ผ่าโครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดสมชายตั้งทีมชี้ชะตายุบ-แยก6กรม1รัฐวิสาหกิจ (14 ส.ค. 59)

ประชาชาติธุรกิจ 14 สิงหาคม 2559
ผ่าโครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดสมชายตั้งทีมชี้ชะตายุบ-แยก6กรม1รัฐวิสาหกิจ

"ปลัดสมชาย" ตั้งทีมคนรุ่นใหม่ลุยผ่าโครงสร้างสังคายนากระทรวงอุตสาหกรรม วางกรอบ 3 เดือนสรุปแผนบทบาทใหม่โยก-ยุบกรม เสนออรรชกาก่อนชงนายกฯประยุทธ์ต่อไป

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกาลชั่วคราวขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อเสนอความคิดเห็นในการปรับโครงสร้างการทำงาน และบทบาทหน้าที่ใหม่ของกระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงการปรับโครงสร้างสถาบันเครือข่ายภายใต้สังกัดกระทรวงอีก 11 สถาบัน โดยอาจต้องมีการโยกย้าย ยุบรวม หรือแยกบางส่วนออกมาตั้งเป็นอีกหน่วยงานขึ้นมา เพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการขับเคลื่อนประเทศให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการพัฒนาประเทศไปสู่ Thailand 4.0 รวมถึงนโยบายการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) โดยจะนำรูปแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศต่าง ๆ เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน มาศึกษาพิจารณา ซึ่งมีกรอบเวลาทำงานภายใน 3 เดือน ก่อนจะนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป

"นี่คือหนึ่งในยุทธศาสตร์กระทรวง อุตสาหกรรมระยะเร่งด่วน ที่ถูกกำหนดอยู่ในยุทธศาสตร์กระทรวงอุตสาหกรรม 20 ปี ซึ่งต้องการให้บทบาทของแต่ละหน่วยงานในกระทรวง ทำหน้าที่ทั้งกำกับดูแล ควบคู่กับการเป็นฝ่ายสนับสนุนส่งเสริม ดังนั้นกรมต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมที่มีในปัจจุบัน อาจต้องโยกย้าย ยุบรวม หรือแยกบางส่วนออกมาตั้งเป็นอีกหน่วยงานขึ้นมา เช่น อาจโยกให้ส่วนตรวจสอบออกใบอนุญาตแยกออกมาตั้งเป็นอีกสำนักงาน เพื่อดูแลเฉพาะเรื่องการออกใบอนุญาต หรืออาจแยกงานด้านส่งเสริมของแต่ละกรมมารวมไว้ที่ กสอ.เพียงกรมเดียว ทุกอย่างยังเป็นแนวคิดที่ยังไม่ตกผลึก แต่จำเป็นต้องทำเพื่อให้กระทรวงมีบทบาทใหม่ ขับเคลื่อนงานให้คล่องตัวและตรงกับนโยบายรัฐมากขึ้น"

สำหรับคณะทำงาน ชุดปรับโครงสร้างส่วนใหญ่เป็นข้าราชการรุ่นใหม่ ประกอบด้วย นางนิสากร จึงเจริญธรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน, นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, นายอภิจิณ โชติกเสถียร รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ระดับซี 10, นายณัฐพล รังสิตพล รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ระดับซี 10, นายอดิทัต วะสีนนท์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ระดับซี 9, นางสาวนันท์ บุญยะฉัตร วิศวกรโลหะการชำนาญการ สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ระดับซี 7

หลังการ ประชุม คณะกรรมการชี้นำยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการเพิ่มผลผลิต นวัตกรรม และมาตรฐานภาคอุตสาหกรรม (Spring Board) ได้พิจารณาการปรับโครงสร้าง สำนักงานคณะกรรมการการมาตรฐานแห่งชาติ (กมช.) ประกอบด้วย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ทำหน้าที่ตรวจประเมินและรับรองมาตรฐาน การกำหนดมาตรฐาน การรับรองระบบงาน ตรวจโรงงาน เพิ่มจำนวนหน่วยตรวจและหน่วยรับรองมาตรฐาน เป็นต้น 

