คืน ‘สิทธิชุมชน-อีไอเอ’ ในรัฐธรรมนูญ กรธ.ย้ำรับรอง ‘สิทธิความเป็นมนุษย์’ (23 ก.พ. 59)
Green News TV 23 กุมภาพันธ์ 2559
คืน ‘สิทธิชุมชน-อีไอเอ’ ในรัฐธรรมนูญ กรธ.ย้ำรับรอง ‘สิทธิความเป็นมนุษย์’
กรธ.ขานรับเสียงสะท้อนปรับร่างรัฐธรรมนูญ คืนสิทธิชุมชนฟ้องร้องรัฐดำเนินโครงการกระทบสิ่งแวดล้อม ชุมชน
นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า กรธ.ได้ปรับแก้บทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญ โดยเพิ่มสิทธิการฟ้องร้องของชุมชนต่อการที่รัฐดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร สุขภาพของชุมชนอย่างรุนแรง พร้อมทั้งกำหนดให้รัฐต้องจัดกระบวนการศึกษาและกระบวนการรับฟังความคิดเห็นทั้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่อสุขภาพ ก่อนดำเนินโครงการ
นายอุดม กล่าวว่า จากข้อท้วงติงของประชาชนและนักวิชาการที่ว่า กรธ.ได้ตัดเนื้อหาที่ว่าด้วยศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ออกนั้น กรธ.ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เห็นตรงกันในหลักการ เพียงแต่วิธีการเขียนรายละเอียดแตกต่างกัน
“เพื่อให้ประชาชนเกิดความสบายใจว่า กรธ.ไม่ประสงค์จะตัดหลักการสำคัญที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพออกไป เราจึงนำเอาหลักการศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เคยอยู่ในมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 กลับมาทั้งหมด” โฆษก กรธ. กล่าว
นายอุดม กล่าวว่า กรธ.ยังมีการปรับแก้มาตรา 25 และมาตรา 26 โดยยืนหลักการว่าสิทธิเสรีภาพที่ไม่ถูกกฎหมายจำกัด และไม่เป็นการละเมิดความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงของรัฐ และไม่กระทบสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นไว้ แต่ กรธ.ได้เพิ่มหลักการในมาตรา 28 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ระบุว่า “บุคคลย่อมสามารถใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติตามบทบัญญัตินี้โดยตรง” เพื่อให้ประชาชนได้รับความมั่นใจว่ามีหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพที่จะหยิบยกขึ้นมาเพื่อต่อสู้ทางศาลได้
ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กรธ.ได้ปรับแก้หมวดสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย โดยนำเนื้อหาในวรรค 2 และ 3 ว่าด้วยการกำหนดให้รัฐต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในชุมชน องค์กรภาควิชาการและภาคประชาชน ศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีไอเอ, อีเอชไอเอ) ก่อนจะดำเนินโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และสุขภาพ รวมทั้งรับรองสิทธิของชุมชนที่จะฟ้องร้องหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ มาเพิ่มในวรรคถัดไปในมาตรา 43 ของร่างรัฐธรรมนูญ