ขัดขืน ม.44 ปลดล็อคผังเมือง (25 ก.พ. 59)

PPTV 25 กุมภาพันธ์ 2559
ขัดขืน ม.44 ปลดล็อคผังเมือง

การเดินทางมาชุมนุมเพื่อคัดค้านคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตามมาตรา 44 ครั้งนี้ มีเครือข่ายประชาชนเข้าร่วมถึง 127 เครือข่ายทั่วประเทศ ที่รวมตัวกัน ในนาม เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

เครือข่ายที่เข้าร่วมชุมนุม ล้วนเดินทางมาจากพื้นที่ ที่จะมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับกิจการพลังงาน โรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงโรงกำจัดขยะ โรงไฟฟ้าขยะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการยกเว้นการบังคับใช้ผังเมืองรวมตามคำสั่งคสช.ฉบับที่ 3และ4/2559

-กลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำท่าสะท้อนและสิ่งแวดล้อม จังหวัดสุราษฎร์ธานี กังวลเกี่ยวกับ แผนการก่อสร้างอุตสาหกรรมปิโตรเลียม

-กลุ่มจังหวัดสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน  กังวลเกี่ยวกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ขนาด 2,200 เมกกะวัตต์ ที่เป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนในพื้นที่ และขณะนี้ผ่านการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ ค.3 แล้ว  

-เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน จังหวัดกระบี่ ที่คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ 

-และเครือข่ายประชาชนติดตามผังเมืองรวม จ.นครศรีธรรมราช  ที่กังวลเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีแผนว่าจะสร้างขึ้นในพื้นที่อำเภอท่าศาลา และอำเภอขนอมและอุตสาหกรรมกำจัดกากขยะ

-เครือข่ายอนุรักษ์อ่าวนาเกลือ  (กังวลการขยายตัวของอุตสาหกรรมในทะเลและชายฝั่ง)

เครือข่ายอนุรักษ์อ่าวบางละมุง(กังวลการขยายตัวของอุตสาหกรรมในทะเลและชายฝั่ง)

-สภาพลเมืองจังหวัดชลบุรี (คัดค้านเรื่องผังเมือง)

-เครือข่ายประมงพื้นบ้าน จ.ชลบุรี (กังวลเรื่องการขยายตัวของอุตสาหกรรมในทะเล เช่น ท่าเรือ ปิโตรเลียม)

-เครือข่ายต่อต้านโรงไฟฟ้าขยะ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี  (คัดค้านโรงไฟฟ้าขยะ )

เครือข่ายประชาชนและติดตามปัญหาขยะ

เครือข่ายประชาชนคัดค้านโรงไฟฟ้าขยะ เชียงรากใหญ่

เครือข่ายประชาชนไม่เอาโรงไฟฟ้าขยะ บ้านธาตุ จ.สระบุรี

เครือข่ายประชาชนนิคมสงเคราะห์ ไม่เอาโรงไฟฟ้าขยะ จ.อุดรธานี
เครือข่ายประชาชนไม่เอาโรงไฟฟ้าขยะ จ.ขอนแก่น

เครือข่ายต่อต้านบ่อขยะแพรกษา

นอกจากโครงการขนาดใหญ่ อย่างโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือ นิวเคลียร์ รวมถึง อุตสาหกรรมปิโตรเลียมแล้ว อีกโครงการที่สำคัญและเป็นโรดแมปของรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นทั่วประเทศ คือ โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปี 2553 โรงไฟฟ้าขยะ ทุกขนาด จึงต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งเวดล้อม หรือ อีไอเอ
แต่เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีคำสั่งยกเลิกการทำอีไอเอโรงไฟฟ้าขยะ ก่อนที่ วันที่ 20 มกราคม ที่ผ่านมา รัฐบาลจะมีคำสั่ง คสช.ยกเว้นการบังคับใช้ผังเมืองรวมใน 5 กิจการ 2 ใน 5 คือ โรงไฟฟ้าและโรงเผาขยะ

“หมายความว่า โรงไฟฟ้าขยะ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมอันตราย สามารถก่อสร้างได้ในทุกพื้นที่โดยไม่ต้องสนใจผังเมือง หรือความเหมาะสมของพื้นที่ และไม่ต้องทำอีไอเอ นี่เป็นสาเหตุที่เครือข่ายประชาชนทั่วประเทศออกมาเคลื่อนไหว”

รัฐบาลมีเป้าหมาย สร้างโรงไฟฟ้าขยะ 53 แห่งทั่วประเทศ ปัจจุบันเปิดดำเนินการไปแล้ว 2 แห่ง คือที่ เทศบาลนครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และ ภูเก็ตอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 3 แห่ง คือ ที่จังหวัดสมุทรปราการ ขอนแก่น และ สตูล ลงนามสัญญา 2 แห่ง คือ ที่เชียรรากใหญ่ปทุมธานี และ จังหวัดชลบุรี อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม 1 แห่ง ในพื้นที่ภาคเหนือ และอยู่ระหว่างการเจรจาอีก45 แห่งทั่วประเทศ

ข้อมูลสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐ คาดการณ์ว่ามลพิษจาก โรงไฟฟ้าขยะเป็นต้นเหตุทำให้ประชากรกว่า 2 ล้านรายทั่วโลกเสียชีวิต เป็นแหล่งก่อเกิดสาร ไดออกซิน สารก่อมะเร็งที่สำคัญ อันตรายเช่นนี้ ทำให้ประชาชนกังวล เครือข่ายประชาชนจึงออกมาเคลื่อนไหวค้านคำสั่งคสช.ยกเว้นการบังคับใช้ผังเมืองรวม เพื่อไม่ให้โรงไฟฟ้าขยะรวมถึงโครงการขนาดใหญ่ที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเกิดขึ้น

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และรัฐบาล จะอาศัย คำสั่งตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายด้านต่าง ๆ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมตามโรดแมปที่วางไว้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า คำสั่งดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนไม่น้อย และไม่ได้มีเฉพาะเรื่องทรัพยากรเท่านั้น

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. จำนวน 50 ฉบับ เมื่อจัดหมวดหมู่แล้วพบว่า เป็นคำสั่งเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ การจัดระเบียบสังคม การบริหารราชการและการพัฒนาเศรษฐกิจ

คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่กลุ่มเครือข่ายประชาชนกำลังเคลื่อนไหวคัดค้านอยู่ในขณะนี้คือคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง และกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และ คำสั่งที่ 4/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท ซึ่งทั้งสองคำสั่งนี้จัดอยู่ในกลุ่มคำสั่งที่เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความมั่นคงหรือการเมืองโดยตรง

นายสมนึก จงมีวศิน ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ย้ำว่าการคัดค้านคำสั่งหัวหน้า คสช. ในการปลอล็อคผังเมืองครั้งนี้ก็เพื่อเรียกร้องสิทธิชุมชน และรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

แม้ว่าคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย การปฏิรูป การพัฒนาเศรษฐกิจ หรือการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า คำสั่งที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดย่อมส่งผลกระทบในเชิงลบด้วยเช่นกัน

จากความเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่ทวีความเข้มข้นขึ้น ประกอบกับข้อเสนอขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชน คงสะท้อนถึงความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายซึ่งส่งผลกระทบต่อเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน โดยเฉพาะสิทธิการแสดงออกอย่างสันติที่เป็นอยู่ในขณะนี้