'พัทลุง-สงขลา-กระบี่-สตูล-สุราษฎร์' ค้าน ผังเมือง ฉบับม.44 เข้ากรุงแจงปัญหาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา (19 ก.พ. 59)
ประชาไท 19 กุมภาพันธ์ 2559
'พัทลุง-สงขลา-กระบี่-สตูล-สุราษฎร์' ค้าน ผังเมือง ฉบับม.44 เข้ากรุงแจงปัญหาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา
ตำรวจค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเผยโดนทหารแกล้งชงเรื่องสอบวินัย หลังร่วมเคลื่อนไหวปกป้อง “เทพา” บ้านเกิด อธิการม.อ.ไม่ห้ามนศ.ค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ชี้ปชช.ต้องเป็นผู้ตัดสินใจเองภายใต้ข้อมูลที่เป็นกลาง 'เปอมาตามาส' เข้าแจงปัญหาโรงไฟฟ้าเทพากับยูเอ็น มาเลเซีย อินโดและจุฬาราชมนตรี
19 ก.พ.2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'พลังพลเมืองร่วมสร้างภาคใต้น่าอยู่' รายงานว่า วันนี้ เครือข่ายเปอมาตามาส และเครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือขอชี้แจงข้อมูลโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ให้กับทางสถานฑูตมาเลเซีย อินโดนีเซีย และจุฬาราชมนตรี
ขณะที่วานนี้ (18 ก.พ.59) กลุ่มดังกล่าวได้เดินทางมายื่นหนังสือคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่สหประชาชาติ
โดย นายดิเรก เหมนคร ตัวแทนเครือข่ายประชาชนชายแดนใต้ปกป้องสิทธิชุมชน และสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ ได้ชี้แจงผ่านหนังสือ ซึ่งระบุว่า สืบเนื่องจากการผลักดันโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา โดย กฟผ.และรัฐบาล เป็นโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ถึง 2,200 เมกะวัตต์ บนพื้นที่ 3,000 ไร่ ใช้ถ่านหินมาเผาวันละ 23 ล้านกิโลกรัม ใช้น้ำทะเลในกระบวนผลิตวันละ 9 ล้านลูกบาศก์เมตร โครงการดังกล่าวส่งผลเสียอย่างมากต่อประชาชนในพื้นที่กล่าวคือ ด้านสิ่งแวดล้อมและสภาวะภูมิอากาศ ทั้งตัวท่าเรือและการใช้น้ำทะเลและปล่อยน้ำทิ้งลงทะเล ส่งผลต่อทะเล การกัดเซาะชายฝั่ง การดำรงชีวิตของปูปลากุ้งหอย และการประมงพื้นบ้าน รวมทั้งจะทำให้ป่าชายเลนผืนสำคัญเสื่อมโทรมลงไป รวมทั้งปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก อันจะทำให้โลกร้อนเพิ่มขึ้น
นายดิเรก ระบุผลกระทบด้านสุขภาพ ด้วยว่า จากมลพิษทางอากาศจากฝุ่น โลหะหนัก สารไฮโดรคาร์บอน ที่ปล่อยออกมาตลอด 24 ชั่วโมง แม้จะไม่เกินมาตรฐาน แต่ด้วยขนาดกำลังการผลิตที่ใหญ่มาก ทำให้จำนวนมลพิษสะสมในพื้นที่อย่างมาก
ด้านสังคม ต้องมีการย้ายประชาชนกว่า 240 ครัวเรือน กระทบต่อมัสยิดและกุโบร์ (สุสาน) 2 แห่ง วัด 1 แห่ง และโรงเรียนปอเน๊าะอีก 1 แห่ง ซึ่งต้องย้ายออกไป กระทบต่อหลักศรัทธาของประชาชนในพื้นที่อย่างยิ่ง
ปัจจุบัน กฟผ.ได้ส่งรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ให้กับทางสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แล้ว การศึกษาผลกระทบฯ ในรายงานของ กฟผ.นั้น ได้ใช้วิชามารในการจัดทำรายงานและไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนทางกฎหมายและวิชาการ กล่าวคือ 1. ได้มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม ในรัศมีเพียง 5 กิโลเมตร โดยมีเจตนาที่จะไม่ทำการศึกษาเข้าไปในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ทั้งๆที่หมู่บ้านแรกของปัตตานีห่างจากโครงการเพียง 7 กิโลเมตรเท่านั้น อันแสดงถึงความไร้หลักวิชาการ ทั้งๆ ที่ผลกระทบนั้นไกลถึง 100 กิโลเมตร จึงควรที่จะตีกลับทั้งหมด เพื่อให้ไปทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมสุขภาพใหม่ให้ครอบคลุมรัศมี 100 กิโลเมตร และ 2. กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งการทำ ค.1 ค.2 และ ค.3 มีความฉ้อฉล มีการซื้อเสียงด้วยการแจกสิ่งของในเวที ค.1 ไม่มีการรับฟังกลุ่มเห็นต่างในการทำเวที ค.2 และมีการใช้กำลังปิดกั้นการมีส่วนร่วมในเวที ค.3 รวมทั้งไม่มีการจัดเวทีสร้างการรับรู้หรือการรับฟังความคิดเห็นใดๆ ในพื้นที่ปัตตานี ยะลา นราธิวาส แม้แต่ครั้งเดียว จึงควรที่จะให้ กฟผ.เริ่มต้นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นใหม่ทั้งหมด
