ชาวบ้านยื่นหนังสือค้านผังเมืองรวมระยองฉบับใหม่ (10 ส.ค. 59)
ASTV ผู้จัดการออนไลน์ 10 สิงหาคม 2559
ชาวบ้านยื่นหนังสือค้านผังเมืองรวมระยองฉบับใหม่
ระยอง-ชาวบ้านหลายกลุ่มยื่นหนังสือทคัดค้านแก้ไขข้อกำหนดผังเมืองรวมระยองฉบับใหม่ ให้ยกเลิกสีม่วงออกจากพื้นที่ชุมชน พื้นที่นิคมสหกรณ์ชะแวะ ห้ามสร้างโรงงาน เพราะเป็นแหล่งต้นน้ำ
วันนี้ (10 ส.ค.) ที่ห้องประชุมสำนักงานโยธาธิการและผังเมือง ศูนย์ราชการจังหวัดระยอง นายกำพล สีกา หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการผังเมือง สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จ.ระยอง รับมอบหนังสือคัดค้านจากกลุ่มชาวบ้าน ต.นาตาขวัญ กลุ่มรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านแลง เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก อ.เมืองระยอง กลุ่มบ้านค่ายรักบ้านเกิด กลุ่มชาวบ้านกระแสบน ให้คณะกรรมการโยธาธิการและผังเมือง ยกเลิกผังเมืองสีม่วงออกจากพื้นที่ชุมชน เพื่อให้ผังเมืองในเขตชุมชนเป็นผังเมืองเพื่อสุขภาพ และให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมจัดแนวป้องกัน (บัพเฟอร์โซน) พื้นที่กันชน
ชาวบ้านรายหนึ่งกล่าวว่า ขอให้ผังเมืองแก้ไขข้อกำหนดบางข้อ เช่น พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่ประกาศเป็นพื้นที่นิคมสหกรณ์ชะแวะ อ.วังจันทร์ จ.ระยอง พื้นที่นิคมสหกรณ์ชะแวะ ไม่สมควรที่จะให้มีโรงงานอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว เพราะเป็นแหล่งต้นน้ำ
ทั้งนี้ นายกำพล สีกา หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการผังเมือง กล่าวว่า หลังรับหนังสือคัดค้านจะนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในระดับจังหวัด สำหรับผังเมืองฉบับใหม่มีข้อกำหนดจะห้ามโรงงานผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินเป็นวัตถุดิบ แม้ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เนื่องจากมีมากเกินไปแล้ว แต่มีกลุ่มโรงงานพยายามส่งเรื่องมาคัดค้านขอให้ลบข้อกำหนดห้ามโรงไฟฟ้าถ่านหิน
ผังเมืองรวมจังหวัดระยองฉบับใหม่ได้ปิดประกาศระยะเวลา 90 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 12 สิงหาคมนี้ ขณะที่ผังเมืองมาบตาพุด ผังเมืองระยองเดิมหมดอายุ ฯลฯ กฎหมายผังเมืองไม่สามารถบังคับได้ จึงเป็นที่มาของนโยบาย คสช. ประกาศให้บังคับใช้ผังเมืองรวมจังหวัดระยองฉบับใหม่ ในราวต้นปี 2559 เนื่องจากผังเมืองรวมจังหวัดระยอง ในปี 2547 ด้วยกลไกระดับสูงถูกยกเลิกทุกผังหยุดการวางผังในปี 2549 และให้กลับไปทบทวนใหม่ ทำให้ไม่สามารถประกาศใช้ได้ จึงทำให้เกิดผังเมืองรวมจังหวัดระยองฉบับนี้ขึ้นมา เพราะยิ่งช้ายิ่งจะทำให้กลุ่มโรงงานเพิ่มพื้นที่ขึ้นได้เรื่อยๆ
หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการผังเมือง กล่าวว่า จะนำคำร้องทุกรายที่มีความเห็นต่างนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในระดับจังหวัด ส่งเข้าไปพิจารณาที่กรมโยธาธิการฯ ว่าจะรับคำร้องหรือไม่รับ จากนั้นจะส่งเรื่องให้คณะกรรมการผังเมืองพิจารณาเป็นขั้นสุดท้าย นโยบาย คสช.กำชับให้พิจารณาให้เสร็จในเดือนกันยายน ซึ่งจะต้องประกาศเป็นกฎหมายใช้ในปี 2559 สำหรับผู้ที่ไม่เห็นด้วยสามารถฟ้องศาลปกครองได้ แต่ต้องจบที่กระบวนการของคณะกรรมการผังเมืองพิจารณาเสร็จสิ้นก่อน
“ผังเมืองรวมฉบับใหม่ หากประกาศใช้จะไม่มีวันหมดอายุ ซึ่งกฎหมายจะออกประมาณเดือนกันยายนนี้ ทำให้เกิดการต่อสู่ระหว่างกลุ่มนายทุนกับชาวบ้าน กรณีที่จะให้มีการเปลี่ยนสีใหม่จะทำได้ตามมาตรา 26 วรรค 3 คือ สภาพการที่เปลี่ยนแปลงไป หรือท้องถิ่นมีความเห็นให้เปลี่ยนแปลงโดยผ่านสภาท้องถิ่น”