รายงาน: ชาวบ้านทวายยืนกรานต่อสู้โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (17 ก.พ. 59)

ประชาไท 17 กุมภาพันธ์ 2559
รายงาน: ชาวบ้านทวายยืนกรานต่อสู้โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย

Dawei Watch Thailand  
https://facebook.com/DaweiWatchThailand

ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจาก ‘โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย’ ยืนกรานต่อสู้เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและวิถีชุมชน ยืนยันไม่ยอมรับการก่อสร้างเขื่อนเพื่อป้อนน้ำให้กับนิคมอุตสาหกรรม ที่บังคับให้ชาวบ้านต้องย้ายออกจากพื้นที่

เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2559 ชาวบ้านกว่า 200 คนที่ได้รับผลกระทบจาก ‘โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย’ มารวมตัวกันที่หมู่บ้านกาโลนท่า เขตเยบิว ของเมืองทวาย ในแคว้นตะนาวศรี ทางตอนใต้ของพม่า เพื่อประกอบพิธีกรรมบูชาเทพยดาในธรรรมชาติ ณ ริมฝั่งแม่น้ำตะลายยาร์ ซึ่งมีทั้งชาวบ้านกาโลนท่าที่ได้รับผลกระทบทั้งจากการทำเหมืองแร่ของบริษัทจีน และแผนก่อสร้างเขื่อนที่จะนำน้ำไปใช้ในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย อันเป็นโครงการร่วมมือกันระหว่างไทยและพม่า รวมถึงชาวบ้านจากพื้นที่ใกล้เคียง และจากชุมชนกะเหรี่ยงที่ถูกผลกระทบจากการก่อสร้างถนนเชื่อมระหว่างโครงการทวายไปยังชายแดนไทย-พม่า ก็มาร่วมในพิธีด้วย

‘โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย’ ริเริ่มโดย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD เมื่อปี 2551 ซึ่งประกอบไปด้วย ท่าเรือน้ำลึก เขตนิคมอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า เขื่อนและอ่างเก็บน้ำ ท่อส่งก๊าซและท่อส่งน้ำมัน ทางรถไฟ และถนนเชื่อมต่อจากโครงการมายังชายแดนไทย-พม่า ที่บ้านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี

หลวงพ่อปันยา หวุ่นซา เจ้าอาวาสแห่งวัดประจำหมู่บ้านกาโลนท่า กล่าวว่า การจัดพิธีนี้ขึ้นก็เพื่อบวงสรวงเทพยดาที่สิงสถิตในธรรมชาติ ทั้งแม่น้ำ แก่งหิน ป่า และขุนเขา ที่ชาวบ้านได้พึ่งพิง พร้อมกับเพื่อเป็นการรณรงค์ให้สาธารณชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และในขณะเดียวกันเพื่อสร้างความสมานฉันท์ระหว่างประชาชนในพื้นที่ต่างๆ เพราะขณะนี้หมู่บ้านกาโลนท่าและหมู่บ้านอื่นๆ ในทวายกำลังเผชิญหน้ากับโครงการขนาดใหญ่ที่กำลังคุกคามธรรมชาติและวิถีความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่


หลวงพ่อปันยา หวุ่นซา เจ้าอาวาสแห่งวัดประจำหมู่บ้านกาโลนท่า ซึ่งเป็นแกนนำคนสำคัญในการต่อสู้ปกป้องชุมชน และเพิ่งได้รับการเลือกตั้งให้เป็นเจ้าคณะสงฆ์ประจำเขตเยบิว

หมู่บ้านกาโลนท่าได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองตะกั่วของบริษัทจีน ที่ปล่อยน้ำเสียลงในแม่น้ำตะลายยาร์ ที่ผ่านมา ชาวบ้านเคยรวมตัวกันเพื่อไปปิดเหมืองให้หยุดทำการ เนื่องจากเหมืองปล่อยน้ำที่มีสารปนเปื้อนลงสู่แม่น้ำตะลายยาร์ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำหลักที่ชาวบ้านใช้สอย และได้เรียกร้องให้บริษัทเหมืองแร่ปรับปรุงมาตรการทางด้านสิ่งแวดล้อมที่รับผิดชอบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม และในขณะนี้หมู่บ้านกาโลนท่ากำลังประสบกับแผนการก่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำตะลายยาร์เพื่อนำน้ำ 627 ล้านลูกบาศก์เมตร ป้อนให้กับเขตนิคมอุตสาหกรรมทวาย

