ขยายสิทธิการเช่าต่างชาติ 99 ปี (2) "โบรกเกอร์" เชียร์เช่าวิลล่า พัฒนาแปลงใหญ่ (18 ก.พ. 59)

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 18 กุมภาพันธ์ 2559
ขยายสิทธิการเช่าต่างชาติ 99 ปี (2) "โบรกเกอร์" เชียร์เช่าวิลล่า พัฒนาแปลงใหญ่

ยังไม่รู้จะเกิดขึ้นได้จริงหรือเป็นได้แค่หินถามทาง สำหรับการแก้กฎหมายเปิดทางให้ต่างชาติเช่าที่ดินของไทยได้ 99 ปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 30 ปี บวกได้อีก 30 ปี เพราะมีทั้งแรงสนับสนุนและแรงต้าน กับแนวคิดของรัฐบาลชุดนี้ 

ฉบับที่แล้ว "ประชาชาติธุรกิจ" ได้เปิดประเด็นดังกล่าวกับ 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ ฉบับนี้ลองมาฟังมุมคิด "โบรกเกอร์" ที่คลุกคลีกับนักลงทุนต่างชาติมานักต่อนัก หากกฎหมายนี้ได้รับการไฟเขียวจะเกิดจุดเปลี่ยนตลาดอสังหาฯไทยมากน้อยแค่ไหน

เริ่มจาก "พนม กาญจนเทียมเท่า" กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไนท์แฟรงค์ ชาร์เตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ในแง่การลงทุนพัฒนาโครงการโดยชาวต่างชาติ เชื่อว่าจะมีสูงขึ้น เพราะระยะเวลาเช่า 99 ปีทำให้ที่ดินมีศักยภาพในการทำรายได้ใกล้เคียงที่ดินฟรีโฮลด์ (ที่ดินขายขาด) ต่างจากการเช่าระยะ 30 ปีซึ่งเป็นไปได้ว่ากิจการอาจยังไม่คืนทุน 

รวมถึงโอกาสจะนำที่ดินไปค้ำประกันสำหรับกู้สถาบันการเงินก็เป็นไปได้มากขึ้น จากปกติแล้วธนาคารจะไม่อนุมัติปล่อยกู้หรือให้กู้เพียง 50%

"ในหลายประเทศให้สิทธิเช่า 99 ปีหรือมากกว่านั้นแล้ว ถือเป็นเรื่องปกติ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ซึ่งบางพื้นที่ให้เช่านานถึง 999 ปีเลย ในไทยเองที่จริงแล้วสำนักงานรัฐหลายแห่งก็ให้เช่า 30+30 ปีแล้ว คือการต่อสัญญารอบที่สอง เพียงแต่กฎหมายไม่รองรับ ซึ่งทำให้ผู้เช่ามีความเสี่ยง"

"พนม" ยังกล่าวอีกว่า ในมุมของผู้ซื้อรายย่อย เชื่อว่าจะมีผลดีต่อการดึงดูดชาวต่างชาติเข้ามาเช่าบ้านจัดสรรในไทย โดยเฉพาะตลาดท่องเที่ยว เช่น เกาะสมุย ภูเก็ต เชียงใหม่ หัวหิน ซึ่งชาวต่างชาติมีความต้องการซื้อบ้านระดับวิลล่าไฮเอนด์มากกว่าห้องชุด ถ้าหากเช่าระยะยาวได้ก็ถือว่าจูงใจมากพอ

แต่หากเป็นกลุ่มคอนโดมิเนียม น่าจะกระตุ้นการซื้อเพิ่มได้ไม่มาก เพราะสินค้าที่ชาวต่างชาติสนใจจะเป็นระดับไฮเอนด์ซึ่งมีจำนวนน้อย และกฎหมายเปิดช่องให้ต่างชาติซื้อได้ 49% ของโครงการอยู่แล้ว 

"ดังนั้นโดยรวมคาดว่า กำลังซื้อจะดีขึ้นแต่ไม่หวือหวาระดับที่ทำให้ชาวต่างชาติทะลักเข้ามาซื้ออสังหาฯไทยจำนวนนับพันราย คงไม่ใช่แบบนั้น"

ส่วนความกังวลว่า กรรมสิทธิ์ที่ดินจะเปลี่ยนมือไปอยู่กับชาวต่างชาติจนหมด มองว่าขึ้นอยู่กับการร่างกฎหมายที่จำกัดสิทธิต่าง ๆ เช่น กำหนดขนาดที่ดินที่ให้เช่าไม่เกิน 100 ไร่ ห้ามให้เช่าช่วง จำกัดธุรกิจบางประเภทเท่านั้นที่สามารถเช่าที่ดินระยะยาวได้ นอกจากนี้รัฐบาลไทยสามารถเรียกเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมพิเศษเพิ่มจากชาวต่างชาติที่เข้ามาเช่าที่ดินได้ เป็นการหารายได้เข้าประเทศอีกทางหนึ่ง

ด้าน "สุรเชษฐ กองชีพ" รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด มองในมุมที่ดินรัฐซึ่งมีแปลงขนาดใหญ่จำนวนมากกระจายทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด ซึ่งการลงทุนทั้งแปลงต้องใช้เงินลงทุนหลักหลายหมื่นล้าน ทำให้ดีเวลอปเปอร์ไทยที่มีศักยภาพพอพัฒนาได้มีน้อยลง การเปิดให้เช่าที่ดินยาว 99 ปีจะดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามามากขึ้น เพราะเป็นระยะที่ทำกำไรคุ้มค่าได้

ซึ่งการพัฒนาที่ดินจะทำให้ย่านนั้น ๆ เจริญเติบโต ตัวอย่างเช่นบริเวณสยามสแควร์-จุฬา พระราม 4-ลุมพินี ในขณะที่ที่ดินอีกมากซึ่งอยู่ในทำเลที่ดีแต่ยังรอการพัฒนาอยู่ เช่น ที่ดินย่านมักกะสัน สถานีแม่น้ำ สถานีกลางบางซื่อ ท่าเรือคลองเตย

"ยังรอฟังรัฐบาลว่าจะตัดสินใจอย่างไร ทราบว่าธุรกิจที่ไม่อนุญาตแน่นอนคือการทำเกษตรกรรม แต่ยังหารือว่าจะเปิดให้เช่าเฉพาะระดับหน่วยงานรัฐต่อหน่วยงานรัฐหรือจะให้สิทธิเอกชนด้วย อยากให้มองว่าที่ดินรัฐให้เช่าแล้วอย่างไรก็จะต้องกลับมาเป็นสิทธิของรัฐ"

ส่วนผู้ซื้อรายย่อย "สุรเชษฐ" มองว่าห้องชุดระดับไฮเอนด์ที่ชาวต่างชาติสนใจลงทุน ปัจจุบันหลายแห่งยังซื้อไม่เต็มอัตราส่วนที่กำหนด 49% ให้ต่างชาติถือกรรมสิทธิ์ได้ ดังนั้นจึงไม่น่าจะมีผลต่อรายย่อยมากนัก