"ผาแดง" ปิดเหมืองแร่โลหะแม่สอดปลายปี59 เตรียม 1,500 ล้าน ทุ่มธุรกิจพลังงานชีวมวล-เตาเผาขยะชุมชน (19 ก.พ. 59)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 19 กุมภาพันธ์ 2559
"ผาแดง" ปิดเหมืองแร่โลหะแม่สอดปลายปี59 เตรียม 1,500 ล้าน ทุ่มธุรกิจพลังงานชีวมวล-เตาเผาขยะชุมชน
นายฟรานซิส แวนเบลเลน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ พีดีไอ กล่าวว่า ปลายปี 2559 เหมืองแร่สังกะสีที่ อ.แม่สอด จ.ตาก จะทำการปิดตัวถาวรหลังปริมาณแร่หมดลงและไม่สามารถหาแหล่งแร่โลหะแห่งใหม่ได้ทั้งในและต่างประเทศ
สำหรับปริมาณแร่ที่ยังเหลือและส่งมอบให้กับลูกค้ามีจำนวนประมาณ 60,000-70,000 ตัน ซึ่งการซื้อขายจะถือเป็นรายได้ของบริษัทภายในปี2559 นี้ จากนั้นจะเริ่มรวบรวมเงินทุนที่มีสำรองไว้อยู่แล้ว 1,500 ล้านบาท เตรียมลงทุนในธุรกิจใหม่ คือ พลังงานทดแทนจากชีวมวล ธุรกิจการจัดการของเสีย และผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มจากโลหะเป็นหลัก
ทั้งนี้ในมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริษัทจะทำการหยุดกิจการทั้งหมดที่เหลือ คือ โรงย่างแร่ จ.ระยอง โรงถลุง จ.ตาก
"หากเรายังดำเนินธุรกิจสังกะสีต่อไป เราต้องพึ่งพาแร่นำเข้าเพียงอย่างเดียวซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากอเมริกาใต้และ ออสเตรเลีย แร่นำเข้าจึงมีราคาสูงมาก เมื่อนำมาใช้ทดแทนแร่ต้นทุนต่ำจากเหมืองแม่สอดจะทำให้ค่าขนส่งและต้นทุนการ ผลิตสูงขึ้นมากทั้งในส่วนของโรงย่างแร่จังหวัดระยองและที่โรงถลุงจังหวัดตาก ดังนั้นธุรกิจสังกะสีจะมีค่าใช้จ่ายดำเนินการสูงกว่ารายได้มากและอาจจะส่งผล ให้พีดีไอขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ยิ่งกว่านั้นยังมีปัจจัยเสริมจากราคาโลหะสังกะสีโลกที่ตกต่ำและปริมาณความต้องการโลหะสังกะสีของอุตสาหกรรมในไทยที่ลดลงด้วยแล้ว จึงไม่มีสัญญาณการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น"
สำหรับธุรกิจใหม่ ได้แก่ ธุรกิจพลังงานทดแทน ธุรกิจการจัดการกากของเสีย และธุรกิจผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มจากโลหะต่างๆ โครงการพลังงานทดแทน โดยมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งยังมีอุปสรรคสำคัญคือ การได้มาซึ่งสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือ PPA บริษัทฯ จึงให้ความสำคัญมากขึ้นกับโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ขณะเดียวกันยังไม่ทิ้งโอกาสในโครงการพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์
ทั้งนี้ทีมงานพีดีไอที่ดูแลการเข้าซื้อกิจการยังช่วยปรับปรุงกิจการนั้นให้มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นโดยนำนวัตกรรมต่างๆ มาใช้อย่างเพียงพอ การเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวลหลายโครงการอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะกิจการ (due diligence) และหากได้รับการยืนยันผลในเชิงบวก บริษัทฯ คาดว่าจะดำเนินการได้ในเร็วๆ นี้ ซึ่งจะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นภายในปีนี้
สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีอยู่ระหว่างการทบทวนโครงการเนื่องจากยังมีประเด็นข้อห่วงใยของชุมชน ซึ่งบริษัทฯ ให้ความสำคัญอย่างมาก โดยคาดว่าจะมีข้อสรุปในอีกไม่นานนี พีดีไอเชื่อมั่นว่าเราได้เตรียมการเป็นอย่างดีสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 50 เมกะวัตต์ โดยจะตั้งอยู่บนบ่อเก็บกากแร่ที่โรงงานตาก ซึ่งไม่มีปัญหาใดๆในด้านเทคนิคและโครงการนี้ยังมีความพร้อมในการส่งกระแสไฟฟ้าเข้าระบบสายส่งด้วย ขาดเพียงอย่างเดียวคือการได้รับอนุมัติสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเท่านั้น
ธุรกิจบริหารจัดการกากของเสียอย่างยั่งยืนในพื้นที่โรงงานตาก โดย ได้เจรจากับบริษัทชั้นนำในต่างประเทศที่ดำเนินธุรกิจด้านนี้จนได้ข้อสรุป เกี่ยวกับการร่วมลงทุนเพื่อกำจัดกากของเสียอุตสาหกรรมที่ไม่อันตรายใน พื้นที่ภาคเหนือของไทยโดยจะตั้งอยู่ที่โรงงานตาก ผลการศึกษาความเป็นไปได้พบว่ามีศักยภาพในการบริหารจัดการเชิงนิเวศในรูปแบบ คอมเพล็กซ์ด้านการจัดการกากของเสีย ซึ่งได้เลือกเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้แล้วและอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อปฏิบัติ ต่างๆ ให้เป็นไปตามกฎหมาย คาดว่าพีดีไออีโคจะลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) และข้อตกลงระหว่างผู้ถือหุ้น (SHA) ในอีกไม่นานนี้
และจะเข้าร่วมประมูลโครงการจัดการขยะชุมชนด้วย ซึ่ง เป็นผลมาจากความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีเยี่ยมของโรงงานตาก ตลอดจนความสัมพันธ์อันดีที่มีต่อชุมชน ทำให้พีดีไอได้รับความไว้วางใจในการเป็นพันธมิตรธุรกิจ ผลการศึกษาเบื้องต้นได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้วและจะนำเสนอหน่วยราชการต่อไป โครงการดังกล่าวนี้ พีดีไอกำลังหารือกับผู้ร่วมทุนที่มีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญด้วยเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จ โดยโรงงานที่ตากมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้กับโครงการนี้เมื่อสิ้นปี 2560 ไปแล้ว
ส่วนบริษัทย่อยของพีดีไอได้ร่วมทุนกับบริษัท คาร์บอน รีดักชั่น เทคโนโลยี (CRT: Carbon Reduction Technology AS) ประ เทศนอร์เวย์ ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านรีไซเคิลของสแกนดิเนเวีย โดยร่วมกันจัดตั้งบริษัท พีดีไอ-ซีอาร์ที จำกัด ขึ้น เพื่อดำเนินธุรกิจสกัดสังกะสีจากวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจากโรงงานอุตสาหกรรมโดย ผ่านกระบวนการซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ใช้อุณหภูมิสูงมากเป็นพิเศษ ( UHT: Ultra-high-temperature)
ซึ่งบริษัท พีดีไอ-ซีอาร์ที ได้รับสิทธิเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยที่จะนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ได้โดยได้รับสิทธิดังกล่าวจากบริษัท สแกนอาร์ค พลาสมา เทคโนโลยี ประเทศสวีเดน ซึ่งในเอเชียยังไม่มีประเทศใดนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ โดยเป็นเทคโนโลยีที่สามารถรีไซเคิลของเสียอันตรายได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความคุ้มค่าสูงสุดในเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้บริษัทฯ มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการในเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2561 ที่โรงงานพีดีไอระยอง