ภาคปชช.กระบี่ ฉะนโยบายพลังงานรัฐ สกัดการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่ (11 ส.ค. 59)
สำนักข่าวอิศรา 11 สิงหาคม 2559
ภาคปชช.กระบี่ ฉะนโยบายพลังงานรัฐ สกัดการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่
เครือข่ายภาคปชช. ประกาศชัดขอเวลา 3 ปีพิสูจน์ กระบี่พร้อมใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ซัดนโยบายพลังงานรัฐ สกัดการพัฒนา วอนรัฐหยุดแนวคิดสร้าง โรงไฟฟ้าถ่านหิน
วันที่ 11 สิงหาคม 2559 ที่ห้องจารุพงษ์ 203 ตึกกิจกรรมนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(ท่าพระจันทร์) กรรมการภาคประชาชนในอนุกรรมการศึกษาการใช้พลังงานทดแทนของจังหวัดกระบี่ และเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน แถลงข่าว ความคืบหน้าการผลักดันกระบี่สู่จังหวัดพลังงานหมุนเวียน 100%
นายกิตติชัย เอ่งฉ้วน รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า จากการศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของจังหวัดกระบี่ ได้มีการศึกษาถึงศักยภาพในพลังงาน 6 ประเภท ได้แก่
1.พลังงานชีวมวล(Biomass) 2.พลังงานก๊าซชีวภาพ(Biogas) 3.พลังงานแสงอาทิตย์(Solar Cell) 4. พลังงานลม(Wind) 5.พลังงานขยะ (Waste) 6.พลังงานน้ำขนาดเล็ก (Small Hydro Power) มีศักยภาพรวม 1,699 เมกะวัตต์ โดยในระยะสั้น(1-3ปี) มีศักยภาพพัฒนาได้ประมาณ 287 เมกกะวัตต์(4-10ปี) มีศักยภาพพัฒนาได้ประมาณ 1,411 เมกะวัตต์
จากการศึกษาพบว่า ปัจจุบันมีการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานเชื้อเพลิงชีวมวล (Biomass) และพลังงานชีวภาพ(Biogas) จ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว จำนวน 42.05 เมกะวัตต์ กำลังดำเนินการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าจำนวน7.39เมกะวัตต์ กำลังพัฒนาโครงการเพื่อขออนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าจำนวน 92.1เมกะวัตต์ รวมปริมาณกระแสไฟฟ้าที่จะสามารถผลิตเข้าระบบได้ในปัจจุบัน (หากได้รับอนุญาต) จำนวน141.54 เมกะวัตต์ ขณะที่กระบี่มีการใช้ไฟสูงสุดที่ 142.9 เมกะวัตต์ และคาดการณ์ว่าอีก 3 ปีจะเพิ่มขึ้นที่175 เมกะวัตต์
นายกิตติชัย กล่าวถึงอุปสรรคสำคัญที่ทำให้พลังงานหมุนเวียนในกระบี่ไม่สามารถดำเนินการได้ คือ การประกาศไม่รับซื้อไฟฟ้าจากหน่วยงานรัฐ และข้ออ้างเรื่องสายส่งเต็ม นโยบายรัฐที่ไม่แน่นอนที่ให้ผู้ประกอบการขาดความมั่นใจในการลงทุน ทั้งที่เป็นโรงงานใหม่ และการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรกลที่มีเทคโนโลยีทันสมัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การขาดกฎหมายและนโยบายพลังงานหมุนเวียนที่กำหนดให้มีการรับซื้อพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบสายส่งเป็นลำดับแรก เป็นต้น
ด้าน นายประสิทธิชัย หนูนวล ตัวแทนเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน กล่าวว่า ตามข้อตกลงเดิมของคณะกรรมการ 3 ฝ่ายซึ่งแต่งตั้งโดย นายกรัฐมนตรี มีข้อสรุป 3 ข้อ คือ (1) การศึกษารายงาน EIA ตามข้อเรียกร้องเดิมคือต้องยุติการศึกษาไปก่อน แต่ที่ผ่านมากฟผ.เองไม่ได้ทำตามข้อเรียกร้องดังกล่าว เพราะที่ผ่านมาพบว่า มีการลงพื้นที่เพื่อเปิดรับฟังความเห็น
(2) ให้ยกเลิกการเปิดซองประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้าและท่าเรือออกไป โดยมีข้อมีการต่อรองว่า ขอประมูลเชิงเทคนิค นั่นคือว่า ขอให้บริษัทต่างๆ ยื่นซองเพื่อมาดูเทคนิค ทางเราเลยตกลง แต่เมื่อเดือนที่เเล้ว กฟผ.ได้ประกาศผลการประมูลโรงไฟฟ้าของบริษัทที่ให้ราคาต่ำสุด ทั้งตัวโรงไฟฟ้าและท่าเรือ ซึ่งหมายความว่า รัฐทำผิดสัญญา
(3) คือการให้ทางจังหวัดพิสูจน์ความสามารถในการใช้พลังงานหมุนเวียนโดยมีระยะเวลา 3 ปี ซึ่งที่ผ่านมาที่การศึกษาอย่างครบถ้วน และกำลังดูว่ากรรมการสามฝ่ายจะมีผลสรุป แล้วผิดสัญญาอีกหรือไม่
