เทศบาลเมืองหัวหินสั่ง จนท.เร่งแก้ปัญหาน้ำเสียจากบ่อขยะที่เพิ่มมากขึ้นไหลลงแหล่งน้ำ (18 ก.พ. 59)
MGR Online 18 กุมภาพันธ์ 2559
เทศบาลเมืองหัวหินสั่ง จนท.เร่งแก้ปัญหาน้ำเสียจากบ่อขยะที่เพิ่มมากขึ้นไหลลงแหล่งน้ำ
ประจวบคีรีขันธ์ - ปริมาณขยะที่หัวหินที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 180 ตันต่อวัน ทำให้เกิดปัญหาน้ำเสียจากบ่อขยะไหลซึมลงแหล่งน้ำธรรมชาติ เทศบาลเมืองหัวหิน เร่งแก้ปัญหาด่วนด้วยการสั่งเจ้าหน้าที่สูบน้ำเสียที่ไหลออกมากลับไปบำบัด เสริมคันดินรอบบ่อขยะ พร้อมวางแผนปรับปรุงบ่อขยะเดิม และหางบประมาณสำหรับการเปิดบ่อรองรับขยะเพิ่ม
วันนี้ (18 ก.พ.) น.ส.ไพลิน กองพันธ์ รองนายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน พร้อมเจ้าหน้าที่กองช่างสุขาภิบาล ลงพื้นที่ติดตามการแก้ปัญหาน้ำเสียจากบ่อขยะระบบฝังกลบที่ไหลลงสู่แหล่งน้ำ บริเวณเขาแล้งตำบลทับใต้ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หลังจากได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่รอบบ่อขยะว่า มีน้ำเสียลักษณะสีดำ มีกลิ่นเหม็นซึ่งเป็นน้ำที่ไหลรั่วซึมออกมาจากบ่อขยะลงสู่แหล่งน้ำ และตกค้างอยู่ในแอ่งน้ำตามธรรมชาติ เกรงว่าจะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
น.ส.ไพลิน กองพันธ์ รองนายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน กล่าวว่า หลังจากรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบ และสั่งเร่งดำเนินการแก้ไขทันที โดยสั่งการให้เจ้าหน้าที่สำรวจพื้นที่รอบบ่อขยะมีน้ำเสียไหลซึมออกไป และให้สูบน้ำเสียดังกล่าวออกมาบำบัดในระบบบำบัดน้ำเสียของเทศบาลเมืองหัวหิน ขณะนี้ดำเนินการสูบน้ำเสียออกมาจนเกือบครบทุกจุดแล้ว ไม่มีน้ำเสียไหลออกมาเพิ่ม
ขณะเดียวกัน ในการแก้ปัญหาระยะแรกจะต้องเสริมคันดิน และระบบป้องกันการรั่วซึมรอบบ่อขยะเพื่อป้องกันน้ำเสียไหลซึมออกมาอีก ในระยะต่อไปจะต้องวางแผนในการปรับปรุงบ่อขยะเดิมให้มีระบบการฝังกลบที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งวางแผนเรื่องงบประมาณเพื่อดำเนินการเปิดบ่อรองรับขยะเพิ่มอีกอย่างน้อย 1-2 บ่อ เพื่อให้สามารถรองรับขยะที่มีปริมาณสูงขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชน
รองนายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน กล่าวอีกว่า ปัจจุบันเมืองหัวหินมีความเจริญ มีประชาชน และนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปริมาณขยะต่อวันในพื้นที่ของเทศบาลเมืองหัวหิน เพิ่มขึ้นจาก 150 ตัน/วัน เป็น 180 ตัน/วัน ระบบการกำจัดขยะแบบฝังกลบซึ่งใช้อยู่ปัจจุบันจะสามารถรองรับขยะได้อีก 4-5 ปี ดังนั้น จะต้องวางแผนขอรับการสนับสนุนงบประมาณ และแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ
“ขณะนี้ขยะพลาสติกบางส่วนได้นำมาแปรรูปเป็นน้ำมัน แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่อาจจะต้องมีการผสมผสานระบบกำจัดขยะแบบอื่นเข้ามาร่วมด้วย”