กลุ่มชีวมวลล้วงสูตรค่าไฟ FiT ชี้รายได้หด-ลดอายุโครงการ (18 ก.พ. 59)

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 18 กุมภาพันธ์ 2559
กลุ่มชีวมวลล้วงสูตรค่าไฟ FiT ชี้รายได้หด-ลดอายุโครงการ

เอกชนชีวมวลตั้งข้อสังเกตการเปลี่ยนอัตราค่าไฟฟ้าจาก Adder ของคณะอนุกรรมการแก้ไขโรงไฟฟ้าชีวมวลมาเป็น FiT แท้จริงเป็น "FiT ปลอม" ค่าไฟคำนวณจากฐานของเดิมของ Adder แถมหั่นจำนวนปีของโครงการ-รายได้ลดลง ผู้ผลิตไฟแค่รอดตายช่วงนี้แต่ไม่รู้อนาคต ชี้พลังงานชีวมวลต้นทุนต่ำ ผลิตไฟได้ตลอดเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงอื่น

รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมอนุกรรมการแก้ไขปัญหาโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่มี พล.อ ณัฐติพล กนกโชติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพลังงานเป็นประธาน เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้เห็นชอบให้โรงไฟฟ้าชีวมวลซึ่งได้รับเงินส่วนเพิ่มรับซื้อไฟฟ้า (Ad-der) สามารถเปลี่ยนระบบสนับสนุนเป็นเงินส่วนเพิ่มรับซื้อไฟฟ้าตามต้นทุนที่แท้จริง (Feed-in Tariff ) หรือ FiTได้ เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับผู้ผลิตที่ต้องประสบปัญหาขาดทุนสะสมต่อเนื่อง เพราะราคาเชื้อเพลิง เช่น แกลบปรับราคาสูงขึ้นกว่าเท่าตัวมาอยู่ที่ราคา 800-1,000 บาท/ตัน ทั้งนี้ จะมีการหารือร่วมกับกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าชีวมวลอีกครั้ง ก่อนนำเสนอแนวทางดังกล่าวเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่ 7 มี.ค. 59 นี้ 

แหล่งข่าวจากผู้ผลิตไฟฟ้าชีวมวลเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงความคืบหน้าถึงการปรับรูปแบบค่าไฟฟ้าให้กลุ่มผู้ผลิตชีวมวลจากเดิมคือส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้า (Adder) มาเป็นอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรตามต้นทุน หรือ FiT เพื่อแก้ปัญหาการขาดทุนสะสมว่า แม้ภาพรวมจะเห็นว่าเป็นการเปลี่ยนสูตรคำนวณและเพิ่มค่าไฟฟ้าให้นั้น เมื่อพิจารณาจากการคำนวณจะพบว่าเป็นการคำนวณโดยใช้ฐานของ Adder เดิมในการคำนวณ และมีการแปลงรายได้ต่อปีเป็นแบบ Fit เท่านั้น ใช้อัตราค่าไฟฟ้าฐาน บวกรวมกับอัตรา Adder และบวกรวมกับอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) โดยในปีแรกจะมีอัตรา Fix Cost ไว้ที่ 2.39 บาท/หน่วย รวมกับต้นทุนแปรผันที่ 1.85 บาท/หน่วย และรวมกับอัตราค่าไฟฟ้าพิเศษ (Premium) ที่ 30 สตางค์/หน่วย รวมอัตราค่าไฟที่จะได้รับอยู่ที่ 4.54 บาท/หน่วย

