ศาลรัฐธรรมนูญโคลอมเบียสั่งแบนเหมืองแร่ในพื้นที่สูง 'ปาราโม' ป้องแหล่งน้ำประชาชน (24 ก.พ. 59)

ประชาไท 24 กุมภาพันธ์ 2559
ศาลรัฐธรรมนูญโคลอมเบียสั่งแบนเหมืองแร่ในพื้นที่สูง 'ปาราโม' ป้องแหล่งน้ำประชาชน

เป็นชัยชนะของนักสิ่งแวดล้อมและประชาชนผู้อยากมีน้ำสะอาดไว้ใช้ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญโคลอมเบียตัดสินห้ามไม่ให้มีการอาศัยช่องทางกฎหมายเข้าไปทำเหมืองแร่ในพื้นที่สูงที่เต็มไปด้วยทรัพยากรน้ำและป่าไม้ของประเทศ โดยหนึ่งในสาเหตุที่ห้ามคือสิทธิในการเข้าถึงน้ำสะอาดของประชาชนที่มีระบุในรัฐธรรมนูญ

23 ก.พ. 2559 เมื่อไม่นานมานี้ศาลรัฐธรรมนูญโคลอมเบียตัดสินให้การทำเหมืองแร่รวมถึงการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติใน "ปาราโม" เป็นเรื่องขัดต่อรัฐธรรมนูญ จากเดิมที่มีการอาศัยช่องว่างทางกฎหมายในการขออนุญาตดำเนินการขุดเจาะในพื้นที่ดังกล่าว

ปาราโม หมายถึงระบบนิเวศในพื้นที่สูงแถบอเมริกาใต้ที่มีความสูง 3,200-3,800 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล และต่ำกว่า 4,400-4,700 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งสถาบันอเล็กซานเดอร์ ฟอน ฮุมโบลดต์ ในโคลอมเบียระบุว่า ปาราโมในโคลอมเบียเป็นระบบนิเวศที่มีความกว้างขวางมากและเป็นพื้นที่แหล่งน้ำร้อยละ 70 ของประเทศ

ทางการโคลอมเบียเพิ่งออกกฎหมายห้ามกระทำการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ปาราโมเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา แต่ก็มีโครงการเหมืองแร่บางส่วนที่ทำสัญญาไว้ตั้งแต่ปี 2553-2554 จึงอาศัยช่องว่างทางกฎหมายให้เป็นโครงการที่ได้รับการยกเว้นจากการถูกห้าม

แต่ก็มีกลุ่ม ส.ส. กลุ่มทนายความ และภาคประชาสังคมจำนวนหนึ่งในโคลอมเบียพยายามเรียกร้องว่า การอาศัยช่องว่างทางกฎหมายเพื่อดำเนินการโครงการเหมืองแร่ต่อไปนั้นขัดต่อหลักการเรื่องสิทธิในสิ่งแวดล้อม อีกทั้งทรัพยากรต่างๆ อย่างน้ำ ดิน และพืชพรรณ ในปาราโมจะได้รับผลกระทบ จนกระทั่งเมื่อช่วงต้นเดือน ก.พ. ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้การอาศัยช่องว่างทางกฎหมายดังกล่าวไม่สามารถกระทำได้

อัลแบร์โต คาสติลโล หนึ่งในโจทก์ของคดีนี้กล่าวว่า ระบบนิเวศแบบปาราโมมีอยู่ไม่กี่แห่งในโลกและโคลอมเบียถือว่ามีพื้นที่นี้อยู่มากที่สุดเขาจึงสนับสนุนให้มีการสั่งห้ามการขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่นี้

ทางด้านอีวาน เซเปดา โจทก์อีกรายหนึ่งกล่าวว่า การตัดสินคดีนี้ถือเป็นการตัดสินครั้งประวัติศาสตร์ที่ศาลเล็งเห็นว่าโครงการเหมืองแร่เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและส่งผลกระทบต่อสิทธิในการเข้าถึงแหล่งน้ำของผู้คน

วิเวียนา ตาจา โจทก์อีกรายหนึ่งกล่าวว่า การตัดสินในครั้งนี้เป็นความก้าวหน้าอย่างมากในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและถือเป็นชัยชนะของทั้งชุมชนและของประเทศชาติในยามที่กำลังมีวิกฤตเรื่องโลกร้อน

จากปากคำของกลุ่มผู้เรียกร้องปกป้องปาราโมศาลรัฐธรรมนูญได้ระบุในคำตัดสินว่า การอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายนั้น "ละเลยหน้าที่ตามหลักการรัฐธรรมนูญในการปกป้องพื้นที่พิเศษที่มีความสำคัญทางระบบนิเวศ (และ) ทำให้เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชากรในประเทศทุกคนในเรื่องสิทธิในการเข้าถึงแหล่งน้ำที่มีคุณภาพ"

ศาลรัฐธรรมนูญโคลอมเบียพิจารณาโดยให้ความสำคัญกับเรื่องการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติในประเทศ เนื่องจากสามเหตุผล เหตุผลแรกคือในปัจจุบันปาราโมยังขาดการคุ้มครอง เหตุผลที่สองคือการที่ปาราโมมีความสำคัญในการเป็นแหล่งน้ำที่สะอาดและราคาถูกสำหรับประชากรร้อยละ 70 เหตุผลที่สามคือ การที่พื้นที่ปาราโมเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยเพราะค่อนข้างห่างไกล มีอุณหภูมิต่ำและระดับออกซิเจนต่ำ

ทั้งนี้ ยังมีกลุ่มเอ็นจีโอและภาคประชาสังคมที่เคยร้องเรียนในเรื่องการอาศัยช่องว่างทางกฎหมายและนำเสนอข้อมูลต่อศาลก็ได้แสดงความชื่นชมคำตัดสินครั้งนี้ โดย ไดอานา รอดริดจซ์จากองค์กรภาคประชาสังคมโคลอมเบีย 'เดอจัสติเซีย' (Dejusticia) กล่าวว่า พวกเขายินดีที่ศาลตัดสินให้คุ้มครองปาราโมโดยทันทีและเป็นการส่งสารว่าไม่ควรมีการสังเวยสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ


เรียบเรียงจาก

Colombian court bans oil, gas and mining operations in paramos, The Guardian, 21-02-2016
http://www.theguardian.com/environment/andes-to-the-amazon/2016/feb/21/colombia-bans-oil-gas-mining-paramos