‘ไม้สัก’ มีอายุต้องโค่นใช้แล้วปลูกทดแทน อปป.ชี้อนุรักษ์คือใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน (8 ส.ค. 59)

Green News TV 8 สิงหาคม 2559
‘ไม้สัก’ มีอายุต้องโค่นใช้แล้วปลูกทดแทน อปป.ชี้อนุรักษ์คือใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

ผอ.ออป.ระบุ “ไม้สัก” มีวันหมดอายุ ควรโค่นใช้แล้วปลูกใหม่ทดแทน ชี้ช่วยลดคาร์บอน

นายพิพัฒน์ ชนินทยุทธวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) เปิดเผยในเวทีเสวนา “ทางออกการใช้ทรัพยากรไม้ของประเทศไทยอย่างยั่งยืน” ซึ่งจัดโดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมกับชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ตอนหนึ่งว่า การอนุรักษ์ป่าไม้นั้นไม่ใช่เพียงการเก็บไว้ แต่คือการที่จะนำเอามาใช้ประโยชน์อย่างไรให้ยั่งยืน เนื่องจากต้นไม้ก็มีวันหมดอายุเมื่อถึงจุดหนึ่งที่ไม่สามารถเก็กกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ต่อไป จึงควรมีการตัดเพื่อนำมาใช้ประโยชน์และปลูกต้นใหม่ขึ้นทดแทนเป็นวงจร

นายพิพัฒน์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของ ออป.ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2511 ปัจจุบันมีสวนป่าในการดูแล 1.15 ล้านไร่ โดยเป็นส่วนของไม้สักราว 6.2 แสนไร่ มีกำลังการผลิต 6-7 หมื่นล้าน ลบ.ม.ต่อปี แต่ยังนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับความต้องการ ทำให้ประเทศไทยต้องมีการนำเข้าจำนวนมาก ทั้งที่มีพื้นที่ปลูกที่สามารถแข่งขันในระดับโลก เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในเส้นศูนย์สูตร ซึ่งมีสภาพอากาศดีที่สุดในการปลูกต้นไม้ให้เจริญเติบโตได้ดี

“ขณะที่ป่าไม้เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่เราสามารถสร้างขึ้นได้ ทำไมเราจึงไม่หาทางใช้ประโยชน์ แทนที่จะไปใช้ปูนซีเมนต์ ซึ่งกลับกลายเป็นการทำลายล้างทรัพยากรมากกว่า เพราะการระเบิดภูเขานั้นไม่สามารถที่จะฟื้นกลับคืนได้ เบื้องต้นจึงยืนยันว่าไทยยังสามารถปลูกป่าเพื่อนำไม้มาใช้ประโยชน์ได้ ขอเพียงสังคมเข้าใจว่าป่าอนุรักษ์กับป่าเศรษฐกิจเป็นอย่างไร” นายพิพัฒน์ กล่าว

นายธีรพล นิยม ประธานคณะผู้ออกแบบโครงการรัฐสภาแห่งใหม่ กล่าวว่า ทีมออกแบบมีเจตนาชัดเจนที่จะใช้ไม้สักในอาคารรัฐสภา โดยต้องการให้สถาปัตยกรรมชิ้นนี้เป็นโชว์รูมระดับโลกของไม้สักไทย เนื่องจากไม้สักนั้นเป็นดีเอ็นเอของประเทศ สามารถปลูกได้ดีที่สุดที่ประเทศไทย มีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและจิตวิญญาณ เช่นเดียวกับอาคารรัฐสภาในต่างประเทศที่ล้วนแล้วแต่เห็นคุณค่าและเลือกใช้ไม้ที่เป็นดีเอ็นเอของประเทศนั้นๆ ในการสร้าง

“สังคมไทยมีการใช้ไม้อย่างรู้บุญคุณตั้งแต่ในอดีตก่อนจะยุติการใช้ไปเมื่อราว 30-40 ปีก่อน ซึ่งการใช้ไม้นั้นได้ทำให้เกิดภูมิปัญญาและฝีมือที่ระดับโลกยอมรับ เราจึงต้องการนำมาใช้ในยุทธศาสตร์การออกแบบด้วยเป้าหมายที่จะไปปักธงในเวทีโลก โดยการนำเอาคุณค่าแท้ของเราไปนำเสนอ ซึ่งในการออกแบบมีการใช้ไม้สักปริมาณ 5 พันต้น แต่คิดเป็นไม่ถึง 1% ของกำลังการผลิตของ ออป. ขณะที่อาคารรัฐสภาเมื่อสร้างเสร็จจะมีการใช้งานไปอีกนับร้อยปี” นายธีรพล กล่าว

