NPSถกกฟผ.เลื่อนโรงไฟฟ้าถ่านหิน5ปี ขอปรับอัตราค่าไฟใหม่EHIAค้างเติ่งโครงการไม่คืบ (11 ส.ค. 59)
ประชาชาติธุรกิจ 11 สิงหาคม 2559
NPSถกกฟผ.เลื่อนโรงไฟฟ้าถ่านหิน5ปี ขอปรับอัตราค่าไฟใหม่EHIAค้างเติ่งโครงการไม่คืบ
เอ็นพีเอสหารือ กฟผ.เลื่อนโรงไฟฟ้าถ่านหิน 540 เมกะวัตต์ ใน จ.ฉะเชิงเทราออกไป 5 ปี พร้อมขอเจรจาค่าไฟฟ้าใหม่ หลังต้นทุนพุ่ง ด้าน สนพ.ระบุยังไม่ได้รับหนังสือขอปรับแผนใหม่ของเอ็นพีเอส แจงภาครัฐยังคงต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพื่อรักษาอัตราค่าไฟฟ้าให้อยู่ในระดับเหมาะสม
นายสิทธิพร รัตโนภาส ประธานกรรมการ บริษัท เนชั่นแนลเพาเวอร์ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ NPS เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน กำลังผลิต 540 เมกะวัตต์ บริเวณตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทราว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ยื่นแบบประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ไปยังสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เรียบร้อยแล้ว และคาดว่า สผ.จะใช้เวลาในการพิจารณาค่อนข้างนาน อาจส่งผลให้โรงไฟฟ้าถ่านหินดังกล่าวไม่สามารถผลิตไฟฟ้าเข้าระบบได้ทันตามกำหนดในปี 2560
ฉะนั้นจึงได้ขอหารือไปยังการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะผู้รับซื้อไฟฟ้าใน 2 ประเด็นคือ 1) ขอเลื่อนการผลิตไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ออกไปอีก 5 ปี หรือจะเข้าระบบในปี 2564 เนื่องจากนโยบายรัฐบาลให้มีการจัดทำแบบประเมิน EHIA เพิ่มเติมขึ้นมาหลังจากที่ชนะการประมูลโรงไฟฟ้าไปแล้วในช่วงปี 2555 ที่สำคัญในช่วงก่อนหน้านี้ บริษัท เนชั่นแนลเพาเวอร์ฯ ได้จัดทำแบบประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ EIA เรียบร้อยแล้ว
2) ขอให้มีการเจรจาอัตราค่าไฟฟ้าที่ กฟผ.จะรับซื้อใหม่ เนื่องจากโครงการล่าช้ามานาน ส่งผลให้ต้นทุนหลายอย่างปรับราคาสูงขึ้น ทั้งนี้ บริษัท เนชั่นแนลเพาเวอร์ฯ ยังดำเนินการต่อรองกับผู้ผลิตเทคโนโลยีว่า จะสามารถเปลี่ยนเทคโนโลยีโรงไฟฟ้ามาเป็นรุ่นใหม่ล่าสุดที่มีศักยภาพ และราคาถูกกว่าของเดิมได้หรือไม่ โดย กฟผ.ประเมินว่าสามารถเลื่อนการส่งไฟฟ้าเข้าระบบได้ เนื่องจากปริมาณสำรองไฟฟ้า (Reserve Margin) ในระบบค่อนข้างสูง จากค่ามาตรฐานที่ประมาณร้อยละ 15 รวมถึงระบบสายส่งยังอยู่ในระหว่างขยายระบบส่ง เพื่อรองรับกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ในอนาคตได้หลังปี 2562
"การจัดทำ EHIA เป็นนโยบายของรัฐบาล จากกรณีนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดในขณะนั้น ที่ระบุโครงการใดที่อาจจะส่งผลกระทบร้ายแรงให้มีการจัดทำเพิ่มเติม จนถึงวันนี้ NPS พยายามจัดทำให้แล้วเสร็จ และปรับแก้ไขตามที่ภาครัฐต้องการ ส่งผลให้โครงการล่าช้าออกไป แต่ยังพยายามพัฒนาต่อไป เพื่อให้โครงการนี้เกิดขึ้นให้ได้ เพราะโรงไฟฟ้าถ่านหินมีต้นทุนต่ำ จะส่งผลดีให้กับประเทศ"
ด้านนายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า โครงการดังกล่าวชนะการประมูลโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) มาหลายปี ได้รับการตอบรับว่าจะซื้อไฟฟ้าแต่ยังไม่ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟ หรือ PPA และขณะนี้ยังคงติดปัญหาไม่สามารถดำเนินการจัดทำ EHIA ได้แล้วเสร็จ ที่สำคัญจะต้องผลิตไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 2559-2560 ในส่วนของการยื่นเรื่องเพื่อขอปรับแผนโดยเลื่อนการเข้าระบบไปอีก 5 ปีนั้น สนพ.ยังไม่ได้รับหนังสืออย่างเป็นทางการ จึงยังไม่มีการพิจารณาในประเด็นนี้ อย่างไรก็ตาม สนพ.ในฐานะที่เป็นหน่วยงานรัฐกำกับดูแลภาพรวมพลังงานของประเทศ ยังต้องการให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้นในประเทศ ส่วนหนึ่งเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้นในทุกปีแล้ว ยังช่วยบริหารอัตราค่าไฟฟ้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้อีกด้วย
สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหิน กำลังผลิต 540 เมกะวัตต์ ของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัดนั้น เป็นผู้ชนะการประมูล IPP ในช่วงปี 2550 จากกำลังผลิตรวมที่เปิดประมูลรวม 4,400 เมกะวัตต์ คือโครงการถ่านหิน 2 โครงการ ของ NPS และโครงการ GHE-One กำลังผลิต 660 เมกะวัตต์ นอกจากนี้คือโครงการ Siam Energy กำลังผลิต 1,600 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง และโครงการ Power Generation Supply กำลังผลิต 1,600 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงเช่นกัน มีราคารับซื้อเฉลี่ยตลอดอายุโครงการอยู่ที่ 2.135-2.648 บาท/หน่วย