โผล่อีก จัดเวทีฟังความเห็นโรงไฟฟ้าขยะโนนสูง ผู้ได้รับผลกระทบโวยไม่รู้ว่ามีประชุม-แจงไม่รอบด้าน (19 ก.พ. 59)

มติชนออนไลน์ 19 กุมภาพันธ์ 2559
โผล่อีก จัดเวทีฟังความเห็นโรงไฟฟ้าขยะโนนสูง ผู้ได้รับผลกระทบโวยไม่รู้ว่ามีประชุม-แจงไม่รอบด้าน

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานีว่า ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลโนนสูง อ.เมือง จ.ส.อ.ฉลอง ภูวิลัย นายก อบต.โนนสูง จัดให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการ “โรงงานแปรสภาพขยะเป็นแก๊สเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดเล็ก” บริเวณพื้นที่ บ.หนองหมื่นท้าว ม.8 ต.โนนสูง ตามคำขอของ บ.พลังงานยั่งยืนเกษตรกรไทย จก. โดยมีกำนัน , ผญบ. สมาชิก อบต. และประชาชนในพื้นที่ บ.หนองหมื่นท้าว ม.8 บ.ข้าวสารน้อย ม.12 ต.โนนสูง กว่า 50 คนเข้าร่วมประชุม 

จ.ส.อ.ฉลอง ภูวิลัย นายก อบต.โนนสูง กล่าวว่า บ.พลังงานยั่งยืนเกษตรกรไทย จก. เข้ามาขอดำเนินโครงการมาแล้ว 2 แห่ง คือพื้นที่หนองหมากเห็บ และพื้นที่หนองผักขา แต่ประชาชนในพื้นที่ไม่เห็นด้วย จึงเสนอโครงการมาที่ริมถนน บ.หนองหมื่นท้าว-บ.โคกนาคลอง โดยบริษัทฯร้องขอให้ อบต.จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน จึงต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ หากไม่ดำเนินการก็จะมีความผิด ทั้งนี้ปกติ อบต.โนนสูง มีค่าใช้จ่ายจัดเก็บและกำจัดขยะเดือนละ 100,000 บาท 

นายราชันย์ ยุทธศักดิ์ ตัวแทนบริษัทฯ ได้ชี้แจงโครงการผ่านวีดีทัศน์ และตอบข้อซักถามเพิ่มเติม ระบุว่า บ.พลังงานยั่งยืนเกษตรกรไทย จก. เป็นบริษัทฯในเครือเดียวกันกับ บ.โคราช พาวเวอร์ จก. ที่ได้รับลิขสิทธิ์เทคโนโลยีกำจัดขยะจากประเทศเยอรมัน ที่ในเอเชียนำมาใช้แล้วที่ประเทศญี่ปุ่น และอินเดีย ส่วนในประเทศไทยกำลังดำเนินการในหลายจังหวัด อาทิ นครราชสีมา โดยมีเป้าหมายทั่วประเทศ 47 แห่ง ซึ่งในอุดรธานีได้ผ่านเวทีรับฟังความคิดเห็นแล้ว 2 แห่ง ในพื้นที่ ทต.ยางชุม อ.กุดจับ และ อบต.หนองแวง อ.น้ำโสม 

“โรงงานฯใช้พื้นที่เพียง 8 ไร่ จ้างแรงงาน 50-60 คน ผลิตไฟฟ้า 4 เมกะวัตต์ ไม่ต้องจัดทำประชาพิจารณ์ และทำรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เป็นโรงงานระบบปิดไม่มีกลิ่น ไม่มีควัน ไม่มีน้ำเสีย ออกจากระบบการผลิต โดยใช้ขยะใหม่วันละ 60-120 ตัน เป็นการใช้ขยะแบบวันต่อวันไม่มีการสต๊อก ด้วยกระบวนการพ่น EM ลดกลิ่น , แยกขยะรีไซเคิลออก , ย่อยขยะที่เหลือเป็นชิ้นเล็ก , นำน้ำขยะไปหมักผลิตก๊าซ แล้วนำขยะย่อยและก๊าซเข้าระบบผลิตกระแสไฟฟ้า โดยไม่มีการเผาเหมือนโรงไฟฟ้าอื่น” ตัวแทนบริษัทฯกล่าว