หลวงพ่อกล่าวว่า หากมีการสร้างเขื่อนตามแผน จะส่งผลให้น้ำท่วมที่ทำกินและบ้านเรือน และชาวบ้านกาโลนท่าทั้งหมู่บ้านจำนวน 182 หลังคาเรือน หรือประมาณ 1,000 คน ต้องย้ายออกจากพื้นที่

ครัวเรือนเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ของบ้านกาโลนท่าถือครองที่ดินในการทำสวนทำไร่ และมีรายได้หลักจากการปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น หมาก มะม่วงหิมพานต์ ยางพารา กระวาน บุก และผลไม้นานาชนิด ทั้งนี้ ในปีที่แล้วเพียงการทำสวนหมากอย่างเดียวก็สร้างรายได้ให้กับหมู่บ้านมากกว่า 100 ล้านจั๊ต (ประมาณ 3 ล้านบาท) 


หมาก เป็นพืชเศรษฐกิจของชาวบ้านกาโลนท่า และในปีนี้ชาวบ้านกำลังยินดีกับราคาหมากที่สูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว

ชาวกาโลนท่ารู้ดีว่า หากโครงการทวายเดินหน้า จะต้องมีการสร้างเขื่อนในพื้นที่ เพราะเขตนิคมอุตสาหกรรมของทวายใหญ่กว่ามาบตาพุดที่ประเทศไทยถึง 7-8 เท่า โครงการจึงต้องการน้ำจำนวนมหาศาลเพื่อป้อนอุตสาหกรรม แต่เขื่อนไม่เพียงทำให้ชาวบ้านทั้งหมดต้องย้ายออกจากถิ่นฐานบ้านเกิด พวกเขายังต้องสูญเสียที่ดินทำกิน และรายได้ รวมถึงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติที่เอื้อต่อการยังชีพมาช้านาน  


บ้านเรือนกับสวนหมากในหมู่บ้านกาโลนท่า

ตลอดระยะหลายปีตั้งแต่ผู้พัฒนาโครงการเข้ามาดำเนินการในพื้นที่ ชาวบ้านกาโลนท่าได้รวมตัวกันต่อสู้และประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนว่า “ไม่เอาเขื่อน ไม่โยกย้าย” (No Dam, No Relocation) นอกจากนี้ ชาวบ้านในเขตที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างถนนก็เคยประท้วงปิดถนนหลายครั้งไม่ให้รถของบริษัท อิตาเลียนไทยฯ สัญจรไปมาได้ เนื่องจากไม่พอใจการดำเนินงานของบริษัท

ทั้งนี้ งานวิจัยของสมาคมพัฒนาทวายในปี 2557 ระบุว่า ชาวบ้านจาก 20-36 หมู่บ้าน ราว 22,000-43,000 คน (หรือประมาณ 4,384-7,807 ครัวเรือน) จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและโครงการที่เกี่ยวเนื่อง และประชาชนอีกประมาณ 790,000 คนในเขตชนบท ริมชายฝั่งทะเล และในตัวเมืองทวาย ก็จะได้รับผลกระทบทางอ้อมด้านสิ่งแวดล้อมและอื่นๆ หากโครงการทวายเดินหน้า

สมาคมพัฒนาทวายระบุว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ภาคประชาสังคมและชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการทวาย ซึ่งมีทั้งหมู่บ้านที่อยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตเศรษฐกิจพิเศษ หมู่บ้านที่อยู่ในเขตก่อสร้างถนนเชื่อมโยงระหว่างโครงการทวายกับชายแดนไทย และหมู่บ้านกาโลนท่าที่ได้จะรับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ได้เรียกร้องหลายต่อหลายครั้งให้ บริษัท อิตาเลียนไทยฯ รัฐบาลไทยและพม่า แก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และควรทบทวนตรวจสอบกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานที่ผ่านมาทั้งหมด ก่อนที่จะรื้อฟื้นเดินหน้าโครงการระลอกใหม่ แต่กลับไม่เคยได้รับการตอบสนองใดๆ

แต่ปรากฏว่าในเดือนสิงหาคม 2558 บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ร่วมกับ สวนอุตสาหกรรมโรจนะ และบริษัท LNG Plus International กลับได้รับสัมปทานจากรัฐบาลพม่าเพื่อดำเนินการในเฟสเริ่มต้น (Initial Phase) บนพื้นที่ 27 ตร.กม.

