้ (17 ส.ค.) รศ.วิลาสินี พิพิธกุล รองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) กล่าวว่า ภารกิจของไทยพีบีเอส นอกจากผลิตสื่อที่มีประโยชน์ต่อสาธารณะแล้ว ยังมีภารกิจสำคัญในด้านการขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนแปลงในสังคมในทิศทางที่ดีขึ้นด้วย วันนี้ไทยพีบีเอสได้เดินหน้าโครงการขับเคลื่อนการจัดการปัญหาขยะบนเกาะสมุย ด้วยการประสานเครือข่ายทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้เห็นแนวทางการจัดการไปจนถึงสามารถลงมือปฏิบัติการได้ ทั้งการจัดการขยะตกค้างและขยะที่เกิดขึ้นใหม่ทุกวัน
เวทีเสวนานี้เป็นครั้งแรก ประกอบด้วยตัวแทนจากกรมควบคุมมลพิษ นักวิชาการด้านการจัดการของเสีย ที่ปรึกษาด้านขยะจากกรุงเทพมหานคร ตัวแทนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กลุ่มพลเมืองสมุย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากขยะตกค้าง เพื่อให้ได้ข้อมูลและองค์ความรู้เบื้องต้นทั้งในเชิงวิชาการและเชิงพื้นที่
นอกจากการจัดการขยะบนเกาะสมุยแล้ว โครงการนี้ยังหวังว่าจะได้รูปแบบการจัดการที่นำไปใช้สำหรับพื้นที่อื่นๆ ได้ ซึ่งไทยพีบีเอสจะขยายเครือข่ายเพื่อสร้างความร่วมมือเกิดการจัดการขยะอย่างจริงจังในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกาะสมุยมีขยะตกค้างกองทิ้งในบ่อขยะไม่ได้รับการจัดการถึง 3 แสนตัน เนื่องจากเตาเผาขยะเดิมไม่สามารถใช้งานได้ และมีบ่อขยะรองรับเพียง 37 ไร่ ยังมีขยะเกิดขึ้นใหม่อีกวันละ 150 ตัน เนื่องจากการขยายตัวของการท่องเที่ยว ซึ่งคนในพื้นที่กำลังมีความเห็นแตกต่างกันในวิธีการจัดการขยะระหว่างการเปิดประมูลให้ขนไปฝังกลบที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีกับการจัดการบนเกาะโดยผลิตเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่งที่มีค่าจัดการขยะที่แตกต่างกันเกือบเท่าตัวและประชาชนกำลังกังวลกับความไม่โปร่งใส จึงอยู่ระหว่างที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีให้คณะกรรมการจังหวัดด้านการจัดการขยะพิจารณาเรื่องนี้
ส่วนขยะที่เกิดขึ้นใหม่ แม้ว่าจะเริ่มมีการตื่นตัวในการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางบ้างแล้ว จากผู้ประกอบการท่องเที่ยวและชุมชนต่างๆ หลายส่วนในเวทีสัมมนาต่างสนับสนุนให้ไทยพีบีเอส ขับเคลื่อนและผลิตสื่อ เพื่อให้เกิดการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง แทนที่จะต้องเสียงบประมาณในการจ้างเหมากำจัดรวมไปกับขยะเก่า