นายราชันย์ กล่าวต่อว่า ท้องถิ่นจะได้รับประโยชน์คือ ไม่ต้องเสียค่ากำจัดขยะตลอดสัมปทาน 20 ปี , ได้รับภาษีบำรุงท้องที่ , ค่าธรรมเนียม-ภาษีรายได้ , เงินสนับสนุนจากกองทุนพลังงาน , สร้างงาน–สร้างรายได้ , ลดค่าใช้จ่ายจัดการขยะ , เงินสนับสนุนจากบริษัทฯ , เป็นสถานที่ดูงานของหน่วยงาน และเป็นแหล่งพัฒนาความรู้

ด้านนางบัวทิพย์ นาคภู่ ผญบ.หนองหมื่นท้าว และชาวบ้าน ระบุว่า หากมีการสร้างโรงงานจะมีชาวบ้าน 361 ราย ได้รับผลกระทบโดยตรง ที่อาศัยอยู่รอบบริเวณนั้นไม่ได้รับแจ้ง เข้ามาร่วมประชุมครั้งนี้ โดย ผญบ.ก็ได้รับแจ้งเพียงวันเดียว ผู้จะได้รับผลกระทบโดยตรง แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับโครงการ เกรงจะเกิดปัญหาหลังเปิดดำเนินการ และไม่สามารถจัดการปัญหาได้ เหมือนกับหลายโครงการ จนเกิดการโต้เถียงกับพนักงานบริษัทฯ ทำให้ตัวแทนบริษัทฯต้องขอโทษชาวบ้าน 2 ครั้ง และให้พนักงานคนนั้นออกจากห้องไป

นางบัวทิพย์กล่าวอีกว่า ชาวบ้านมีความเป็นห่วงกลิ่นขยะ ที่เกิดจากการขนส่ง และการเก็บกอง โดยไม่เชื่อว่าขยะจะใช้วันต่อวัน ขัดกับข้อเท็จจริงการบริหาร ต้องสต๊อกวัตถุดิบป้องกันความผิดพลาด, เกรงการแย่งชิงทรัพยากรน้ำจากประชาชน, เกรงน้ำเสียจะไปปนเปื้อนน้ำบาดาล และแหล่งน้ำสาธารณะ ตลอดจนพื้นที่ข้างเคียง, และข้อมูลที่บริษัทฯนำเสนอไม่ชัดเจน หรือเพียงพอต่อการทำความเจ้าใจ เกรงผลกระทบกับวิถีชีวิต ของชุมชนที่อยู่อาศัยและเกษตรกรรม

จ.ส.อ.ฉลอง ภูวิลัย นายก อบต.โนนสูง กล่าวสรุปหลังสอบถามที่ประชุมว่า การเชิญชาวบ้านมาประชุม อบต.เป็นผู้ออกหนังสือ โดยบ้านหนองหมื่นท้าวฝั่งตะวันตก มอบให้รองนายก อบต.ไปดำเนินการ ส่วนฝั่งตะวันออกรอบตัวโครงการมอบให้บริษัทฯไปดำเนินการ เมื่อชาวบ้านยังมีความกังวล และบริษัทฯก็ยังไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดสมบูรณ์ วันนี้ที่ประชุมไม่มีการโหวตเสียง แต่ให้โอกาสบริษัทฯกลับไปทำความเข้าใจชาวบ้าน และจัดประชุมในระดับหมู่บ้านอีกครั้ง โดย อบต.พร้อมจะจัดประชุมให้สมบูรณ์กว่านี้

สำหรับแผนบริหารจัดการขยะมูล จ.อุดรธานี พ.ศ.2558-2562 ได้จัดทำขึ้นตามโรดแมป “การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย” ไว้กับรัฐบาลและ คสช. กำหนดไว้ให้มี 6 ศูนย์จัดการขยะ และ 4 สถานีขนถ่าย โดยให้ อบจ.อุดรธานี จัดตั้งศูนย์จัดการขยะอันตราย และ ทน.อุดรธานี จัดตั้งศูนย์ขยะติดเชื้อ ในศูนย์จัดการขยะ ทน.อุดรธานี ขณะเดียวกันก็มีเอกชนเข้ามาลงทุน “โรงไฟฟ้าจากขยะ” นอกแผนฯที่กำหนดไว้ ด้วยการติดต่อ อปท. จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นลักษณะเอกชนชี้แจงฝ่ายเดียว จนเกิดปัญหาการต่อต้านที่ อบต.นิคมสงเคราะห์ อ.เมือง และมีเกิดกรณีนี้อีก