ถ่ายโอนภารกิจมารวมอยู่ที่กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อกำหนดนโยบายและมาตรฐานเป็นหน่วยงานเดียว (Single Agency) จากเดิมเป็น Single Network ซึ่งจะเสร็จภายในปี 2561 เบื้องต้นวางไว้ 2 แนวทาง คือ สำนักงานคณะกรรมการการมาตรฐานแห่งชาติครอบคลุม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เดิมอยู่ภายใต้ สมอ.จะปรับมาอยู่ภายใต้สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและขึ้นตรงต่อ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม หรือมาเป็นสำนักงานสังกัดภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมและขึ้นตรงกับรัฐมนตรี

นอกจากนี้ยังพิจารณาแนวทางการปรับโครงสร้างสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จากหน่วยงานปฏิบัติเป็นหน่วยงานเชิงกลยุทธ์ ภารกิจคือประเมินโอกาสของผลิตภาพ นวัตกรรม และมาตรฐานของอุตสาหกรรมในอนาคต เพื่อกำหนดทิศทางและบูรณาการในการส่งเสริมทุกส่วนทั้งอุตสาหกรรม เกษตร การค้าและบริการร่วมกัน กำหนดทิศทางและจัดทำแผนในการส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมถึงรายสาขาคลัสเตอร์ คาดว่าจะสรุปโครงสร้างใหม่ในการประชุมครั้งต่อไป จากการประชุม Spring Board ดังกล่าวเป็นการเริ่มปรับบทบาทหน่วยงานในกระทรวง จากนี้จะเริ่มเห็นภาพโครงสร้างและบทบาทใหม่ที่ชัดเจนขึ้น

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวภายหลังการเข้าร่วมประชุม Spring Board ว่า โครงสร้างบางหน่วยงานต้องถูกปรับให้รองรับกับงานทั้งประเทศ ไม่จำเป็นว่าจะต้องดูเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการผลิตเท่านั้น ต้องรวมภาคบริการเข้าไปด้วย เพื่อมาช่วยกันผลักดันส่งเสริมให้ครอบคลุม เช่น สถาบันเพิ่มผลผลิตฯจะเปลี่ยนมาเป็นสถาบันส่งเสริมผลิตภาพแห่งชาติ ระหว่างนี้เอกชนจะกลับไปหารือบทบาทว่าจะสนับสนุนงานกันอย่างไร ภายใน 2 สัปดาห์จะสรุปรูปแบบภารกิจที่ชัดเจน

แหล่งข่าวกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับการปรับโครงสร้างใหม่ของกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อพิจารณาแล้วหากแนวคิดดังกล่าวเห็นว่าไม่สามารถปฏิบัติงานได้จริงจะใช้ วางเป็นเพียงแนวทางไว้เท่านั้น แต่หากมีความเป็นไปได้ในงานส่วนใดที่ต้องเพิ่ม โยกย้าย หรือยุบบางหน่วยงาน จึงจะกลับไปแก้ไขพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 หรืออาจใช้มาตรา 44 เพื่อปรับโครงสร้างใหม่กระทรวง

สำหรับยุทธศาสตร์ กระทรวงอุตสาหกรรม 20 ปี ที่อยู่ระหว่างการร่างเพื่อนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน ส.ค.นี้ ประกอบไปด้วย 3 งานหลัก คือ 1.ปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมขับเคลื่อนด้วยปัญญา เน้นใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย 2.ปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐาน โครงสร้างองค์กรเพื่อก้าวไปสู่ Thailand 4.0 3.เชื่อมโยงอุตสาหกรรมไทยกับเศรษฐกิจโลก

"การตั้งทีมคนรุ่นใหม่ขึ้นมา เพื่อให้ช่วยกันคิดแก้กรอบโครงสร้างเดิม ๆ แม้ก่อนนี้จะมีทีมเดิมที่วางกรอบบทบาทของกระทรวงอยู่แล้ว แต่เพราะยังห่วงโครงสร้างเดิมตาม พ.ร.บ.บทบาทงานจึงขยับเล็กน้อย แต่ก็ยังไม่มาก"