ทั้งนี้ หลังจากที่บริษัท อิตาเลียนไทยฯ หมดสัญญาสัมปทานในช่วงแรกไปเมื่อปี 2556 รัฐบาลพม่าและรัฐบาลไทยก็ได้เข้าถือหุ้นในโครงการในสัดส่วน 50 ต่อ 50 และจัดตั้งบริษัทนิติบุคคลเฉพาะกิจ (เอสพีวี) ในนาม บริษัท ทวาย เอสอีแซด ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด ขึ้นมาดำเนินงาน

ล่าสุด เมื่อเดือนธันวาคม 2558 ประเทศญี่ปุ่นได้ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ โดยแบ่งการถือหุ้นของสามประเทศในสัดส่วน 33.33 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ด้านสำนักงานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ (สศช.) จัดทำแผนแม่บทโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายทั้งโครงการ (Full Phase Master Plan) บนพื้นที่ 196 ตร.กม. และทางการไทยดำริที่จะเดินหน้าทันทีหากทุกฝ่ายเห็นพ้อง โดยไม่ต้องรอให้เฟสเริ่มต้นเสร็จสิ้นก่อน

ข่าวคราวดังกล่าวทำให้ชาวบ้านตื่นตัวเพื่อตั้งรับอีกครั้งกับการรุกคืบของโครงการทวายระลอกใหม่ และเมื่อเดือนธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา ชาวบ้านกาโลนท่าและชาวบ้านอีกหลายพื้นที่ในเขตที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ยังได้ออกจดหมายเปิดผนึกประท้วง บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด บริษัทสัญชาติไทยที่รับจ้างจัดทำการศึกษาประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของโครงการ

ชาวบ้านเห็นพ้องกันว่า ที่ผ่านมา โครงการทวายไม่เคยมีความโปร่งใสและความรับผิดชอบใดๆ  ทั้งรัฐบาลพม่าและรัฐบาลไทย รวมถึงบริษัทผู้พัฒนาโครงการไม่เคยให้ความสำคัญกับสิทธิต่างๆ ของคนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ และการดำเนินโครงการก็ได้นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง อีกทั้งก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างความสูญเสียให้กับที่ดินทำกิน ไร่สวน วิถีชีวิต รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนก็ถูกทำลายไปอย่างนับไม่ถ้วน ทั้งยังไม่เคยได้รับการตอบสนองใดๆ เมื่อเรียกร้องเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น


แม่น้ำตะลายยาร์ขนาบด้วยขุนเขา เป็นจุดที่จะมีการสร้างเขื่อนเพื่อนำน้ำไปป้อนให้กับเขตอุตสาหกรรมทวาย โดยมี บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด รับจ้างจัดทำการศึกษาประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของโครงการ และชาวบ้านได้ยื่นหนังสือประท้วงบริษัทฯ

ชาวบ้านกาโลนท่ายังได้ระบุในจดหมายว่า “พวกเรามีสิทธิที่จะกำหนดอนาคตที่ยั่งยืนของเรา บนผืนแผ่นดินดั้งเดิมของพวกเรา พวกเราชาวบ้านกาโลนท่าจะไม่ย้ายออกจากพื้นที่ดั้งเดิมของเรา และเราจะไม่ยอมรับโครงการใดๆ ที่ไม่เคารพในหลักการของความยินยอมอันต้องเป็นไปอย่างอิสระ ได้รับรู้ข้อมูลล่วงหน้าและเพียงพอ (Free, Prior and Informed Consent)”

ทั้งนี้ พวกเขายังประกาศว่า “เราจะไม่สนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย หรือโครงการถนนเชื่อมต่อของทวาย”  

..........

“เราเคารพในธรรมชาติ และขอให้เทพยดาในธรรมชาติอำนวยพรให้เราสำหรับการต่อสู้เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตที่เราพึ่งพาอยู่กินกับธรรมชาติ” หลวงพ่อแห่งวัดกาโลนท่ากล่าวไว้ในระหว่างประกอบพิธีกรรมวันนั้น และยืนกรานที่จะต่อสู้เพื่อปกป้องวิถีชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติเพื่อลูกหลานสืบไป