เล็งประกาศใช้มาตรการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง 3 พื้นที่ (27 ก.พ. 59)
PPTV 27 กุมภาพันธ์ 2559
เล็งประกาศใช้มาตรการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง 3 พื้นที่
ระบุหลายพื้นที่ในจังหวัด “ประจวบคีรีขันธ์” – “เพชรบุรี” ประสบปัญหากัดเซาะชายฝั่งรุนแรง
นางสาวสุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
นางสาวสุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทช. ได้ศึกษาและสำรวจพื้นที่ที่เกิดปัญหากัดเซาะชายฝั่งระดับวิกฤติ บริเวณ 8 จังหวัดอ่าวไทย โดยเฉพาะประจวบคีรีขันธ์และเพชรบุรี เพื่อใช้อำนาจตาม มาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันผลกระทบ ซึ่งตามกฎหมายแบ่งพื้นที่ประกาศใช้มาตรการดังกล่าวเป็น 3 ลักษณะ คือ 1.พื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์ 2.พื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เช่น บริเวณที่มีปะการัง หญ้าทะเล และสัตว์ทะเลหายาก และ 3.พื้นที่ให้มาตรการป้องกันกัดเซาะชายฝั่ง โดยภายในปี 2559 ทช. จะนำร่องประกาศให้ใช้มาตรดังกล่าว อย่างน้อยพื้นที่ละ 1 แห่ง
อธิบดี ทช. ระบุว่า เมื่อมีประกาศใช้มาตรการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เจ้าหน้าที่จะมีอำนาจสั่งห้ามดําเนินกิจกรรมหรือกระทําการใดๆ ที่อาจส่งผลหรือก่อให้เกิดปัญหาในการกัดเซาะชายฝั่งเพิ่มขึ้น อีกทั้งสามารถสั่งรื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่ส่งผลกระทบ ต่อการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งได้ด้วย แม้จะสร้างก่อนประกาศเป็นพื้นที่ใช้มาตรการก็ตาม นอกจากนี้ ทช. จะเข้าไปกําหนดหลักเกณฑ์ในการใช้ประโยชน์ในที่ดิน เพื่อป้องกันปัญหาและความเสียหาย ต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนด้วย
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการประกาศใช้มาตรการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง จำเป็นต้องออกเป็นกฎกระทรวงและมีแผนที่แนบท้าย ดังนั้น กระบวนการดำเนินการต้องทำอย่างรัดกุม และมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ป้องกันปัญหาการขีดพื้นที่ทับซ้อน โดยการดำเนินงานต้องแบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ ด้านวิชาการ ในการสำรวจกำหนดเขตพื้นที่ กำหนดหลักเกณฑ์เขตที่ประกาศ การสำรวจรังวัง และการจัดทำแผนที่มาตรฐาน ด้านกระบวนการมีส่วนร่วม กับชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และด้านการทำให้พื้นที่ถูกบังคับโดยกฎหมาย โดยเสนอเรื่องผ่านคณะกรรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด เพื่อส่งต่อไปยังคณะกรรมการระดับชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจราณาเห็นชอบต่อไป
ทั้งนี้ สำหรับสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทย ในพื้นที่ชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด ซึ่งมีความยาวรวมกันประมาณ 3,148 กิโลเมตร แบ่งเป็นด้านอ่าวไทย 2,055 กิโลเมตร ด้านอันดามัน 1,093 กิโลเมตร ในภาพรวมพบว่าขณะนี้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบถึง 860 กิโลเมตร หรือประมาณ 27% โดยอ่าวไทยมีการกัดเซาะมากกว่า 700 กิโลเมตร ขณะที่อันดามันอยู่ที่ประมาณ 200 กิโลเมตร