จากการใช้วิธีคำนวณดังกล่าวส่งผลให้อายุของโครงการสั้นลง รวมถึงรายได้ของทั้งโครงการ "ต่ำกว่า" ระบบ Fit แบบที่ใช้ล่าสุด ประมาณร้อยละ 30 โดยรายได้ต่อเดือนจากการจำหน่ายไฟฟ้าจะอยู่ที่ 26 ล้านบาท/เดือน เมื่อคำนวณรวม 20 ปี โครงการจะมีรายได้เพียง 6,240 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้ที่ค่อนข้างต่ำจากที่เคยประเมินไว้ ในขณะที่รูปแบบ FiT ที่ประกาศใช้กับโรงไฟฟ้าชีวมวลใหม่จะมีองค์ประกอบของการคำนวณคือ 1) กำหนด Fix Cost ไว้ที่ 2.39 บาท/หน่วย 2) ต้นทุนแปรผัน (Avariable cost) ที่ 1.85 บาท/หน่วย และจะปรับเพิ่มให้ในระดับร้อยละ 2 ทุกปี และ 3) อัตราค่าไฟฟ้าพิเศษ (Premium) อีก 30 สตางค์หน่วย รวม 8 ปี และนำมาคูณกับจำนวนหน่วยไฟที่ผลิตได้ที่ร้อยละ 70 ราคาค่าไฟฟ้ารวมเฉลี่ยประมาณ 4.90 บาท/หน่วย ถือเป็นรูปแบบที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและเป็นธรรมแก่ผู้ผลิตไฟฟ้าทั้งรายเก่าและรายใหม่ด้วย 

"วิธีการแก้ปัญหาด้วยอัตราค่าไฟฟ้าใหม่เป็นเพียงทำให้ผู้ผลิตรอดตายในช่วงนี้ที่ต้องเจอปัญหาขาดทุนสะสม แต่อนาคตยังไม่รู้จะเป็นอย่างไร เพราะทุกโครงการถูกปรับลดอายุโครงการลงด้วยสูตรนี้ ที่สำคัญเม็ดเงินที่ควรจะได้ก็ปรับลดลงด้วย ที่บอกว่าเปลี่ยนเป็นค่าไฟแบบ FiT ให้ตามที่ภาคเอกชนขอก็เป็นเพียงแค่ FiT ปลอมเท่านั้น เอกชนยังยืนยันที่ต้องการให้เปลี่ยนเป็นค่าไฟฟ้าแบบเดียวกันคือ แบบ FiT ทั้งโครงการเก่าและโครงการใหม่เพื่อความเป็นธรรม 

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า ที่มีประเด็นข้อกังวลของกระทรวงพลังงานว่าต้องส่งเสริมพลังงานทดแทนแต่ละประเภทให้อยู่ในระดับเหมาะสมเพื่อไม่ให้กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าที่ต้องเก็บจากประชาชนนั้น เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าในปัจจุบันจะพบว่ามีการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลเพียงร้อยละ 3.1 ด้วยอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ 3.52 บาท/หน่วย ผลิตจากพลังงานลมร้อยละ 1.6 ด้วยอัตราค่าไฟฟ้าที่ 6.52 บาท/หน่วย และผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ร้อยละ 0.9 ด้วยอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ 10.22 บาท/หน่วย จะเห็นว่าต้นทุนค่าไฟฟ้าของชีวมวลค่อนข้างต่ำ ฉะนั้นส่งผลกระทบต่อราคาค่าไฟน้อยมาก ที่สำคัญคือสามารถใช้วัตถุดิบเหลือใช้ในประเทศทั้งเศษไม้ ทะลายปาล์ม แกลบและชานอ้อยเท่ากับช่วยเหลือเกษตรกรด้วย

ก่อนหน้านี้สมาคมโรงไฟฟ้าชีวมวลได้ยื่นหนังสือต่อกระทรวงพลังงานเพื่อขอหยุดเดินเครื่องในช่วงปลายปี′58 ที่ผ่านมารวมประมาณ 3 วัน เพื่อลดการขาดทุนสะสม รวมถึงบางโรงไฟฟ้าถึงกับประกาศขายกิจการ เนื่องจากราคาวัตถุดิบ เช่น แกลบปรับตัวสูงขึ้นจาก 300 บาท/ตัน ที่ได้ประเมินโครงการไว้ในช่วงแรก ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 800-1,000 บาท/ตัน เนื่องจากมีการแย่งวัตถุดิบเพราะไม่มีการโซนนิ่งที่ชัดเจนและยังมีการประกาศรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มจากโครงการใหม่ ๆ อีกต่อเนื่อง จนส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องร้องให้ภาครัฐแก้ปัญหาดังกล่าว