ด้าน นายอัครเดช ฉากจินดา ตัวแทนเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน กล่าวว่า ทางภาคประชาชนและกลุ่มธุรกิจ องค์กรปกครองท้องถิ่นยืนยันเจตนารมณ์เดิมคือต้องการผลักดันให้จังหวัดกระบี่มุ่งสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน 100 % หรือ กระบี่ Go Green ตามแผนยุทธศาสตร์จังหวัดที่ได้ร่วมร่างกันมา แต่การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่นั้นย่อมขัดแย้งกับเจตนารมณ์ดังกล่าว
นายอัครเดช กล่าวด้วยว่า ในการการใช้พลังงานในจังหวัดกระบี่ เรามีทางเลือกหลายด้าน ซึ่งเรามั่นใจว่ากระบี่สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 100% ได้ สามารถพึ่งพาตัวเองได้ แต่ยังขาดโอกาส ขาดความเชื่อมั่นจากภาครัฐ
“ผมยังจำคำพูดของท่านายกฯ ได้ว่า ถ้า EIA ไม่ผ่านก็สร้างไม่ได้ แต่ที่ผ่านมาทหารได้เข้ามาแก้ไขขั้นตอนต่างๆ ของ EIA ซึ่งผิดเจตนารมณ์ ประการที่สอง มีการเปิดประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้า พบว่า บริษัทที่ชนะการประมูลคือบริษัทจากจีน รู้สึกประหลาดใจว่า ตอนดูงานเราไปดูเยอรมัน ญี่ปุ่น แต่ตอนจะสร้างกลับเอาบริษัทจากจีน ประการที่สามขอให้เราศึกษาพลังงานหมุนเวียน เพื่อพิสูจน์ว่าสามารถพึ่งพิงพลังงานเหล่านั้นได้โดยไม่จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน” นายอัครเดช กล่าว.
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ทางกรรมการภาคประชาชนในอนุกรรมการศึกษาการใช้พลังงานทดแทนของจังหวัดกระบี่ และเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ได้แถลงว่า หากจะมีการผลักดันเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า กระบี่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ 100% จะต้องขจัดปัญหาอุปสรรคต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาระบบการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน ดังนี้
1.ผลักดันให้มีการจัดทำแผนพัฒนาและแผนปฏิบัติการพลังงานหมุนเวียนกระบี่
2.ลงทุนเพิ่มระบบโครงข่ายสายส่งเพื่อรองรับการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้เพียงพอตามศักยภาพของแต่ละพื่นที่
3.กำหนดให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องออกใบอนุญาตที่เกี่ยวกับกระบวนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามระเบียบราชการ รวมทั้งการรับซื้อไฟฟ้าในราคาที่เป็นธรรม ทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้กระแสไฟฟ้า โดยรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในจังหวัดกระบี่
4.ส่งเสริมให้มีการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนอย่างจริงจัง ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการธุรกิจ และภาคครัวเรือน โดยสนับสนุนทางการเงินจากสถาบันการเงิน และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
5.ผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนเพื่อการบริหารระบบไฟฟ้าที่มีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเป็นจำนวนมากและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดเล็กและกระจายศูนย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจ่ายกระแสไฟฟ้า
6.ผลักดันให้กระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากระบบพลังงานหมุนเวียน เป็นกระแสไฟฟ้าหลักในจังหวัดกระบี่ และให้โรงไฟฟ้าน้ำมันเตาจังหวัดกระบี่ขนาดกำลังผลิต 340 เมกะวัตต์ที่มีอยู่เเล้ว เป็นโรงไฟฟ้าเสริมในยามฉุกเฉินหรือเกิดเหตุเกินความคาดหมาย
7.จัดให้มีการวิจัยเชิงลึกและรอบด้านของพลังงานหมุนเวียนแต่ละประเภทที่มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าของจังหวัดกระบี่
8.ปรับบทบาทของหน่วยงานที่รับผิดชอบในการะบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าให้มีนโยบายที่ให้ความสำคัญการใช้พลังงานหมุนเวียนมากยิ่งขึ้น และปรับเปลี่ยนนโยบายและกฎหมายที่กำหนดให้หน่วยงานด้านการผลิตไฟฟ้าต้องยิ่งลงทุนสร้างโรงไฟฟ้ามาก จึงจะยิ่งได้กำไรมากขึ้น.