ปลัดอุตฯลุยสางปม 37 "ล้ง" บนป่าชายเลนระนอง (11 ส.ค. 59)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 11 สิงหาคม 2559
ปลัดอุตฯลุยสางปม 37 "ล้ง" บนป่าชายเลนระนอง
ปัญหาการค้ามนุษย์ในภาคประมงและการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ไร้การควบคุม (IUU) เป็นปัญหาที่หลายหน่วยงานเร่งเข้ามาช่วยกันแก้ไข ล่าสุดเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงตรวจโรงงานในพื้นที่จังหวัดระนอง จากก่อนหน้านี้ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ล้งใน จ.สมุทรสาครเเล้ว
นายสมชายกล่าวว่า พื้นที่ระนองส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าชายเลน เขตป่าสงวนแห่งชาติ แต่เดิมพื้นที่ทั้งหมดเป็นพื้นที่ประทานบัตรเพื่อทำการขุดแร่ดีบุกมาก่อน จึงทำให้ป่าชายเลนถูกทำลายหมดสิ้นไป ประชาชนจึงเข้าครอบครองพื้นที่ จึงได้มอบหมายให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดเข้าแก้ไข โดยขอใช้ประโยชน์ที่ดินจาก "กรมป่าไม้" มาจัดสรรให้ประชาชนอาศัยทำประโยชน์ในช่วงปี 2525-2540 (242 ไร่ 2 งาน) และอีกแปลงปี 2529-2559 (224 ไร่ 9 ตารางวา) ปัจจุบันครบกำหนดและยังไม่ได้รับอนุญาตต่ออายุจากกรมป่าไม้ (ดูตาราง) ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในภาคประมง และ IUU จึงสั่งให้กระทรวงอุตสาหกรรมลงตรวจสอบโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ และเรื่องสิทธิในการจัดสรรพื้นที่ร่วมกับหลายหน่วยงานอย่างเร่งด่วน
อาทิ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม โดยกรมทรัพยากรทางทะเลเเละชายฝั่ง จะเข้ากำกับดูเเลเพื่อป้องกันการบุกรุกพื้นที่ และกระทรวงเเรงงานรวมไปถึงศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลเขต 3 (ศรชล.3) และกรมประมง
ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.โรงงาน 2535 เรื่องการจัดสรรพื้นที่ป่าชายเลน และป่าสงวนแห่งชาติมีทั้งหมด 9,000 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ป่าชายเลน 4,000 ไร่ ส่วนอีก 5,000 ไร่ ปัจจุบันได้กลายเป็นชุมชนเมืองให้ประชาชนเช่าอาศัย และประกอบกิจการโรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกิจการประมงต่อเนื่อง เมื่อพื้นที่ดังกล่าวหมดสัญญา และติดเงื่อนไข พ.ร.บ.โรงงาน 2535 จึงไม่สามารถจดทะเบียนสถานประกอบการ (ล้ง) ที่ถูกต้องได้ ซึ่งนายก อบจ.ได้รายงานปัญหาต่อพลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย และอุตสาหกรรมจังหวัดแล้วเมื่อเดือนที่ผ่านมา
ภาพรวมอุตสาหกรรมหลัก จ.ระนอง มีทั้งแปรรูปอาหาร 11 โรงงาน ห้องเย็น 6 โรงงาน ปลาป่น 11 โรงงาน ส่วนอุตสาหกรรมต่อเนื่องและสนับสนุนการประมง ได้แก่ โรงน้ำแข็ง 29 โรง คานเรือ-ซ่อมเรือ 8 โรง เจ้าหน้าที่ต้องเข้าตรวจสอบทั้งหมด