ทางเครือข่าย ฯ ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนในพื้นที่จ.สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสตูล จึงขอร้องเรียนมายังองค์กรสหประชาชาติ เพื่อให้รัฐบาลไทยทบทวนและยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าที่มีการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงทั้งที่เทพาและกระบี่ และขอให้องค์การสหประชาชาติดำเนินการตามภารกิจในการแก้ปัญหาโลกร้อนที่เป็นภัยคุกคามใหม่ที่รุนแรงมากอย่างมุ่งมั่น พร้อมทั้ง ขอให้รับเรื่องราวร้องทุกข์ของเครือข่าย ฯ บันทึกเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับสูงต่อไป
อธิการ ม.อ. ไม่ห้ามนศ.ค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ชี้ปชช.ต้องเป็นผู้ตัดสินใจเองภายใต้ข้อมูลที่เป็นกลาง
สถานีวิทยุกระจายเสียง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี รายงานด้วยว่า รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 16 ก.พ. ที่ผ่านมา ณ โรงแรมลีการ์เด้นส์ พลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หลังเปิดประชุมวิชาการระดับชาติข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค ครั้งที่ 6 หรือ การประชุมวิชาการระดับชาติ PULINET ครั้งที่ 6 (Provincial University Network) ถึงกรณีที่นักศึกษา ม.อ. บางส่วนแสดงจุดยืนเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพว่า การ หากเป็นการแสดงออกในนามส่วนตัว มหาวิทยาลัยไม่เข้าไปขัดข้อง แต่หากเป็นการแสดงออกภายใต้องค์กรระดับมหาวิทยาลัยก็จำเป็นต้องพูดคุยกันให้ชัดเจนก่อน
“โดยหลักการมหาวิทยาลัยไม่ได้ขัดข้องแต่ว่าเราต้องยืนอยู่บนความเป็นกลางในบางเรื่องที่เราจะไปแสดงความคิดเห็น ส่วนในนามของมหาวิทยาลัยนั้นเราก็เป็นกลางและให้ความรู้ข้อเท็จจริงกับประชาชนและคนที่จะตัดสินใจไม่ใช่เราเป็นคนตัดสินใจให้กับประชาชน แต่ประชาชนจะต้องเป็นคนตัดสินใจเอง โดยเราจะต้องให้ความรู้ทั้งสองฝ่ายว่าในเรื่องของโครงการต่างๆ ของรัฐบาลที่จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้นมีข้อดีข้อเสียอย่างไรแล้วประชาชนผู้เป็นเจ้าของพื้นที่จะต้องเป็นผู้ตัดสินใจเอง” อธิการบดี ม.อ. กล่าว
ตำรวจค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเผยโดนทหารแกล้งชงเรื่องสอบวินัย
18 ก.พ. 59 MGR Online รายงานด้วยว่า ส.ต.ท.สุขเกษม ประสิทธิ์หิมะ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ ได้โพสต์ภาพและข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวที่ใช้ชื่อว่า “เษม ณ.บางหลิง” เมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา ระบุว่า โดนทหารแทงเรื่องให้สอบวินัย ข้อหาทำตัวไม่เป็นกลาง และมีผลกระทบต่อความมั่งคงในพื้นที่ พร้อมทั้งถูกถูกดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาท คดียังไม่สิ้นสุด หลังตนกับทีมงานจัดเวทีคุณค่าแผ่นดินเทพา ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารจัดเวทีเชียร์ถ่านหิน อวยพรให้ได้โรงไฟฟ้าถ่านหิน ไม่มีสอบวินัย
พร้อมโพสต์ภาพ กรณีที่ พ.อ.ชัยเดช ทองประดิษฐ์ รองผู้บัญชาการควบคุมมณฑล ที่ 42 เปิดเวทีรับฟังปัญหาจาก ชาวตำบลปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา เป็นพื้นที่ ที่ กฟผ. ระบุว่า มีความเหมาะสมในการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา กับท่าเทียบเรือ เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา
ที่มา : เษม ณ.บางหลิง
'พัทลุง-สงขลา-กระบี่-สตูล-สุราษฎร์' ค้าน ผังเมือง ฉบับม.44
วันนี้ (19 ก.พ.59) เพจ 'พลังพลเมืองร่วมสร้างภาคใต้น่าอยู่' ยังรายงานด้วยว่า วันนี้ ที่ศาลากลางจ.พัทลุง สงขลา กระบี่ สุราษฎร์ธานีและสตูล เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบด้วย 127 องค์กรทั่วประเทศได้ยื่นหนังสือคัดค้านผังเมือง ฉบับ ม.44 ถึง พอ.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เพื่อขอให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2559 และที่ 4/2559
ค้าน ผังเมือง ฉบับม.44 ที่ จ.กระบี่ ที่มาภาพ เพจ 'พลังพลเมืองร่วมสร้างภาคใต้น่าอยู่'
จ.สุราษฎร์ธานี ที่มาภาพ เพจ 'พลังพลเมืองร่วมสร้างภาคใต้น่าอยู่'
จ.พัทลุง ที่มาภาพ เพจ 'พลังพลเมืองร่วมสร้างภาคใต้น่าอยู่'