นายระวี ถาวร ผู้ประสานงานภาคีความร่วมมือวนศาสตร์ชุมชน ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC) กล่าวว่า คนในสังคมยังมีการตีความว่าพื้นที่ป่าจะต้องเป็นการอนุรักษ์ทั้งหมด ทว่าอีกหน้าที่หนึ่งของป่าคือการตอบสนองด้านเศรษฐกิจ ทั้งนี้เป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการมีป่าอนุรักษ์ 25% ของพื้นที่ประเทศ ขณะนี้มีถึง 22% แล้ว แต่กลับกันในส่วนของป่าผลิตที่ตั้งเป้าไว้ 15% กลับยังมีเพียงแค่ 2%

รศ.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา นักวิชาการด้านการวิจัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ที่ผ่านมาการประกาศห้ามหรือการจับกุมผู้ตัดไม้นั้นไม่ได้ทำให้การอนุรักษ์ประสบผลสำเร็จ ซึ่งบริบทของประเทศไทยที่จะใช้กลยุทธ์การสร้างจิตสำนึกเพื่อดูแลป่ายังทำไม่ได้เนื่องจากปัญหาปากท้อง ดังนั้นจึงต้องใช้แนวคิดป่าเศรษฐกิจเข้ามาช่วย เมื่อมีการสร้างรายได้คนในพื้นที่ก็จะเห็นความสำคัญและช่วยกันดูแลป่า

“การเอากำลังจากเอกชนเข้ามาช่วยดูแลป่านับเป็นวิธีอนุรักษ์อย่างหนึ่ง แต่กรมป่าไม้เองก็ต้องยกระดับตนให้เป็นหน่วยงานกำกับกติกาและตรวจสอบ โดยเอกชนเป็นผู้สัมปทานป่าไม้ ซึ่งถ้าผู้ประกอบการกระทำผิดก็สามารถเพิกถอนใบอนุญาตได้ เหมือนกับ กสทช.” รศ.อดิศร์ กล่าว

นายบรรจง วงศ์ศรีสุนทร ผู้อำนวยการสำนักรับรองการป่าไม้ กรมป่าไม้ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมี พ.ร.บ.สวนป่า ที่เป็นช่องทางให้มีการปลูกป่าไม้เพื่อเศรษฐกิจได้อยู่แล้ว แต่ติดขัดปัญหาเรื่องการขออนุญาตที่มักถูกเพิกเฉยเจ้าหน้าที่ เนื่องจากอำนาจอยู่ที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) แทนที่จะเป็นกรมป่าไม้ ดังนั้นจึงเสนอให้ร่วมกันใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกฯ ในการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่เหล่านั้น

นายสันติ โอภาสปกรณ์กิจ ผู้ประสานงานกลุ่ม BIG TREE กล่าวว่า เสียงส่วนใหญ่ในสังคมนั้นมาจากกลุ่มชนชั้นกลางในเมือง ซึ่งต่างไม่ไว้วางใจในระบบป่าไม้เศรษฐกิจหรือการที่จะให้หน่วยงานรัฐเป็นผู้ควบคุมดูแล ทำให้เกิดปฏิกิริยาในหลักปลอดภัยไว้ก่อนคือกระแสต่อต้าน ดังนั้นหากรัฐบาลยังไม่สามารถเริ่มก้าวแรกอย่างการจัดการพื้นที่ต้นน้ำที่สำคัญของประเทศได้ ประชาชนก็คงไม่กล้าให้ทำอย่างอื่น

นายบพิตร เกียรติวุฒินนท์ ตัวแทนจากส่วนปลูกป่าภาคเอกชน สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายให้ความสำคัญในการเพิ่มพื้นที่ป่า ทางหน่วยงานจึงมองว่ากำลังหลักที่จะทำให้การจัดการป่าไม้ได้อย่างยั่งยืนคือภาคเอกชน เนื่องจากเอกชนสามารถคำนวณกำไรขาดทุนได้ดีและมีความคล่องตัว ซึ่งหากเมื่อใดการปลูกต้นไม้สามารถให้ผลผลิตที่สร้างรายได้ในราคาที่เหมาะสม เกษตรกรก็จะหันมาปลูกเป็นจำนวนมาก

“ยกตัวอย่างเช่นบริษัทกระดาษดับเบิ้ลเอที่มีการใช้ไม้ยูคาลิปตัส ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรโดยเฉพาะในบริเวณรอบพื้นที่หันมาปลูกต้นไม้เพิ่มบนคันนา ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากที่ดินที่ไม่ได้ใช้และก่อให้เกิดรายได้ นอกจากนี้การปลูกต้นไม้ยังทำให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นไม่เหมือนการทำเกษตรกรรม เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงน้อยกว่ามาก กรมป่าไม้จึงมองว่าเป็นอีกทางเลือกในการเพิ่มพื้นที่ป่า” นายบพิตร กล่าว