ล่าสุดชุดหน่วยเฉพาะกิจได้ลงพื้นที่ตรวจล้งจำนวน 19 ราย พบว่าไม่เข้าข่ายเป็นโรงงาน 5 ราย เข้าข่ายเป็นโรงงาน 14 ราย และมีการตรวจพบความผิดตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 คือ ประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต 3 ราย ประกอบกิจการโดยไม่แจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ทราบ 5 ราย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเปรียบเทียบผลคดี
ส่วนความผิดตามกฎหมายอื่น ๆ ได้แก่ 1.มีแรงงานต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต 2.จ้างเด็กต่ำกว่า 18 ปีทำงานในสถานที่ต้องห้าม 3.แรงงานต่างด้าวไม่ทำตามลักษณะงาน 4.ไม่ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน รวมไปถึงความผิดตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 กรมประมงจึงสั่งให้หยุดกิจการ 10 วัน 1 ราย และหยุดกิจการ 30 วัน 1 ราย
ขณะที่ผลสรุปโดยรวมล้งที่เข้าข่ายและไม่เข้าข่ายเป็นโรงงานตามมาตรการแก้ปัญหา IUU มีทั้งสิ้น 80 ราย มีแรงงานทำงานรวม 4,000 คน ได้เข้าดำเนินการแก้ไขไปแล้วทั้งสิ้น 37 ราย และรายงานให้หน่วยงานประมงรับทราบ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาไอยูยูแล้ว
จากผลการประชุมร่วม 9 หน่วยงาน และสภาอุตสาหกรรม จ.ระนอง มี 4 ข้อเสนอต่อ สนช. และ ครม. คือ 1.ควรใช้มาตรการเชิงนโยบายของรัฐ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและผู้ประกอบการ 2.ผลักดันให้นำเรื่องขอต่ออายุใช้พื้นที่ป่าชายเลน เสนอ ครม.เพื่อพิจารณาผ่อนผัน ยกเว้นการปฏิบัติตามมติ ครม.เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลนดังกล่าว ประเด็นสำคัญคือ 3.พื้นที่ดังกล่าวไม่มีสภาพของป่าชายเลนเหลืออยู่ เห็นควรให้ยกเลิกป่าชายเลนให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อให้เอกชนเข้าไปใช้ประโยชน์และรัฐควบคุมได้ และ 4.เสนอให้ออกมาตรการระยะสั้นโดยให้โรงงานในพื้นที่ดังกล่าวสามารถจดทะเบียนกับอุตสาหกรรมได้ "โดยมีเงื่อนไขในการออกใบอนุญาตหรือใบอนุญาตนี้อาจถูกเพิกถอนได้ ซึ่งหากมีแนวโน้มว่าไม่สามารถแก้ไขได้ ทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะได้เสนอข้อเท็จจริงต่อไป"
แหล่งข่าวจากชาวประมงในพื้นที่ จ.ระนองกล่าวว่า พื้นที่ระนองส่วนใหญ่เป็นชาวประมงรายเล็กประกอบอาชีพนี้มา 20-30 ปีแล้ว และที่ป่าชายเลนที่ประกอบกิจการหลายแห่งใน จ.ระนองดำเนินมา 25-30 ปีแล้วเช่นกัน วันนี้กลับเป็นปัญหาการประกอบกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ หรือที่เรียกว่า ล้งผิดกฎหมาย และอาจมีการดำเนินการรื้อถอนในอนาคต ประชาชนจะอยู่อย่างไร และมีอาชีพนี้ต่อไปอย่างไร คนในพื้นที่ขาดรายได้ไปมาก ขอฝากการบ้านไปถึงหน่วยงานรัฐ
หากประกาศเป็นพื้นที่ป่าชายเลนแล้วจะไม่มีสิทธิ์ทำกิจกรรมใด ๆ ได้เลย ถือเป็นกฎหมายร้ายแรงมากกว่าป่าสงวนฯ โดยพื้นฐานนโยบายของรัฐบาลให้มีการอนุรักษ์ แต่จะดีมากหากพื้นที่นี้เป็นป่าจริง ๆ จะได้ช่วยกันรักษาฟื้นฟู แต่ตอนนี้ทั้งหมดแทบจะเป็นชุมชนเมืองไปแล้ว