‘อนุฯ ไตรภาคี’ เปิดผลศึกษาพลังงานทดแทนกระบี่ พบศักภาพ 3 ปี ผลิตไฟฟ้าเพียงพอความต้องการ (11 ส.ค. 59)

Green News TV 11 สิงหาคม 2559
‘อนุฯ ไตรภาคี’ เปิดผลศึกษาพลังงานทดแทนกระบี่ พบศักภาพ 3 ปี ผลิตไฟฟ้าเพียงพอความต้องการ

เปิดผลการศึกษาพลังงานทางเลือก จ.กระบี่ พบมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้า คาด 3 ปี ผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการ ระบุ ระยะยาวผลิตได้ร่วม 1.7 กิกะวัตต์

นายกิตติชัย เอ่งฉ้วน รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ เปิดเผยว่า ในวันที่ 19 ส.ค.นี้ คณะอนุกรรมการศึกษาการใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานทางเลือกของ จ.กระบี่ จะนำผลการศึกษาเรื่องศักยภาพและความเป็นไปได้ในการใช้พลังงานหมุนเวียน 6 ประเภท เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการศึกษาการดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ (ไตรภาคี)

สำหรับผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการฯ พบว่า ภายใน 3 ปี จ.กระบี่ สามารถพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ถึง 287 เมกะวัตต์ ขณะที่ความต้องการใช้ในปัจจุบันอยู่ที่ 143 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตามในระยะยาว จ.กระบี่ มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ถึง 1,699 เมกะวัตต์

นายศุภกิจ นันทะวรการ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ กล่าวว่า หากคาดการณ์ตามแผนอนุรักษ์พลังงานของกระทรวงพลังงาน ตัวเลขการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของ จ.กระบี่ ในปี 2562 จะอยู่ที่ 167 เมกะวัตต์ ฉะนั้นในอีก 3 ปี จ.กระบี่ สามารถมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่พึ่งได้ 170 เมกะวัตต์ ก็เท่ากับว่าเพียงพอ

นายศุภกิจ กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน จ.กระบี่ ได้รับผลประโยชน์จากค่าเชื้อเพลิงชีวมวลและก๊าซชีวภาพถึงปีละ 793 ล้านบาท แต่หากในอนาคตสามารถใช้พลังงานหมุนเวียนได้ 100% ตัวเลขจะเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 3,051 ล้านบาท และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึงปีละ 888,858 ตัน

นายสมพร ช่วยอารีย์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า จ.กระบี่ มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์จำนวน 1,131 เมกะวัตต์ โดยในแผน 3 ปีแรก จะสามารถผลิตได้รวม 65 เมกะวัตต์ ส่วนพลังงานลมจะมีศักยภาพประมาณ 200 เมกะวัตต์ โดยในแผน 3 ปีแรก จะสามารถผลิตได้ 15 เมกะวัตต์

นายอธิราษฎร์ ดำดี ที่ปรึกษาคณะกรรมการปาล์มน้ำมัน จ.กระบี่ กล่าวว่า จ.กระบี่ มีพื้นที่การเกษตร 1.8 ล้านไร่ เป็นปาล์มน้ำมัน 9.8 แสนไร่ หรือคิดเป็น 52% มีผลผลิตรวม 3.28 ล้านตันต่อปี และด้วยนโยบายที่ให้เปลี่ยนพื้นที่จากยางพาราเป็นปาล์มน้ำมัน ทำให้มีอัตราการปลูกเพิ่มเฉลี่ย 5% ต่อปี ทั้งนี้ปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่ให้ผลผลิตได้มากที่สุดในทุกด้าน เพราะนอกจากผลผลิตที่เป็นน้ำมันราว 10% ส่วนที่เหลือล้วนเป็นพลังงานชีวมวลแทบทั้งสิ้น

“หากเป็นชีวมวลจากพืชประเภทอื่นอาจต้องรอจนกว่าจะถูกโค่น แต่ปาล์มน้ำมันเป็นพืนที่เราเก็บเกี่ยวและตัดแต่งตลอดทั้งปี ให้ผลผลิตที่ต่อเนื่องจนกว่าจะครบ 25 ปีจึงทำการโค่นแล้วปลูกใหม่ ทำให้ปัจจุบันมีมูลค่าจากการขายชีวมวลเหล่านี้กว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี” นายอธิราษฎร์ กล่าว

นายประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลผิดสัญญากับเครือข่ายฯ แล้ว 2 ข้อ ได้แก่ 1.ยกเลิกการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ ปรากกฎว่าปัจจุบันยังไม่มีการถอนเรื่อง 2.ยุติการประมูลโครงการโรงไฟฟ้า ปรากฏว่ากลับมีการประกวดราคาจนได้ผู้ประมูลราคาต่ำที่สุด ฉะนั้นข้อสุดท้ายเรื่องการใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ใน จ.กระบี่ ภายในระยะเวลา 3 ปี ก็จะรอดูว่าจะมีการผิดสัญญาอีกหรือไม่