โดย นายสมบูรณ์ คำแหง คณะทำงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจ.สตูล ระบุในหนังสือคัดค้านดังกล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2559 ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่ง หัวหน้าคสช. ที่ 3/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และคำสั่งที่ 4/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท ซึ่งการประกาศคำสั่งทั้งสองฉบับดังกล่าวมีผลเป็นการยกเลิกหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชนตามกฎหมายหลายประการ เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล และเครือข่ายภาคประชาชนอื่นๆในหลายจังหวัดขอเสนอความเห็นและข้อเรียกร้องต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติและรัฐบาลดังนี้
การใช้อำนาจมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มีเจตนารมณ์เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน แต่การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีคำสั่งที่ 3/2559 และ 4/2559 โดยใช้อำนาจตามมาตรา 44 นั้น เครือข่ายฯ เห็นว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2559 และฉบับที่ 4/2559 เครือข่ายฯ จึงมีความเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวของ คสช.จะก่อให้เกิดความยุ่งยากในการบริหารบ้านเมืองในอนาคต เพราะถือเป็นการไม่ยอมรับระบบการออกแบบผังเมืองในระดับจังหวัด และผังเมืองรวมที่มีการจัดทำขึ้นจากการะบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งควรจะต้องเคารพการตัดสินใจของประชาชนที่ได้มีการออกแบบการใช้ประโยชน์ในท้องถิ่นของตนเองให้สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม และรวมถึงสภาพเศรษฐกิจที่ควรจะเป็น ดังนั้นการออกคำสั่งทั้งสองฉบับก็เพียงเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มนักลงทุนเพียงบางกลุ่ม และบางเรื่องเท่านั้น อย่างเช่นการเอื้อประโยชน์ให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล และเชื้อเพลิงขยะ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีกฏระเบียบเพื่อควบคุมเพื่อให้การก่อสร้างเป็นไปด้วยความเหมาะสมอยู่แล้ว และไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันใดที่จะต้องออกคำสั่งดังกล่าว
การใช้อำนาจพิเศษดังกล่าวยังจะสร้างความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับผู้ประกอบการธุรกิจที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่จะเกิดขึ้นทั่วประเทศ อันเป็นการก้าวเดินที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรงของรัฐบาลและ คสช. ซึ่งจะเห็นได้จากกรณีของความพยายามที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าขยะ อยู่ในหมู่บ้านเดียวกันของอำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล ทั้งที่ชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่ก็ยังไม่เคยรับรู้เรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด มีเพียงผู้นำท้องถิ่นเฉพาะกลุ่มเท่านั้น และที่สำคัญคือการมีโรงไฟฟ้าอยู่ในหมู่บ้านเดียวถึงสองโรงด้วยกันถือเป็นความเลวร้ายอย่างยิ่งต่อมลพิษที่จะเกิดขึ้นกับคนพื้นที่ในอนาคต และเชื่อว่าเรื่องนี้ก็จะกลายเป็นความขัยแย้งของคนในพื้นที่ด้วยกันเอง และอาจจะกลายเป็นความขัดแย้งกับนักลงทุนภายนอกที่เข้ามาก่อสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าวอีกด้วย
จากเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมด การประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช. ไม่เข้าเงื่อนไขตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 44 เป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตที่พึงกระทำ ไม่บรรลุประโยชน์ในการปฏิรูปหรือส่งเสริมความสามัคคี สมานฉันท์ของประชาชนตามที่มาตรา 44 ได้กำหนดไว้ โดยคสช. และรัฐบาลต้องยกเลิกคำสั่งทั้ง 2 ฉบับ เพื่อคลี่คลายวิกฤติโดยเร่งด่วน
สุดท้ายหนังสือคัดค้านดักล่าว ระบุด้วยว่า เราในนามเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล และองค์กรภาคประชาชนอื่นๆ ขอเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. และรัฐบาลให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2559 และที่ 4/2559 ในทันที ทั้งนี้เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล จะร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนอื่นๆทั่วประเทศจะเข้าร่วมติดตามคำตอบและทวงถามความยุติธรรมอีกครั้งในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล
ประเทศไทยเป็นของประชาชน มิได้เป็นของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง